บทความ เส้นทางเบลอๆ ของกัญชา โดย : กนกศักดิ์ พ่วงลาภ

ทุกวันนี้เหมือนกับว่าการคิดค้นยาชนิดใหม่ได้ชะลอตัวลงไป ในอุตสาหกรรมยามัวแต่แปลงยาเก่าๆ แล้วมาจดสิทธิบัตรเป็นยาตัวใหม่ วิธีนี้ทำให้บริษัทยายืดอายุสิทธิบัตรยาเดิมให้ขยายออกไปอีกโดยใช้เทคนิคทางกฎหมาย เช่น นำยาตัวเดิมสองตัวมาผสมสูตรเข้าเป็นยาใหม่แล้วนำไปจดสิทธิบัตรเป็นยาตัวใหม่ หรือนำยาตัวเดิมมาทำให้ออกฤทธิ์เนิ่นช้าครอบคลุมเวลานานขึ้น คือทำให้รับประทานยาครั้งเดียวในหนึ่งวันแต่ครอบคลุมเหมือนรับประทานยานั้นสามมื้อ แล้วนำมาจดสิทธิบัตรใหม่ หรือใช้วิธีการหาสารบางอย่างเติมแต่งลงไปแล้วนำมาจดสิทธิบัตรใหม่

วิธีการเหล่านี้ถ้าพูดกันให้ถึงเนื้อหา Patent แล้ว ไม่ได้เกิดอะไรขึ้นใหม่ เป็นการทำผักบุ้งให้เป็นผักบุ้งลอยฟ้า เป็นการทำเพื่อประโยชน์ในการยืดอายุสิทธิบัตรเดิมให้ยาวออกไปเท่านั้นเอง และเพื่อการนี้จึงจำต้องหาส่วนผสมใหม่ๆ ใส่เข้าไป เพื่อทำให้เป็นการผสมสูตรยาแล้วเกิดยาตัวใหม่ ยา combination นับวันจะมากขึ้นเป็นทวีคูณ

ที่กล่าวอย่างนี้เพื่อให้ทราบว่า เวลาที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบคุณสมบัติทางยาจากพืชชนิดใดชนิดหนึ่งขึ้นมาจึงเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นกันขนานใหญ่ อย่างเช่น กัญชา ในเวลานี้ แต่การที่จะจัดการเล่นแร่แปรธาตุกับพืชชนิดนี้ย่อมไม่ง่ายดายนัก เพราะกัญชานั้นขึ้นชื่ออยู่แล้วว่าเป็นพืชซึ่งมีสารบางอย่างที่ทำให้ติด แต่ไม่ใช่เฉพาะกัญชา พืชที่ใช้ทำยาสมุนไพรทั่วๆ ไปก็มีคุณและโทษอยู่ในตัว อะไรที่เรียกว่ายา ย่อมมีโทษอยู่สามส่วน

ดังนั้น การจะปลดล็อกกัญชาจากยาเสพติดเป็นเรื่องใหญ่ ต้องตั้งคำถามให้ชัดว่า คนไทยต้องการอะไรจากกัญชา

Advertisement

1.ต้องการสารที่มีสมบัติทางยาในการรักษาโรคจากกัญชา หรือ

2.ต้องการเสรีภาพในการเสพกัญชาอย่างถูกกฎหมาย

ถ้าต้องการสารที่มีสมบัติทางยาในการรักษาโรคจากกัญชาตามข้อ 1. ก็ไม่จำเป็นต้องปลดล็อกกัญชาจากการเป็นยาเสพติด ให้เป็นอยู่อย่างเดิมก็ได้ เพียงแต่ปลดล็อกในเรื่องการทดลองการสกัดกัญชา การวิจัยกัญชา ให้ถูกกฎหมายก็พอ เพราะคนที่ใช้รักษาโรคมิใช่คนที่จะเสพกัญชา เพียงต้องการสารบางอย่างจากกัญชาที่สกัดมาแล้วเท่านั้น สารที่มีประโยชน์ที่สกัดออกมานั้น ถ้าแยกออกจากสารที่เสพติดได้ ในตัวสารที่มีประโยชน์นั้นมีค่าเท่ากับยารักษาโรคย่อมมิใช่ยาเสพติดอีกต่อไป

