“กฤษฎา” ชูไทยนิยม ยั่งยืน สร้างเงินหมุนเวียนในระบบ 6.3 หมื่นล้าน

ที่สโมสรทหารบก กรุงเทพฯ นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการแถลงผลการดำเนินงานโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้รับงบประมาณ 24,987.42 ล้านบาท ดำเนินงาน 2 แผนงาน รวม 22 โครงการ อาทิ 1.แผนงานยุทธศาสตร์ปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร จำนวน 24,294.35 ล้านบาท ดำเนินงาน 20 โครงการ รวมในส่วนของกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรม 3 โครงการ และ 2.แผนงานยุทธศาสตร์เสริมสร้างศักยภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิต จำนวน 693.08 ล้านบาท ดำเนินงาน 2 โครงการ เป็นต้น

ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร งบประมาณที่กระทรวงเกษตรฯได้รับทั้งสิ้นประมาณ 24,987.42 ล้านบาท ส่งผลสำเร็จให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ประชาชนและเกษตรกร รวมทั้งสิ้น 3 ล้านราย ก่อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับครัวเรือน ชุมชน จังหวัด และประเทศ คิดเป็นมูลค่า 63,599.83 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.54 เท่าของเงินงบประมาณ แบ่งเป็นด้านการผลิต 47,563.99 ล้านบาท จากค่าจัดซื้อจัดหาวัสดุอุปกรณ์จากโครงการลงทุนก่อสร้างของกระทรวงเกษตรฯ ที่จะส่งผลให้เกิดการผลิตสินค้าวัสดุและสินค้าวัสดุเกี่ยวเนื่องในระบบห่วงโซ่การผลิตที่ต่อเนื่อง และด้านรายได้ 16,035.84 ล้านบาท จากค่าจ้างแรงงานในโครงการต่าง ๆ ของกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งจะกลายเป็นรายได้ของแรงงานที่จะถูกนำไปจับจ่ายใช้สอยเพื่อการบริโภคของครัวเรือนและกระจายไปเป็นรายได้ของร้านค้า ธุรกิจในชุมชนที่ต่อเนื่อง

ในส่วนของการกระบวนการในการเสนอโครงการ จะต้องเน้นความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และการมีส่วนร่วมของเกษตรกรในขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้ 1.เกษตรกร สถาบันเกษตรกร เสนอความต้องการผ่านเวทีประชาคมของหมู่บ้าน 2.หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำโครงการตามความต้องการของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร โดยเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ปี 2561 3.เกษตรกรชุมชนร่วมกำหนดพื้นที่เป้าหมายโครงการ เสนอโครงการชุมชนเพื่อขอรับเงินสนับสนุนไปทำกิจกรรมต่าง ๆ ชุมชนละ 300,000 บาท และ 4.โครงการที่มีการจัดซื้อจัดจ้าง ได้ให้เกษตรกรเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการตรวจรับงานจ้างและการจัดซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ด้วย

นายกฤษดา กล่าวว่า เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ซึ่งการผลิตจะต้องอาศัยน้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตและสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสม การสร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งน้ำอย่างทั่วถึงตามภูมิสังคมจึงมีความจำเป็นและเป็นบทบาทหน้าที่ของรัฐโดยมีประชารัฐและประชาชนร่วมกันบริหารจัดการ ดูแลรักษา ใช้ประโยชน์ จึงมีโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำระดับชุมชน ซึ่งผลสำเร็จของโครงการ มีดังนี้ เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการทำการเกษตรในพื้นที่ที่มีการพัฒนาแหล่งน้ำชลประทาน เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 2.12 ล้านไร่ จำนวน 10,288 ล้านบาท รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตรได้รับการพัฒนาเพิ่มขึ้น จากกิจกรรมการสร้างฝายชะลอน้ำเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ 1,341 แห่ง ซึ่งจะก่อให้เกิดความยั่งยืนในการทำการเกษตรในอนาคตทั้งในพื้นที่นอกเขตชลประทานและพื้นที่ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.)

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image