วงเสวนาเศรษฐกิจชี้ปี62 จีดีพีไม่ถึง 4% เหตุภาคส่งออก-ท่องเที่ยวอ่อนแรง

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน สมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ จัดงานสัมมนาเศรษฐกิจประจำปี 2561 “ยุคปฏิวัติข้อมูล ใครได้ใครเสีย” ที่โรงแรมพลาซ่า แอทธินี โดยในงานมีการเสวนา “เศรษฐกิจไทย ปี 2562 มองไปข้างหน้า” โดยนายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ(จีดีพี) ไทย ปี 2562 คาดว่าจะขยายตัวได้ที่ระดับ 3% ปลายๆ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวดีได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วในช่วงครึ่งปีแรก 2561 โดยเศรษฐกิจขยายตัวได้ถึง 4.8% อย่างไรก็ดี ช่วงไตรมาส 3 ปี 2561 ที่ผ่านมามีปัจจัยชั่วคราวมากระทบมากทำให้ขยายตัวได้ 3.3% ดังนั้นเฉลี่ย 3 ไตรมาส จีดีพีขยายตัว 4.3% คาดว่าทั้งปีนี้ จีดีพี จะขยายตัวได้ในระดับใกล้เคียง 4.3% หรืออาจจะต่ำกว่าระดับนี้เล็กน้อย ซึ่งต้องติดตามตัวเลขจีดีพีไตรมาสที่ 4 ที่จะออกมา

“ปี 2562 การส่งออกและการท่องเที่ยวที่เคยเป็นพระเอกหนุนเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาอาจจะขยายตัวช้าลง จากผลกระทบสงครามการค้าและจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ชะลอลง ซึ่งสัดส่วนการส่งออกและการท่องเที่ยวที่เป็นสัดส่วนสูงในจีดีพีเมื่อชะลอตัวลงมีนัยสำคัญทำให้จีดีพีชะลอ นอกจากนี้ยังต้องติดตามความเสี่ยงทั้งอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ เสถียรภาพการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยติดตาม การเงินทุนเคลื่อนย้ายจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไทยและสหรัฐที่กว้างมากขึ้น แม้ว่าปัจจุบันไทยจะเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูง สามารถรองรับการไหลออกเงินทุนได้ คาดว่าในช่วง 12 เดือน ธนาคารกลางสหรัฐจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 3-4 ครั้ง ขณะที่ดอกเบี้ยไทยในช่วงเดียวกันคาดว่าจะขึ้น 1-2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% แต่การปรับขึ้นอาจจะไม่ขึ้นเร็วเน้นพิจารณาตามสภาพเศรษฐกิจ”

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า ประเมินว่าปี 2561 เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ราว 4% ส่วนปี 2562 อยู่ระหว่างประมาณการณ์ แต่มองว่าเศรษฐกิจปีหน้าเริ่มกลับมาอ่อนแรงเป็นข้าวเหนียวทุเรียน เพราะภาคต่างประเทศ การส่งออก และการท่องเที่ยวชะลอตัว ส่วนในประเทศ การบริโภคยังไม่กระจายตัวและหนี้ครัวเรือนยังสูง ที่ผ่านมาเห็นการบริโภคเพิ่มขึ้นในกลุ่มรายได้ระดับกลางและสูง สะท้อนจากยอดขายรถยนต์ แต่กำลังซื้อโดยรวมและฐานรากในต่างจังหวัด ภาคเกษตร และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) เช่น การบริโภคอาหาร เครื่องดื่ม เสื้อผ้า ยังขยายตัวต่ำ สะท้อนกำลังซื้อไม่เติบโตนัก ซึ่งหากกำลังซื้อส่วนนี้จะฟื้นได้ต้องรอหลายปัจจัย หวังว่าการเลือกตั้งจะทำให้บรรยากาศจับจ่ายใช้สอยดีขึ้น ลุ้นราคาสินค้าเกษตรให้ราคาปรับดีขึ้น และคาดหวังกำลังซื้อจากชนชั้นกลางที่จะช่วยให้การบริโภคกระจายตัวกว่าปีนี้

นายอมรเทพ กล่าวว่า ค่าเงินบาทคาดว่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ต้องติดตามปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อค่าเงินในตลาดเกิดใหม่ ทั้งการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ การลดการผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางยุโรปและแนวโน้มดอกเบี้ยในระยะต่อไป รวมทั้ง ผลจากสงครามการค้าที่จะทำให้ตลาดการเงินผันผวน อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทผลกระทบไม่มากนักการอ่อนค่าน้อย เพราะหนี้ต่างประเทศไม่สูง ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลสูง เงินสำรองระหว่างประเทสสูง ขณะที่อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อินเดีย ถูกกระทบค่าเงินอ่อนมากและต้องปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นเพื่อชะลอการไหลออกของเงินทุน อย่างไรก็ตาม หากค่าเงินบาทไทยอ่อนค่าน้อยกว่าภูมิภาคเป็นผลดีต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจแต่ไทยอาจจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันได้

Advertisement

นายชนินทร์ มโนภินิเวส นักเศรษฐศาสตร์โครงสร้างพื้นฐาน ธนาคารโลก เปิดเผยว่า ธนาคารโลกยังคงประมาณการณ์จีดีพีไทยที่ 4.5% แต่มีโอกาสที่จะปรับลดลงได้ เนื่องจากตัวเลขไตรมาสที่ 3 ต่ำกว่าคาดการณ์ ขณะที่ปี 2562 คาดการณ์ที่ 3.9% เนื่องจากมองว่ามีแรงหนุนการบริโภคภายในประเทศ แต่การส่งออกและการท่องเที่ยวอาจจะชะลอตัว ดังนั้นไทยต้องให้ความสำคัญกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งขณะนี้ภาครัฐกำลังผลักดันการลงทุนอยู่และส่วนใหญ่อยู่ในการลงทุนระบบขนส่งซึ่งจะช่วยเสริมประสิทธิภาพประเทศและลดต้นทุนขนส่งได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image