ดึงญี่ปุ่นช่วยบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐาน3.5ล้านล้านบาท

นายสุรพล ชามาตย์ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังแถลงข่าวจัดงาน Maintenance & Resilience Asia 2019 (เอ็มอาร์เอ 2019) ว่า ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมมีการลงทุนหลักล้านล้านบาท คิดเป็นค่าซ่อมบำรุงไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งการบำรุงรักษานี้มีความจำเป็นเพื่อช่วยต่ออายุการผลิตและป้องกันอุบัติเหตุที่จะเสียหายมากกว่า ล่าสุดกระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ผลักดันนโยบายแฟคตอรี่4.0 ให้ความสำคัญกับการบำรุงรักษาเครื่องจักร เพื่อยกระดับการผลิตของอุตสาหกรรม นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้

นายสุรพลกล่าวว่า ล่าสุดอยู่ระหว่างสนับสนุนสมาร์ท บอยเลอร์(หม้อน้ำสมองกล) จำนวน 15,000 เครื่องใน 6,000-7,000 โรงงาน ซึ่งตัวระบบหม้อน้ำหากไม่มีประสิทธิภาพจะเป็นสาเหตุหลักของอุบัติเหตุภายโรงงาน โดยหม้อน้ำสมองกลจะสามารถจับข้อมูลการทำงาน สัดส่วนทำงาน และรายงานส่งตรงผู้ควบคุมแบบเรียลไทม์

“เร็วนี้กระทรวงอุตสาหกรรมจะร่วมกับส.อ.ท.ในการออกไปชักจูง(โรดโชว์)ผู้ประกอบการ อาทิ ชักจูงนักลงทุนประเทศญี่ปุ่นให้เข้ามาร่วมงานในไทย รวมทั้งชัดชวนผู้ประกอบการชาวไทย อาทิ จ.ระยอง คาดว่าเมื่อถึงวันจัดงานจะได้รับการตอบอย่างดี เกิดการจับคู่ธุรกิจด้านการบำรุงรักษาระหว่างกันจากหลายชาติ ทั้งไทย ญี่ปุ่น จีน เกาหลี และยุโรป”นายสุรพลกล่าว

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ในการร่วมมือกันจัดงานครั้งนี้จะมีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างไทยและญี่ปุ่นในด้านการบำรุงรักษาเครื่องจักรตลอดจนระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่สำคัญ โดยไทยจะเรียนรู้เรื่องวิธีการบำรุงรักษาและการจัดการจากญี่ปุ่น ขณะที่ญี่ปุ่นจะแนะนำบริษัทหรือองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญให้เข้ามาร่วมกับผู้ประกอบการไทย ซึ่งจะเป็นการร่วมมือที่ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย

Advertisement

นายชัยวัฒน์กล่าวว่า ในส่วนของคมนาคมที่มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานกว่า 3.5 ล้านล้านบาท(ลงทุนระหว่างปี 2558-2565)นั้น ก็มีการบำรุงรักษาที่ใช้วบประมาณจำนวนมาก และที่ผ่านมาหน่วยงานของไทยเรียนรู้เรื่องบำรุงรักษาค่อนข้างน้อย และจะให้ความสำคัญเมื่อเครื่องจักรหรือระบบชำรุดจนต้องซ่อมแซม ซึ่งมีต้นทุนสูงกว่าการบำรุงรักษา ดังนั้นการร่วมมือกันจัดงานครั้งนี้ถือเป็นความร่วมมือก้าวแรกที่สำคัญในการพัฒนาระบบบำรุงรักษาให้สอดคล้องกับการก้าวสู่ 4.0

“บริษัทเอกชนของญี่ปุ่นและหน่วยงานรัฐของเขาค่อนข้างทำงานใกล้ชิดกัน หลังจากนี้ก็จะมีทั้งเอกชนและหน่วยงานรัฐเข้ามา และเกิดการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เน้นแลกเปลี่ยนด้านวิชาการกันมากขึ้น”นายชัยวัฒน์กล่าว

นายทาดาซิ โยชิดะ ประธานสมาคมการบริหารจัดการประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้สนับสนุนให้ประเทศในเอเชียมีการยกระดับการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น เพราะปัจจุบันการบำรุงรักษามีความสำคัญมาก โดยเฉพาะประเทศไทยที่กำลังพัฒนาประเทศ โดยใช้นโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 5 โครงการหลัก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการบำรุงรักษาเพื่อให้เกิดการใช้งานได้อย่างยั่งยืน ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นและบริษัทเอกชนญี่ปุ่นมีความเชี่ยวชาญในด้านนวัตกรรม เทคโนโลยีซึ่งจะส่งผลดีกับรัฐบาลไทยและผู้ประกอบการไทยในการลดต้นทุนและจะทำให้เกิดการจับคู่ธุรกิจในอนาคตได้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image