บทความ ‘แผงลอย’ต้องจัดการในเชิงยุทธศาสตร์ โดย : นฤมล นิราทร, สมชัย จิตสุชน

การออกมาเรียกร้องโดยผู้ค้าแผงลอย องค์กรพัฒนาเอกชน และนักวิชาการให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องดำเนินการลดผลกระทบจากการจัดระเบียบการค้าแผงลอยและเสนอให้รัฐบาลและกรุงเทพมหานครบริหารจัดการการค้าแผงลอยในเชิงยุทธศาสตร์เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2561 ไม่ใช่เป็นการเคลื่อนไหวครั้งแรก เวทีลักษณะนี้เกิดขึ้นอย่างน้อย 3 ครั้ง นับแต่เดือนสิงหาคม 2561 เป็นต้นมา ไม่นับการเดินเท้าไปทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 4 กันยายน และทุกครั้ง ปฏิกิริยาจากกรุงเทพมหานครและรัฐบาลคือ “ผ่อนผัน” หรือ “ผ่อนปรน” ให้ผู้ค้าประกอบอาชีพต่อไปได้ ต่อลมหายใจผู้ค้าไปอีกระยะหนึ่ง โดยยังไม่ปรากฏแนวทางการจัดการอย่างเป็นระบบ ไม่เห็นการกำหนดยุทธศาสตร์อย่างมีส่วนร่วมแท้จริง การตั้ง “คณะกรรมการบรรเทาผลกระทบจากการจัดระเบียบสังคม” นั้น ชื่อคณะกรรมการก็บ่งบอกแนวทางรัฐบาลอยู่แล้วว่าต้องการเพียงบรรเทาผลกระทบเท่านั้น กล่าวคือยังมองว่าการมีแผงลอยเป็น “ปัญหา” ของสังคมที่ต้องการการจัดระเบียบเพื่อแก้ปัญหา และเมื่อมีผลกระทบก็หามาตรการบรรเทาให้ผู้ที่เดือดร้อนเท่านั้น และยังไม่ชัดเจนว่าการบรรเทานี้จะเป็นเพียงมาตรการระยะสั้นหรือไม่

มุมมองของรัฐบาลและกรุงเทพมหานครที่หายไปคือ (ก) ขาดการมองว่าแผงลอยเป็นทั้งปัญหาและ “โอกาส” หรือ “ทางออก” ของปัญหาอื่นที่มีความสำคัญ เช่น การขาดโอกาสมีงานทำ“ในระบบ” โดยเฉพาะผู้มีการศึกษาไม่สูง หรือเป็นโอกาสให้ประชาชนมีแหล่งซื้อสินค้าและอาหารราคาถูก ลดภาระการใช้จ่าย มีส่วนช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ยังไม่นับบทบาทของวัฒนธรรมแผงลอยในการส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งหากไม่ระวัง อาจจะกลายเป็นอดีตและถูกประเทศอื่น “ขโมยซีน” ไป ดังตัวอย่างประเทศสิงคโปร์ที่พยายามจดทะเบียนแผงลอยเป็นมรดกโลก (ข) ขาดการใช้หลักวิชาการในการวางผังเมืองที่คำนึงถึงความต้องการของคนหลากหลายกลุ่มในชุมชน (ค) ขาดการมองผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระดับมหภาค ปัจจุบันการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจกระจุกตัวอยู่เฉพาะกลุ่มคนระดับบน และการกวาดล้างแผงลอยจะยิ่งซ้ำเติมลักษณะรวยกระจุก จนกระจาย ของสังคมไทยมากยิ่งขึ้น

ปฏิกิริยาของภาครัฐดังกล่าวนี้เป็นมาเนิ่นนานแล้ว สะท้อนถึง “การมองแต่ไม่เห็น” และ “ฟังแต่ไม่ได้ยิน” ของทั้งรัฐบาลและกรุงเทพมหานครต่อ “แก่นแกน” ของการเรียกร้อง รวมถึงความ “คงเส้นคงวา” ของการจัดการที่ไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของแนวโน้มการจ้างงาน การมีงานทำในเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ การไล่รื้อสลับการผ่อนปรนการค้าแผงลอยดำเนินมาโดยต่อเนื่องตั้งแต่การสถาปนากรุงเทพมหานคร คือ 46 ปีมาแล้ว โดยเฉพาะหลังการประกาศใช้พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมืองในปี 2535 ซึ่งเพิ่มบทบาทของ “เจ้าพนักงานจราจร” สังกัดกองบัญชาการตำรวจนครบาล

จึงไม่น่าแปลกใจว่าความสำคัญของหาบเร่แผงลอยถูกลดทอนมาเป็นเพียงการค้าข้างทางที่ต้องการการจัดระเบียบ

Advertisement

ในอีกด้านหนึ่ง แนวทางรัฐบาลปัจจุบันที่มองเรื่องแผงลอยอย่างคับแคบ ก็ไม่สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐเอง โดยเฉพาะในระดับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ให้การยอมรับและส่งเสริมการประกอบอาชีพอิสระในฐานะเครื่องมือแก้ไขปัญหาความยากจน ซึ่งปรากฏตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2520-2524) และต่อยอดไปสู่การเป็นกิจกรรมเพื่อให้ประชาชนพึ่งตนเองได้ดังที่ระบุในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 6 (พ.ศ.2530-2534) และเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคมในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และยุทธศาสตร์ 20 ปี ซึ่งมีวิสัยทัศน์ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ซึ่งมีมุมมองที่กว้าง รอบด้านและสอดคล้องกับบริบทประเทศที่กำลังเปลี่ยนไปจากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี การเป็นสังคมผู้สูงอายุ รวมทั้งแรงงานเลยวัยกลางคนที่มีการศึกษาน้อย ไร้ทักษะ ที่นับวันจะมีทางเลือกในการประกอบอาชีพน้อยลง

