จับตา’กม.ไซเบอร์’แปลงโฉม? หลังสัญญาณแรงจาก’ผู้พิพากษา’ถึง’บิ๊กตู่’

ภาพประกอบ

ด้วยความเป็นนักกฎหมายมหาชนและมีความแตกฉานกฎหมายระหว่างประเทศ ทำให้ความเห็นของ นายศรีอัมพร ศาลิคุปต์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ ต่อร่างพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์พ.ศ… จึงน่าสนใจอย่างยิ่ง

โดยเฉพาะการชี้จุดว่าเป็นกฎหมายละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชนมากเกินไป

โฟกัส คณะกรรมการป้องกันความปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติขึ้น หรือ“กปช.” มีอำนาจล้น

ตั้งแต่พบการกระทำความผิดหรือสงสัยว่าจะมีการกระทำความผิดทางไซเบอร์ มีอำนาจเรียกให้หน่วยงานของรัฐและหน่วยงานของเอกชน ตลอดจนผู้ครอบครองระบบคอมพิวเตอร์ ระบบสารสนเทศ ระบบผู้ใช้บริการทางไซเบอร์ เช่น แอดมินเพจ ผู้ที่ประกอบธุรกิจในการใช้บริการทางไซเบอร์ต้องเข้าพบ และให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานที่น่าสงสัยว่าเป็นการกระทำผิดหรือน่าสงสัยว่าจะกระทำผิดต่อเจ้าพนักงาน กปช.

Advertisement

“กปช.” มีอำนาจบังคับใช้หน่วยงานของรัฐและเอกชน ผู้ประกอบการเกี่ยวกับไซเบอร์ ทำรายงาน โครงสร้าง ความเสี่ยงและแผนป้องกันการกระทำผิดทางไซเบอร์ส่งให้แก่ กปช. ตามที่ กปช. กำหนดหรือตามคำสั่งของ กปช.ซึ่งจะมีอำนาจให้เจ้าพนักงานกปช. เข้าไปในเคหะสถานตรวจยึดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เซิร์ฟเวอร์ หน่วยความจำ อุปกรณ์ที่ใช้ประกอบการทางไซเบอร์ เช่น เว็บไซด์ ผู้ใช้บริการ แอดมิน เครื่องวิทยุโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยไม่จำต้องมีหมายค้น แม้ยังไม่มีคดีความหรือการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในคดีอาญา

กรณีที่ผู้ดำเนินการทางไซเบอร์ไม่ว่าภาครัฐหรือเอกชนไม่ดำเนินการส่งรายงานการควบคุมการทำงานของไซเบอร์ในความครอบครองของตน การขัดขวางไม่ยอมให้เจ้าพนักงานกปช. ตรวจยึดเครื่องอุปกรณ์ทางไซเบอร์ การที่บุคคลหรือนิติบุคคลปฏิเสธไม่ยอมบอกรหัสผ่าน เพื่อเปิดอุปกรณ์ทางไซเบอร์ กปช. มีอำนาจตรวจยึดอุปกรณ์ทางไซเบอร์เหล่านั้นได้ โดยอำนาจดังกล่าวเป็นอำนาจที่สามารถใช้ได้อย่างไม่จำกัด ไม่มีองค์กรฝ่ายตุลาการเข้ามาตรวจสอบหรือถ่วงดุลมีบทกำหนดโทษตั้งแต่ มาตรา 61 – 68

ผลกระทบหากกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้รุนแรงมาก นายศรีอัมพรสำทับว่าศาลไม่สามารถถ่วงดุลได้

Advertisement

พร้อมชี้ให้เห็นว่า  1. ทำลายหลักการและโครงสร้างของระบบประชาธิปไตย

2. ทำให้กระบวนการยุติธรรมซึ่งเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน และสิทธิความเป็นมนุษย์ สิทธิทางการเมือง สิทธิความเป็นส่วนตัว ถูกทำลาย

