แบงก์ชาต์คาดสินเชื่อโต6-8% หนี้เสียจ่อเพิ่มอีก แบงก์ยังอ่วมค่าฟีรวมติดลบ

นายสมชาย เลิศลาภวศิน ผู้อานวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ผลการดาเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 3 ปี 2561 (กรกฎาคม-กันยายน) พบว่า รายได้จากดอกเบี้ยขยายตัว 4.4% แต่รายได้ค่าธรรมเนียมติดลบ 4% ถือเป็นการติดลบครั้งแรกในประวัติศาสตร์ จากไตรมาสก่อนขยายตัว 1.5% เนื่องจากการติดลบของรายได้ค่าธรรมเนียมการโอน(สัดส่วน 12% ของรายได้ค่าธรรมเนียมทั้งหมด) ที่ติดลบ 8.7% ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนที่ติดลบ 11.2% ผลจากการยกเลิกเก็บค่าธรรมเนียมการโอนผ่านช่องทางดิจิทัล ประกอบกับการปรับตัวของธนาคารพาณิชย์เพื่อยกมาตรฐานด้านการให้บริการลูกค้าอย่างเป็นธรรมในการขายผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ทำให้ค่าธรรมเนียมนายหน้า(สัดส่วน 19% ของค่าธรรมเนียมทั้งหมด) ติดลบ 12.8% ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนที่ติดลบ 0.5% ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมอื่น ๆ เช่น บัตรและเช็ค ค่าธรรมเนียมเงินให้สินเชื่อ ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจหลักทรัพย์และที่ปรึกษายังขยายตัวเป็นบวก ทั้งนี้ เมื่อรวมรายได้ทั้งหมดและกำไรจากการขายเงินลงทุน และค่าใช้จ่ายกันสารองที่ปรับลดลง ทำให้อัตรากำไรปรับดีขึ้น และกำไรสุทธิอยู่ที่ 5.1 หมื่นล้านบาท ส่วนอัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย (นิม) ทรงตัวอยู่ที่ 2.77%

นายสมชาย กล่าวว่า ภาพรวมการขยายตัวของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2561 (พฤศจิกายน-ธันวาคม) คาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่องจากสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคตามทิศทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวดีขึ้น โดย ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 สินเชื่อขยายตัวได้ 6.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 12.92 ล้านล้านบาท ทั้งปีนี้สินเชื่อจะขยายตัวได้ในระดับ 6-8% แม้เศรษฐกิจขยายตัวดีขึ้นแต่ผลบวกของเศรษฐกิจยังไม่ส่งผ่านไปยังคุณภาพสินเชื่อของลูกหนี้บางกลุ่ม พบว่าสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ(เอสเอ็ม) หรือการผิดนัดชำระหนี้มากกว่า 1 เดือนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.42% จากไตรมาสก่อน 2.36% มียอดคงค้างเอสเอ็มทั้งสิ้น 3.65 แสนล้านบาท ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น(เอ็นพีแอล) เอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวม ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 อยู่ที่ 2.94% ใกล้เคียงไตรมาสที่ 2 ที่ 2.93% ยอดคงค้างเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น 4.43 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 1.25 พันล้านบาท จากสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีเป็นสำคัญ โดยเอ็นพีแอลเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้นเป็น 4.65% จาก 4.45% และเอสเอ็มเพิ่มขึ้น 2.63% จาก 2.61%

“ช่วงไตรมาสที่ 4 ปกติจะเป็นไตรมาสที่สินเชื่อขยายตัวสูงเนื่องจากเป็นการปิดงวดของธนาคารพาณิชย์ ประเมินว่าผลกระทบจากมาตรการเพิ่มดาวน์การขอกู้บ้านสัญญาที่ 2-3 นั้น จะไม่ได้ทำให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพราะมาตรการบังคับใช้เดือนเมษายน 2562 ส่วนการขยายตัวของสินเชื่อในปี 2562 ต้องติดตามภาวะเศรษฐกิจโดยรวม อย่างไรก็ตามโดยปกติสินเชื่อจะขยายตัวราว 1.5 เท่า ของอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ(จีดีพี) โดยธปท. ประมาณการณ์จีดีพีปี 2562 อยู่ที่ 4.2%” นายสมชาย กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image