ม.รังสิตยื่นรายชื่อค้านปมสิทธิบัตรกัญชาให้ สนช. 22 พ.ย.นี้

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์บูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า คณะนิติศาสตร์ โดยนายคมสันต์ โพธิ์คง รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ ได้เดินทางไปที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อขอคัดคำขอสิทธิบัตรของต่างชาติที่เกี่ยวข้องกับกัญชาทั้งหมด เบื้องต้นได้รับการปฏิเสธจากเจ้าหน้าที่ โดยอ้างว่ามีผู้ใหญ่สั่งการมา แต่พอเห็นคณะที่เดินทางไปถ่ายคลิปวิดีโอ ก็ผ่อนคลายลง และยอมให้คัด 11 คำขอ ส่วนที่เหลืออีกกว่า 20 คำขอ ยังไม่เปิดเผย และทราบว่ามีทยอยขอจดอีกจำนวนมาก สะท้อนให้เห็นว่ามีกระบวนการบางอย่างที่ไม่ยอมให้เปิดเผยทั้งหมด ส่วนจะเหตุผลใดนั้นยังไม่ทราบ

นายปานเทพกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังจัดกิจกรรมที่จะให้ประชาชนลงลายมือชื่อสนับสนุนแถลงการณ์ของมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา หากใครเห็นด้วย ไม่ว่าจะเป็นองค์การภาคประชาชน สมาคม โรงเรียน บริษัท พรรคการเมือง กระทั่งประชาชน สามารถเข้าไปกรอกแบบฟอร์มที่แฟนเพจ “ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์” แล้วส่งข้อมูลทางอีเมล์ภายในวันที่ 21 พฤศจิกายน หรือลงชื่อในวันที่ 22 พฤศจิกายน เวลา 13.00 น. ที่โรงอาหาร รัฐสภา โดยจะยื่นหนังสือพร้อมกับแถลงการณ์ให้กับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในเวลา 13.30-14.00 น.

“ทั้งนี้ ส่วนตัวอยากให้มีผู้ร่วมลงรายชื่อมากที่สุด แต่ด้วยเวลาที่กระชั้น เพราะทราบว่า สนช.จะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. … ซึ่งเสนอโดย 44 สนช.ในวันที่ 23 พฤศจิกายน จึงต้องรีบดำเนินการก่อนเท่าที่จะทำได้ คงคาดหวังจำนวนผู้ลงชื่อไม่ได้ แต่ยังพอมีเวลา แม้ สนช.จะเห็นชอบในวาระที่ 1 แต่ยังมีช่วงการแปรญัตติ พอจะมีโอกาสเสนอความเห็นเพิ่มเติมที่จะแก้ไขจากฉบับเดิม เพื่อทำให้เกิดการปลดล็อกทางการแพทย์อย่างสมบูรณ์ ไม่ให้ผูกขาดโดยภาครัฐ” นายปานเทพกล่าว

นายปานเทพกล่าวอีกว่า ส่วนสิทธิบัตร คงต้องสู้กันตามกระบวนการ ไม่ว่าจะมิติทางข้อมูล การขอสิทธิบัตร โดยมหาวิทยาลัยรังสิต รวมถึง กำลังพิจารณาในมุมแพทย์แผนไทยว่าทำได้มากน้อยแค่ไหน จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย โดยเริ่มจากการขอข้อมูลทั้งหมด ตามขั้นตอนที่วางแผนไว้ หลังจากได้ข้อมูล จะใช้สิทธิ ในฐานะผู้เสียหายต้องพิจารณาว่าจะใช้สิทธิในฐานะใด โดยคณะนิติศาสตร์ และวิทยาลัยเภสัชศาสตร์ ได้ประสานงานร่วมกับสภาการแพทย์แผนไทยอย่างใกล้ชิด โดยจะประชุมด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องอีกครั้งในวันที่ 27 พฤศจิกายน เวลา 15.00 น. ส่วนจะดำเนินการตามกระบวนทางกฎหมายเมื่อใด ยังไม่มีกรอบเวลา เพราะต้องรอบคอบ และรัดกุมที่สุด แต่จะไม่ให้เกิดความล่าช้า เพราะมีเดิมพันเกี่ยวกับผลประโยชน์ในประเทศกับต่างประเทศค่อนข้างสูง

Advertisement

“ถ้าสิทธิบัตรยังคงค้าง โดยไม่มีการเพิกถอนแล้วปลดล็อกไป ความเสียหายจะเกิดขึ้นทันที เพราะสิ่งที่เราจะนำมารักษาโรค ซึ่งพึงกระทำได้ จะต้องไปขอสิทธิบัตรจากต่างชาติก่อนทั้งสิ้น หรือต้องขอรับอนุญาตจากสิทธิบัตรที่มีอยู่ทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งตรรกะที่ย้อนแย้งที่สุดในเวลานี้คือ กรณีที่ สธ.บอกว่ากัญชาใช้รักษามะเร็งได้ ห้ามใครนำไปใช้เป็นข้อบ่งชี้ในการรักษาโรคมะเร็ง แต่ปรากฏว่ากระทรวงพาณิชย์กลับปล่อยให้จดสิทธิบัตรเรื่องการรักษาโรคมะเร็ง ความเหลื่อมล้ำตรงนี้เกิดขึ้นได้เพราะไทยยังถือว่ากัญชาเป็นยาเสพติด ทำให้ไม่สามารถนำไปวิจัยในมนุษย์ได้ จึงยังไม่สามารถนำไปสู่ข้อสรุปเรื่องการรักษาโรคมะเร็ง แต่ต่างชาติฉวยโอกาสนี้จดสิทธิบัตรในการรักษามะเร็ง” นายปานเทพกล่าว

นายปานเทพกล่าวอีกว่า ดังนั้น ความเหลื่อมล้ำทางวิชาการ ความไม่เท่าเทียมกัน ความไม่เสมอภาคทางวิชาการ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จึงเกิดขึ้นทันที เท่ากับว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ทำให้เกิดการขัดกันทางศีลธรรมความสงบเรียบร้อยในประเทศ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา จึงมีหน้าที่ยกเลิกคำขอโดยอาศัยมาตร 9(5) ของรัฐธรรมนูญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image