3. ทำให้กระบวนการยุติธรรมซึ่งเป็นระบบที่ใช้ในระบอบประชาธิปไตยเกิดความล้มเหลว

4. เป็นการทำให้โครงสร้างการปกครองจากนิติรัฐ กลายเป็นรัฐตำรวจ ผู้ที่มีอำนาจทางการเมืองและเป็นฝ่ายบริหารอาจจะให้กฎหมายนี้ กำหลาบปราบปรามศัตรูทางการเมือง ศัตรูทางความคิดที่ไม่ตรงกับผู้ปกครองได้โดยง่าย

5. ทำให้ประเทศชาติไม่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ เพราะโครงสร้างระบอบประชาธิปไตยถูกบิดเบือนไป เป็นระบบคณาธิปไตย เป็นการขัดต่อธรรมเนียมการปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ และวัฒนธรรมทางการเมืองที่ประเทศที่นิยมประชาธิปไตยถือปฏิบัติ

6. เป็นอุปสรรคต่อการค้าและการลงทุนจากประเทศอื่น เนื่องจากผู้ค้าและ ผู้มาลงทุน ไม่ไว้วางใจในการจะถูกล่วงละเมิดความลับทางการค้า ทางลิขสิทธิ์หรือสิทธิบัตร ตลอดจนข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้าและเครือข่ายการทำธุรกิจ

7. บั่นทอนความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เนื่องจากจะไม่มีนักลงทุนจากต่างประเทศที่กล้ามาลงทุนภายในประเทศ

8. ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเสื่อมทรามและไม่เชื่อมั่นในประเทศไทย

หากร่างพ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์มีผลบังคับ จะเป็นการทำลายหลักการและโครงสร้างระบอบประชาธิปไตย การที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ระดับปฎิบัติมากเกินไปในการจับ ค้น ขัง ยึดโดยไม่ผ่านกระบวนการศาล จะทำให้กระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน สิทธิทางการเมือง สิทธิทางการเมือง สิทธิความเป็นส่วนตัว และจะทำให้กลายเป็นเครื่องมือปราบปรามฝ่ายตรงข้าม เป็นอุปสรรคต่อการค้าการลงทุน บั่นทอนความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

เนื้อหาที่ซ่อนในร่างกฎหมายนี้นายศรีอัมพร บอกว่าผู้พิพากษาหลายคนยังไม่ทราบ ในฐานะที่ศึกษาได้อธิบายให้ฟัง

ถ้าไทยใช้กฎหมายนี้ จะเป็น ประเทศที่ 3 ของโลกเท่านั้น ก่อนหน้านี้มีคิวบา และเวเนซูเอลา ใช้ไปแล้ว

หลังจากที่ผู้พิพากษารุ่นใหญ่ ส่งสัญญาณแรงๆ ออกไป ปรากฎว่ากระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอี ได้ส่งเจ้าหน้าที่ 2 คน มาขอข้อมูล ซึ่งนายศรีอัมพรให้อัดเสียงสัมภาษณ์ไปเลยเพื่อจะได้สื่อสารให้ครบถ้วน

ต่อมานาวาอากาศเอก สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รองปลัดดีอี ได้ตั้งทีมงาน จากภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม เพื่อปรับปรุงพิจารณาร่างพ.ร.บ.ไซเบอร์ให้เป็นไปตามความเห็นจากทุกส่วน

คาดว่าจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้ในเดือนธันวาคม

จับตากลไกการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ จะพลิกโฉมไปจากร่างกฎหมายเดิมเพียงใด ?

เพราะก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยสั่งให้มีการทบวนร่างพ.ร.บ.นี้ แต่หลักการถ่วงดุล ตรวจสอบ ก็ยังไม่ต่างจากร่างเดิม

งานนี้ จะเข้าอีหรอบ “ปากว่า ตาขยิบ” ซ้ำสอง หรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image