Advertisement

แต่ถ้าต้องการเสพอย่างเสรีในแบบการใช้นันทนาการตามข้อ 2. ก็ต้องปลดล็อกการเสพ (เฉพาะการเสพเท่านั้น) ซึ่งการต้องการเสพอย่างเสรีเป็นเรื่องยุ่งยากในทางกฎหมายมากกว่าความต้องการสกัดสารที่เป็นยาออกมาจากกัญชาหลายเท่า เพราะการเปิดให้เสพเสรีมีทั้งผู้จะเสพอย่างนันทนาการและผู้จะใช้เพื่อรักษาโรค ต้องมีกระบวนการและกฎหมายรองรับมากมาย เพื่อควบคุมให้สังคมปลอดภัย ทั้งยังต้องชั่งน้ำหนักว่าการนันทนาการแบบนั้นคุ้มหรือไม่ ในโลกนี้ยังมีการนันทนาการแบบอื่นๆ อีกที่สังคมไม่ต้องจ่ายแพงขนาดนี้ และไม่ต้องเดือดร้อนใคร ระเม็งละครที่มีให้ดู ถ้าทำกันให้ดีๆ ก็ติดพอกัน และอาจจะคลายกลุ้มเรื่องการเมืองไปได้อีก

ดังนั้น ถ้าต้องการแต่ยารักษาโรคแล้ว การให้กัญชาเป็นยาเสพติดอยู่อย่างเดิมก็สามารถทำได้ เพียงแต่ให้การวิจัย การสกัดสารที่เป็นยาออกมา และการจ่ายยาตัวนั้นออกมาสามารถทำได้อย่างถูกกฎหมายก็เพียงพอแล้ว (เพราะสารที่มีฤทธิ์ทางยาได้แยกออกจากสารที่ทำให้ติดแล้ว เมื่อแยกสารที่ทำให้ติดออกไปแล้วสิ่งนั้นก็ไม่ใช่ยาเสพติดอีกต่อไป) ไม่ต้องทำลายโครงสร้างทางกฎหมายยาเสพติดแต่เดิมอีกด้วย

แต่ปัญหาที่หนักหน่วงที่สุด คือ หากสารที่เสพติดและสารที่มีประโยชน์ทางการแพทย์นั้นอยู่ในตัวเดียวกัน ชนิดที่แยกออกจากกันไม่ได้แล้ว (สารหนึ่งตัวให้ผลได้ 2 คุณสมบัติ) จะทำอย่างไร

ตลอดเวลาสองถึงสามพันปีที่ผ่านมานี้ มีการกล่าวในทางวิชาการสมุนไพรว่า “พืชทุกชนิดมีสมบัติทางยา” เพียงแต่จะมากหรือน้อยเท่านั้น และคนเราที่ประเมินค่าว่าสมบัติทางยาที่พืชแต่ละชนิดมีอยู่นั้นจำเป็นและคุ้มค่าที่จะจัดเป็นสมุนไพรหรือไม่ เพราะพืชบางชนิดในต้นเดียวกันมีทั้งสารที่มีคุณประโยชน์ต่อร่างกายและสารพิษรวมอยู่ด้วย เพราะชื่อว่ายานั้นมีโทษอยู่สามส่วน สามส่วนที่ว่านั้น คือ สามส่วนที่เป็นพิษ และเจ็ดส่วนที่เป็นประโยชน์ ฉะนั้นใครจะนันทนาการด้วยการกินยาอะไรก็ตามใจเถิด

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เคยได้รับความรู้จากผู้มีความรู้ทางด้านสมุนไพร เขากล่าวโดยยกตัวอย่างว่า เขากระทิงนั้นมีคุณสมบัติเหมือนเขากวาง เพียงแต่มีสมบัติทางยาอ่อนกว่า จะต้องใช้เขากระทิง 10 เท่าถึงจะเทียบเท่าเขากวางอ่อน และขิงก็มีคุณสมบัติเหมือนโสมแต่ต้องกินขิงปริมาณมากๆ ถึงจะได้สารอาหารที่จำเป็นเท่ากับโสมเพียงหยิบมือเดียว แต่เมื่อกินขิงมากขนาดนั้นแล้วก็จะร้อนในไปเสียก่อนที่จะได้รับประโยชน์ใดๆ และอาจถึงชีวิต นี่คือตัวอย่างการชั่งน้ำหนักว่าสิ่งใดควรเป็นสมุนไพรหรือควรจะนำมาทำเป็นยา

การนำกัญชามาดัดแปลงเป็นยาจึงเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง และเรื่องอาจจะซับซ้อนขึ้นไปอีก ถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิบัตรยาและการจ่ายยา

