แกนนำยางใต้ร้องสนช.จี้ก.พาณิชย์ปลดล็อคน้ำยางสดสร้างถนน 7.5 หมื่นหมู่บ้านทั่วประเทศ

วันที่ 5 ธันวาคม นายทศพล ขวัญรอด ประธานภาคีเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางและปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า แนวทางช่วยเหลือชาวสวนยาง ในโครงการสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรชาวสวนยาง พ.ศ. 2561–2562 บรรเทาความเดือดร้อนค่าครองชีพ ที่รัฐบาลพยายามทุ่มงบมหาศาลก่อนการเลือกตั้ง โดยเฉพาะแนวทางการใช้ยางในประเทศเพื่อใช้งบกว่า 9 หมื่นล้านบาท ทำถนนถนนพาราซอยล์ซีเมนต์ทั่วประเทศ 75,032 หมู่บ้าน ระยะทาง 75,032 กิโลเมตร ยังมีปัญหาจากการกำหนดระเบียบวิธีการหลักเกณฑ์ที่มีความยุ่งยาก ทำให้สมาพันธ์องค์การบริหารส่วนจังหวัด ( อบจ.) ภาคใต้ทั้ง 14 จังหวัดยังไม่สามารถดำเนินการได้ จึงทำหนังสือร้องเรียนถึงประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ( สนช.) ส่งประเด็นข้อเรียกร้องให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณากำหนดให้น้ำยางสดเป็นวัสดุก่อสร้าง เมื่อกำหนดแล้ว จะต้องซื้อน้ำยางสดในราคาที่ไม่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต 60 บาทต่อกิโลกรัม

นายทศพล กล่าวว่า ภาคีเครือข่ายไม่เห็นด้วยกรณีมาตรการช่วยเหลือไร่ละ 1,800 บาท ไม่เกินรายละ 15 ไร่ กรณีมีคนกรีดยาง แบ่งเป็น เจ้าของสวนยาง 1,100 บาทต่อไร่ และแบ่งให้คนกรีดยาง 700 บาทต่อไร่ ในส่วนนี้ผู้ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์จะไม่ได้รับสิทธิทั้งที่จ่ายภาษีเซล หักจากรายได้ในการส่งออกถือว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม นอกจากนั้นสำหรับผู้กรีดยางที่จะได้รับส่วนแบ่ง จะมีปัญหาจากเจ้าของสวนยางบางรายอ้างว่ากรีดเอง และกีดกันคนงานกรีดยางไม่ให้ไปขึ้นทะเบียน หากมีข้อต่อรองมากก็จะเลิกจ้าง

นายอำพล ยุติโกมินทร์ อุปนายกสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การก่อสร้างถนนที่มีส่วนผสมของยางพาราตามสเปคที่กรมทางหลวงกำหนดยอมรับว่าองค์กรปกครองท้องถิ่น( อปท.) ใช้งบประมาณสูงกว่าเท่าตัว จากการก่อสร้างถนนพาราแอสฟัลส์ สำหรับปัญหาในการจัดซื้อจัดจ้างจากเงินสะสม ขณะนี้ อปท.ทั่วประเทศมีความกังวล กรณีบริษัทผู้รับเหมาที่จะเข้ามาเสนอตัวรับจ้างงาน ยังมีไม่มาก ขณะที่สัญญาจ้างการจ้างกำหนดไว้ชัดเจนว่า จะต้องเป็นบริษัทมีประสบการณ์มีผลงานในการก่อสร้างถนนยางพารา นอกจากนั้นยังวิตกกับปัญหาการจัดซื้อน้ำยางโดยเฉพาะในบางจังหวัดภาคกลางไม่ใช่พื้นที่ปลูกยางพารา ดังนั้นการจัดทำโครงการ อปท.จะต้องเพิ่มค่าขนส่งในในต้นทุนการผลิต รวมทั้งจัดซื้อตามราคามาตรฐาน ซึ่งมีความยุ่งยากพอสมควร

นายทนงศักดิ์ ทวีทอง นายก อบจ. สุราษฎร์ธานี แกนนำสมาคม อบจ.แห่งประเทศไทย อดีต สปช.ด้านการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า อบจ.ทั่วประเทศพร้อมทำตามนโยนบายเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือชาวสวนยาง แต่ขอให้รัฐบาลประกาศให้ชัดเจนว่างบประมาณเกือบแสนล้านบาทที่เป็นมาตรการพยุงราคายาง ส่วนใหญ่ทราบว่าจะใช้สร้างถนนทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ เป็นงบที่รัฐบาลจะสนับสนุนทันที หรือจะมอบหมายให้ อปท.ใช้งบสะสมก่อน แล้วโอนคืนในภายหลัง เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการนำเสนอข้อมูลว่ารัฐบาลพร้อมทุ่มแสนล้านเพื่อช่วยชาวสวนยางพ้นจากวิกฤตราคายาง

Advertisement

“ สำหรับการทำถนนพาราซอยล์ซีเมนต์ยอมรับว่าเป็นเรื่องใหม่ ส่วนตัวไม่มั่นใจว่าเทคนิค วิธีการหรือ กระบวนการขั้นตอนที่นักวิชาการกำหนดจะใช้น้ำยางสร้างถนน จะใช้งานได้เกิน 2 ปี มีความมั่นคงแข็งแรงรับน้ำหนักได้จริงหรือไม่ ขณะที่ อปท.บางแห่งได้ใช้วิธีสร้างถนนพาราแอสฟัลส์ติดโดยใช้ยางพาราเป็นส่วนผสม ปัจจุบันมีราคาสูงพอสมควร และมีบริษัทผู้รับจ้างไม่มาก ดังนั้นรัฐบาลควรสร้างแรงจูงใจให้มีเอกชนสนใจเข้ามารับจ้างทำโครงการให้มากขึ้น เพื่อทำให้ต้นทุนการก่อสร้างลดลง” นายทนงศักดิ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image