การขยายมุมมองต่อเรื่องแผงลอยเป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะผลกระทบจากการมองเฉพาะในเชิงพื้นที่มีมาก เห็นได้จากการ “จัดระเบียบ” ที่เริ่มตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมาภายใต้รัฐบาลที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จได้ทำให้ผู้ค้ามากกว่าหมื่นคนได้รับผลกระทบ จำนวนนี้ไม่รวมแรงงานอาชีพต่อเนื่อง “ที่มองไม่เห็นบนทางเท้า” ซึ่งมีจำนวนมากกว่าผู้ค้าหลายเท่า แรงงานเหล่านี้อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน เช่น แรงงานที่ช่วยตั้งร้าน เก็บร้าน แรงงานผลิตวัตถุดิบ เช่น เกษตรกร ผู้ขายในตลาดสดที่ขายวัตถุดิบ แรงงานระบบ logistics เช่น มอเตอร์ไซค์รับจ้าง สามล้อ เป็นต้น การแก้ปัญหาระยะสั้นของกรุงเทพมหานครที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่าไม่ถูกทาง ไม่ว่าจะเป็นการจัด “ที่ขายใหม่” ให้ผู้ค้า โดยไม่ได้คำนึงว่าจะประกอบการค้าได้หรือไม่ จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่ผู้ค้าปฏิเสธพื้นที่ดังกล่าว

ส่วน “ตลาดประชารัฐ กทม.คืนความสุข” ก็รองรับผู้ค้าได้เพียงส่วนน้อยคือประมาณ 10,000 รายเท่านั้น ซึ่งก็เป็นเช่นเดียวกับการแก้ปัญหาในอดีตที่ขาดแนวทางและยุทธศาสตร์อย่างเป็นระบบ และมีส่วนทำให้เรามาถึงจุดที่แผงลอยสร้างปัญหาการสัญจรและปัญหาความสะอาด ทำให้อาชีพแผงลอยกลายเป็นจำเลยโดยไม่จำเป็น บดบังศักยภาพของแผงลอยในฐานะธุรกิจขนาดจิ๋วในมิติการสร้างงาน สร้างอาชีพ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างผู้ประกอบการ และบทบาทในเชิงสังคม วัฒนธรรมไปอย่างน่าเสียดาย

Advertisement

ข้อเสนอการจัดการแผงลอย

การจัดการแผงลอยต้องอยู่บนฐานความรู้และความเข้าใจในพลวัตของเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์และผลกระทบที่จะเกิด บริบทที่แท้จริงของเศรษฐกิจและสังคมไทย รวมทั้งเข้าใจมิติที่หลากหลาย ประสานประโยชน์ระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ระยะยาว ข้อเสนอการจัดการคือ

1) จัดการในเชิงยุทธศาสตร์แบบบูรณาการ มีความสมดุลระหว่างประโยชน์จากการมีแผงลอยและความสามารถในการจัดการปัญหาที่เกิดจากการค้าแผงลอยไม่ว่าจะเป็นปัญหาการกีดขวางทางสัญจร สุขอนามัย โดยการดำเนินการตามยุทธศาสตร์นี้สามารถทำในลักษณะเป็นระยะ (phasing) ได้ ประกอบด้วยระยะสั้น 1 ปี ระยะปานกลาง 3 ปี และระยะยาว 5-10 ปีขึ้นไป โดยระยะแรกควรอนุญาตให้ผู้ค้าแผงลอยกลับมาประกอบอาชีพได้ก่อน พร้อมๆ กับการร่วมมือกันของหลายฝ่ายในการจัดระเบียบการค้าแผงลอยอย่างทันที ทั้งในเรื่องความสะอาดและความปลอดภัย เช่น สนับสนุนให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งผู้ค้า ชุมชน มีบทบาทและความรับผิดชอบในการบริหารจัดการ รวมทั้งการกำกับดูแลกันเอง (self-regulation) ร่วมกับหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างเหมาะสม

2) หน่วยงานหลักที่บริหารจัดการเชิงยุทธศาสตร์บูรณาการดังกล่าว ต้องไม่ถูกจำกัดด้วยภารกิจเฉพาะหน้าที่ไม่เอื้อต่อการมองภาพในมุมกว้าง เช่น สำนักเทศกิจ กรุงเทพมหานคร หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ควรมีกลไกใหม่ในการบริหารจัดการให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์แบบบูรณาการดังที่กล่าวแล้ว

และ 3) ควรพิจารณาความคุ้มค่าและประโยชน์ที่รัฐบาลและชุมชนพึงได้รับทั้งในเรื่องภาษีและค่าธรรมเนียมจากการใช้พื้นที่สาธารณะเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจของผู้ค้าแผงลอย

ผู้เขียนเชื่อว่าหากไม่จัดการเรื่องนี้อย่างเป็นระบบและรอบด้านแล้ว ปัญหานี้ก็จะตามมาหลอกหลอนรัฐบาลและสังคมไทยเป็นระยะ และที่สำคัญทำให้ขาดโอกาสใช้เสน่ห์ของการมีแผงลอยที่เหมาะสมเพื่อเชิดหน้าชูตาประเทศไทยดังเช่นที่ประเทศเพื่อนบ้านเรากำลังทำอยู่

นฤมล นิราทร
สมชัย จิตสุชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image