ในปัจจุบันการที่จะเกิดยาชนิดใหม่ขึ้นมาหนึ่งตัวยานั้น ประกอบด้วยขั้นตอนหลายประการ มีความยากทุกขั้นตอน รวมถึงต้องใช้งบประมาณในการวิจัยจำนวนมาก การวิจัยเรื่องยาจึงทำโดยเอกชนเสียเป็นส่วนใหญ่ เพราะแรงจูงใจทางการค้าหรือแสวงหากำไรมีมาก ประมาณกันว่าการมีสิทธิบัตรยานั้นแม้เป็นสิ่งที่ยอมรับกันสากลแล้วแต่เพราะการมีสิทธิบัตรทำให้ราคายาสูงขึ้นประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ของราคายา เป็นอย่างนี้มาหลายทศวรรษแล้วและยังไม่หยุด

ปัญหาที่สืบเนื่องจากผลิตภัณฑ์ยา ทำให้เกิดนิยามใหม่ๆ ทางการแพทย์ เริ่มจากความเปลี่ยนแปลงแปลกๆ ที่มีนัยเท่ากับว่าให้ความสำคัญของยามากขึ้น เช่น นิยามของภาวะร่างกายอย่างเช่น “ไขมันในเลือดสูง” เปลี่ยนแปลงไปมาก ในช่วงเวลาไม่นานนัก มีการปรับนิยาม “คอเลสเตอรอลในเลือดสูง” นั้นให้มีค่าต่ำลงไปจากเดิม

การปรับตัวเลขขั้นสูงให้ต่ำลง ทำให้คนปกติกลายเป็นคนที่มีภาวะคอเลสเตอรอลสูงไปทันที และนำไปสู่การใช้ยาในการแก้ไขอาการเหล่านั้น และทุกวันนี้แค่คนปวดประจำเดือนธรรมดาที่เป็นมากกว่าคนปกติ เวลากลับออกมาจากโรงพยาบาลก็อาจจะงงว่าตัวเองเป็นโรคทางระบบประสาทอย่างหนึ่งที่ต้องกินยา หลายคนมีอาการหูอื้อจากการอดนอนหรือพักผ่อนไม่เพียงพอ เมื่อเข้าโรงพยาบาลอาจจะพบว่าตนเองเป็นโรคปลายประสาทอักเสบ ต้องกินยาขนานหนึ่ง ซึ่งอาการเหล่านี้อาจหายเองได้ถ้าพักผ่อนให้เพียงพอโดยไม่จำเป็นต้องกินยา

หลายอย่างที่เป็นอาการที่ร่างกายไม่ได้สมดุลชั่วคราว เหมือนว่ากลับกลายเป็นโรคไปเสียหมด

องค์ความรู้หรือการวินิจฉัยว่ายาอะไรจำเป็นต่อการรักษาหรือไม่นั้น มีความจำเป็นต่อการรักษาเป็นอย่างมาก ใครฝืนกฎข้อนี้ โดยตั้งใจฝืน ก็ควรถือว่าเป็นปัญหาทางจริยธรรม นี่ยังไม่นับการพยายามสื่อสารกับสังคมว่าการใช้พืชเสพติดบางชนิด ที่แม้ว่าจะเป็นพืชเสพติดไม่ร้ายแรง แต่ก็ทำให้ติดได้ว่า ไม่มีอันตรายมากนัก ซึ่งที่จริงแล้วน่าจะเป็นอันตรายมากกว่าที่จะพบข้อดี และการวิจัยก็ยังไม่ยุติ 100 เปอร์เซ็นต์ถึงผลข้างเคียงที่อาจจะพบ ดังนั้น การที่จะปล่อยให้กัญชาโลดแล่นอยู่ในสารบบยาชนิดใหม่ได้นั้น มีคำถามที่จะต้องตอบให้ได้ก่อน คือ

ประการแรก เพียงการปลดล็อกการวิจัยเพื่อสกัดสารที่เป็นยาออกจากกัญชาก็เป็นการเพียงพอสำหรับการรักษาใช่หรือไม่

ประการที่สอง หากสารที่เป็นประโยชน์ในการรักษาโรคเป็นตัวเดียวกับสารที่ทำให้ติด (ในสารหนึ่งตัวแสดงได้ 2 คุณสมบัติ) ใครจะเป็นผู้ชั่งน้ำหนักและตัดสินใจว่าควรใช้สารนี้กับกรณีของผู้ป่วยรายใด และหากตัดสินใจพลาดจะเยียวยาอย่างไร

ประการที่สาม หากแพทย์จ่ายยาที่มีสารเสพติดจากกัญชาแล้วผู้ป่วยติดสารเสพติดนั้น แพทย์จะมีความรับผิดทางแพ่งหรือทางอาญาหรือไม่

บางที ชีวิตบางคนอาจจะจืดชืด และมีเวลาว่างมากจนเกินไป ทีนี้ก็เอาไปคิดกันเล่นๆ ให้กลัวๆ กันบ้าง เท่านั้นแหละครับ

กนกศักดิ์ พ่วงลาภ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image