วิจัยเผยสิทธิประโยชน์ภาษีไม่มีผลมากต่อตัดสินใจลงทุน แนะรัฐเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน-เพิ่มความง่ายทำธุรกิจหนุนอุตฯไฮเทคบูมอีอีซี

นายอธิภัทร มุทิตาเจริญ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักวิจัยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หากรัฐบาลต้องการดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ(เอฟดีไอ) เข้ามาลงทุนในพื้นที่โครงการพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ที่มีอุตสาหกรรมเป้าหมายเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง(ไฮเทค) นอกจากการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแล้วจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่อความต่อเนื่องของนโยบาย ระดับความยากง่ายในการทำธุรกิจ คุณภาพโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งธรรมภิบาล เพราะอุตฯไฮเทคจะให้ความสำคัญเรื่องเหล่านี้มากกว่าการเสนอสิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยที่ผ่านมาพบว่าในภูมิภาคอาเซียนมีการแข่งขันมาตรการภาษีที่ค่อนข้างรุนแรง โดยปัจจุบันอัตราภาษีที่แท้จริงของไทยอยู่ที่ 12.1% สูงกว่า เวียดนามที่ 8.7% ฟิลิปปินส์ที่ 11.2% มาเลเซีย 11.9% ส่วนอินโดนีเซียอยู่ที่ 15.3% อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน พบว่าเอฟดีไอที่เข้ามาในอาเซียนไหลไปยังอินโดนีเซียและเวียดนามมากขึ้น รองลงมาคือ ไทย

นายอธิภัทร กล่าวว่า งานวิจัยของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วยฯ ได้ศึกษาภาษีต่อการตัดสินใจเลือกประเทศลงทุนของบริษัทข้ามชาติ  7,000 บริษัท ที่เข้ามาลงทุนใน 5 ประเทศอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนามและไทย ตั้งแต่ปี 2543-2559 พบว่า บริษัทข้ามชาติให้ความสำคัญต่อปัจจัยภาษี การเพิ่มขึ้นของอัตราภาษีเฉลี่ย 1% จะส่งผลให้ความน่าจะเป็นของการเลือกประเทศนั้นๆลดลง 0.85% ซึ่งรัฐบาลไทยต้องพบกับแรงกดดันที่สำคัญ อาจไม่มีทางเลือกมากนัก โดยหากไทยยกเลิกสิทธิประโยชน์ภาษี การยกเว้นอัตราภาษีเพียงประเทศเดียว ส่วนแบ่งนักลงทุนต่างชาติที่เลือกประเทศไทยจะลดลงถึง 8.2% ส่วนกรณีที่รัฐบาลไทยต้องการขยายขยายสิทธิประโยชน์ทางภาษีโดยขยายเพิ่มระยะเวลาการยกเว้นอัตราภาษี เพิ่มอีก 1 ปี งานศึกษาพบว่าส่วนแบ่งนักลงทุนต่างชาติที่เลือกประเทศไทยจะเพิ่มขึ้น 1.1% ทั้งนี้ สิทธิประโยชน์ทางภาษีไม่สำคัญมากนักต่อการตัดสินใจลงทุนของบริษัทไฮเทค ได้แก่ คอมพิวเตอร์ อิเลกทรอนิกส์ บริการพัฒนาซอฟแวร์ และเทเลคอมมิวนิเคชั่น เป็นต้น ขณะที่กลุ่มบริษัทหน้าเก่าที่เคยเข้ามาลงทุนแล้ว ราว 30% ของบริษัททั้งหมด จะให้ความสำคัญต่อปัจจัยภาษีน้อยกว่ากลุ่มบริษัทที่ยังไม่เคยเข้ามาลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ 

ส่วนกรณี นายแจ็ค หม่า ประธานกรรมการบริหาร อาลีบาบา กรุ๊ป ต้องการซื้อที่ดินในไทยมากกว่าสิทธิปรธโยชน์ทางภาษีนั้น นายอธิภัทร กล่าวว่า สอดคล้องกับงานวิจัยที่ออกมา ส่วนรัฐบาลจะมีการตัดสินใจอย่างไรนั้นต้องมีการพิจารณาผลดีและผลเสียที่จะเกิดขึ้นให้รอบด้าน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image