มส.ผส. จัดเวทีแลกเปลี่ยน การจัดการทรัพย์สินผู้สูงอายุ ‘กฎหมายทรัสต์’ เรื่องใหม่ที่ใกล้ตัว

มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย หรือ มส.ผส. จัดเวทีการประชุมเรื่องนโยบายผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย Stakeholder Forum เพื่อขับเคลื่อนความรู้สู่สังคมในประเด็นกลไกการจัดการทรัพย์สินผู้สูงอายุเพื่อการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิผู้สูงอายุไทยขึ้น โดยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ผ่านการจัดทำร่างกฎหมายการบริหารทรัพย์สินของผู้สูงอายุ หรือที่เรียกว่า ‘ทรัสต์’ ถือเป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทย เพื่อหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทาง มาตรการ กลไกในการจัดการทรัพย์สินผู้สูงอายุไทย เช่น กฎหมายเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินและการจัดการทรัสตี บทบาทของชุมชน ท้องถิ่น ในการคุ้มครอง เฝ้าระวัง และจัดการทรัพย์สินผู้สูงอายุ ตลอดแนวทางที่เหมาะสมกับประเทศไทย นำโดย พญ.ลัดดา ดำริการเลิศ เลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย และ ดร.ภัทรพร คงบุญ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ

จากเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่พัฒนามากขึ้น และการด้วยการส่งเสริมการดูแลสุขภาพจากรัฐบาล ทำให้ประชาชนมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อีกทั้งไทยเป็นอีกประเทศหนึ่งที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยประเทศไทยใช้เกณฑ์บุคคลที่มาอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปและสัญชาติไทย ตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 มาตรา 3 ที่ได้นิยามไว้ โดยประเทศไทยถือว่าเข้าเกณฑ์สังคมผู้สูงอายุเรียบร้อยแล้ว เพราะมีประชากรที่อายุเกิน 60 ปี ทั้งหมด 16 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด และเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน รองจากประเทศสิงคโปร์
โดยผู้สูงอายุที่ต้องการให้มีผู้จัดการทรัพย์สิน สามารถตั้ง ‘กองทรัสต์’ ขึ้นมา จากนั้นจึงแต่งตั้ง ‘ทรัสตี’ ขึ้นมาเพื่อบริหารจัดการให้เกิดการเติบโตในทรัพย์สินนั้น โดยผู้ที่จะมาเป็น ‘ทรัสตี’ จะต้องผ่านการรับรองตามกฎหมาย และจะต้องมีผู้มา ‘กำกับดูแลกองทรัสต์’ อีกชั้น ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดยังเป็นทางเลือกหนึ่งและยังต้องรอความชัดเจนจากกระบวนการร่างกฎหมาย เพื่อให้มีระบบที่รัดกุม ให้เกิดประโยชขน์สูงสุดสำหรับผุ้สูงอายุ ซึ่งโครงสร้างระบบทรัสต์ของแต่ละประเทศก็จะมีความแตกต่างกัน

ทั้งนี้ ดร.ณรัณ โพธิ์พัฒนชัย นักกฎหมายกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เปิดเผยว่า รัฐบาลมีโครงการร่างกฎหมายฉบับใหม่ขึ้นมา แต่ยังไม่มีผลบังคับใช้และอยู่ในกระบวนการร่างกฎหมาย เพราะฉะนั้นหน้าตาเป็นอย่างไรเราจึงยังไม่ทราบ แต่ถ้ามองมุมวิชาการและเปรียบเทียบกับของต่างประเทศ กฎหมายทรัสต์ เขาออกแบบเพื่อให้คนที่เรา ไว้วางใจ มาช่วยบริหารจัดการแทนตัวเรา ซึ่งก็จะมีประโยชน์ เพราะเขาอาจไม่มีความสามารถ ไม่มีสติสัมปชัญญะเพียงพอหรือไม่มีเวลา เราก็ต้องให้คนอื่นเข้ามาบริหารจัดการ โดยการกำหนดว่าใครต้องทำอะไรบ้าง และใครจะได้ประโยชน์บ้าง

ด้าน ดร.อภิชัย จันทรเสน รองประธานคณะอนุกรรมการติดตามสิทธิผู้สูงอายุ คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ เปิดเผยว่า จะมีการแบ่งเป็น ผู้ก่อตั้งทรัสต์ คือ ผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินแรกเริ่ม , ทรัสตี คือ ผู้จัดการดำเนินการดุแลทรัพย์สินหรือทำให้งอกเงย และผู้รับประโยชน์ เช่น ผู้ก่อตั้งทรัสต์ ลูกหลานผู้ก่อตั้งทรัสต์ หรือ ทรัสตี เป็นต้น แต่ถ้ามีการเอาเปรียบกันเกิดขึ้น หรือบริหารจัดการไม่ตรงไปตรงมา จึงทำให้ต้องมีหน่วยงานใหม่เกิดขึ้น คือ ‘ผู้กำกับดูแลการบริหารจัดการกองทรัสต์’ เช่นในต่างประเทศ ที่ใช้ภาครัฐหรือเอกชน ที่ผ่านการสอบบัญชีรับอนุญาตมา ตามกฎระเบียบสอบบัญชีของบุคคล ที่หน่วยงานรัฐเห็นชอบมาดูแล เป็นต้น
จากนี้ไป ทุกภาคส่วน จะต้อง ร่วมกันติดตาม ร่างกฎหมายการบริหารทรัพย์สินของผู้สูงอายุ หรือที่เรียกว่า ‘ทรัสต์’ อย่างใกล้ชิด เพื่อคุ้มครองพิทักษ์สิทธิผู้สูงอายุไทย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image