อสังหาฯเร่งโอนปิดปี’61 ก่อนมาตรการรัฐบังคับใช้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดปีนี้ยอดพุ่ง 1.8 แสนยูนิต

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศแนวทางกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยใหม่จะบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2562 เป็นต้นไป สำหรับที่อยู่อาศัยราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท การกู้สัญญาที่ 1 ยังคงเงินดาวน์ที่ 5% สำหรับแนวราบ และ 10% คอนโดมิเนียม กรณีการจะกู้สัญญาที่ 2 เพิ่ม หากผ่อนที่อยู่อาศัยสัญญาที่ 1 ไปแล้วตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ให้วางดาวน์ 10% แต่หากผ่อนยังไม่ถึง 3 ปี ต้องวางดาวน์ 20% ด้านที่อยู่อาศัยราคามากกว่า 10 ล้านบาท การกู้สัญญาที่ 1 และสัญญาที่ 2 ทั้งแนวราบและคอนโดมิเนียม ต้องวางเงินดาวน์ 20% ทั้งนี้ ที่เพิ่มขึ้นมา คือ การกู้สัญญาที่ 3 เป็นต้นไปทุกระดับราคาให้วางเงินดาวน์ 30%

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์มีการจัดโปรโมชั่น โดย บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ออกแคมเปญ “เสิร์ฟโปรฯร้อน ก่อนมาตรการรัฐ” ฟรีค่าส่วนกลางสูงสุด 8 ปี ค่าใช้จ่ายวันโอน ค่าจดจำนอง ที่โครงการบ้าน คอนโดมิเนียม ทาวน์เฮาส์ทั่วประเทศ ในวันที่ 17 – 18 พฤศจิกายนนี้ ส่วนบริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) จัดงาน Origin LAST Minute @ Terminal 21 โปรแรงแซงมาตรการรัฐ คว้าโอกาสสุดท้ายก่อนสิ้นปี 2561 ระหว่างวันที่ 12-15 พฤศจิกายนนี้ พบกับคอนโดฯ ใกล้รถไฟฟ้าหลายโครงการ แต่งครบ พร้อมอยู่ ผ่อน 0 บาท ราคาเริ่มต้น 1.39 ล้าน ขณะที่บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) จะมีการจัดงาน “Supalai The Scent of Living” รวมบ้านและคอนโดฯ ทุกโครงการ ครั้งเดียวในรอบปีลดสูงสุดกว่า 1 ล้านบาท จองในงานรับ ไอโฟน XS ค่าธรรมเนียมโอนกรรมสิทธิ์ ค่าจดจำนอง ค่ามิเตอร์น้ำ – ไฟ รวมทั้งกู้ไม่ผ่านคืนเงิน

รายงานข่าวจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์สามารถใช้ช่วงเวลาประมาณเกือบ 5 เดือนหลังจากนี้ในการที่จะทำแคมเปญเพื่อเร่งกระตุ้นการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภค ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า กิจกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลในปี 2561 น่าจะมีจำนวนประมาณ 186,500 ยูนิต เพิ่มขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้เดิมที่ 171,500 ยูนิต หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 14.1% จากตัวเลขการโอนกรรมสิทธิ์ในปี 2560 ซึ่งอยู่ที่ 163,468 ยูนิต ขณะที่แนวโน้มการโอนกรรมสิทธิ์ฯ ในช่วงไตรมาส 1/2562 คาดว่า จะเติบโตประมาณ 8.9% หรือมีจำนวนประมาณ 45,850 ยูนิต

อย่างไรก็ดี เนื่องด้วยในช่วงที่เหลือของปี 2562 ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังคงต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงทางธุรกิจในด้านอื่นๆ อาทิ ปัจจัยด้านเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศที่อาจจะยังไม่เอื้อต่อการซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภค รวมถึงต้นทุนทางการเงินที่มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น ดังนั้นกิจกรรมการซื้อขายที่อยู่อาศัยน่าจะกลับมาอ่อนตัวลงอีกครั้งหลังไตรมาสแรก ทำให้คาดว่า ทั้งปี 2562 การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล น่าจะมีจำนวนประมาณ 179,800 ยูนิต ติดลบ 3.6% เมื่อเทียบกับฐานที่สูงในปี 2561

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image