ก.อุตฯ ปราบยาเสพติดในโรงงานอุตสาหกรรม

นายสุรพล ชามาตย์ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และรองโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า เมื่อเร็วๆนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมโดย นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการเฝ้าระวังและป้องกันปัญหายาเสพติดในสถานประกอบการโรงงาน ระหว่าง กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงาน ป.ป.ส. และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร เพื่อสกัดกั้นสารที่ใช้ในกระบวนการผลิตยาเสพติด ตามโครงการโรงงานทั่วไทยร่วมใจต้านภัยยาเสพติด ซึ่งดำเนินการในช่วงระยะเวลา 3 เดือน ระหว่าง พฤศจิกายน 2561 – มกราคม 2562 แบ่งเป็น 2 มิติ ได้แก่ มิติที่ 1 การเฝ้าระวังและป้องกัน โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะดำเนินการกำกับดูแลควบคุมการนำเข้า ส่งออก มีไว้ครอบครองสารเคมีทั้ง 20 รายการตามประกาศกระทรวงยุติธรรม พ.ศ. 2559 และดำเนินการกำกับดูแลภายใต้ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ซึ่งวัตถุอันตรายทั้ง 20 รายการ จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 (ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด) มี 6 รายการ ชนิดที่ 3 (ต้องขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายและได้รับอนุญาต) มี 13 รายการ และชนิดที่ 4 (ห้ามดำเนินการใดๆ ยกเว้นวัตถุประสงค์ที่ได้รับอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น) มี 1 รายการ โดยมีสถิติการนำเข้าสาร 20 รายการในปี 2560 จำนวน 1,178,863.61 เมตริกตัน ส่งออก 771,874.28 เมตริกตัน และปี 2561 นำเข้า 953,207.13 เมตริกตัน ส่งออก 624,035.99 เมตริกตัน

ได้แก่ 1. โซเดียมคาร์บอเนต (Sodium carbonate) 2. เฟนิลไนโตรโปรปีน (Phenylnitropropene) 3. แอมโมเนียมคลอไรด์ (Ammonium chloride) 4. กรดออร์โท-ฟอสฟอริก (O-phosphoric acid) 5. เบนซิลยาไนด์ (Benzyl cyanide) 6. เมทิลีนคลอไรด์ (Methylene chloride) หรือ ไดคลอโรมีเทน (Dichloromethane) 7. ไทโอนีลคลอไรด์ (Thionyl chloride) หรือ ซัลเฟอร์ออกซีคลอไรด์ (Sulfurous oxychloride) 8. โซเดียมไซยาไนด์ (Sodiumcyanide) 9. ฟอสฟอรัสแดง (Phosphorus (red)) 10. กรดซัลฟูริก (Sulfuric acid)
11. กรดไฮโดรคลอริก (Hydrochloric acid) 12. ไดเอทิลอีเทอร์ (Diethyl ether) 13. โทลูอีน (Toluene) 14. ไพเพอริดีน (Piperidine) 15. เมทิลเอทิลคีโตน (Methyl ethyl ketone) 16. อะซีโตน (Acetone) 17. กรดอะซีติก(Acitic acid) 18. คลอโรฟอร์ม(Chloroform) หรือ ไตรคลอโรมีเทน (Trichloromethane) 19. ฟอสฟอรัสไตรคลอไรด์ (Phosphorus trichloride) 20. ฟอสฟอรัสเพนตะคลอไรด์ (Phosphorus pentachloride)

นายสุรพลกล่าวว่า จากปัญหาความรุนแรงของสถานการณ์ยาเสพติดในปัจจุบันกระทรวงอุตสาหกรรมได้พิจารณาหาแนวทางรวมถึงมาตรการกำกับดูแลสารเคมีที่อาจถูกนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ให้เข้มงวดยิ่งขึ้นจากการตรวจพบการลักลอบส่งออกสารโซเดียมไซยาไนด์ซึ่งผลการศึกษาทางวิชาการได้แสดงให้เห็นว่าสามารถนำไปผลิตยาบ้าได้ ดังนั้นกระทรวงอุตสาหกรรมจะเร่งดำเนินการเพิ่มมาตรการควบคุมกำกับดูแลโดยเริ่มจากสารนี้ อย่างเร่งด่วนและทันท่วงที แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ

ระยะเร่งด่วน เพิ่มมาตรการดูแลสารโซเดียมไซยาไนด์ โดยการตรวจร่วมกับหน่วยปราบปราม ได้แก่ การนำเข้า กรณีนำไปใช้ในโรงงานต้องจัดเตรียมข้อมูลกระบวนการผลิตและต้องมีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานเพื่อให้เจ้าหน้าตรวจสอบได้ โดยให้แจ้งชื่อลูกค้า และวัตถุประสงค์การนำไปใช้ ส่วนการส่งออก จะพิจารณาออกใบอนุญาตเป็นรายครั้งแทนการอนุญาตเดิมซึ่งกำหนดไว้ 3 ปี และให้แจ้งข้อมูลผู้ซื้อที่อยู่และวัตถุประสงค์การนำไปใช้ ระยะกลาง จะเชิญประชุมผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องเพื่อชี้แจงข้อมูลแนวทางและมาตรการที่จะดำเนินการเพิ่มเติมและถือเป็นระเบียบปฏิบัติต่อไป และระยะยาว ดำเนินการทบทวนและปรับปรุงบัญชีรายชื่อสารเคมีที่ต้องดำเนินการตามแบบ วอ./อก.7 เพื่อทำให้ทราบวัตถุประสงค์การนำไปใช้งาน และศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลของสารเคมีที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมจากข้อมูลผู้ประกอบการและปริมาณการนำเข้า-ส่งออก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการติดตามตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง

Advertisement

และสำหรับ มิติที่ 2 การปราบปราม นายสุรพลฯ กล่าวว่า นอกจากกระทรวงอุตสาหกรรมจะลงพื้นที่ตรวจกำกับดูแลโรงงานฯ ตามแผนการตรวจของหน่วยงานในสังกัดแล้ว ยังจะบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร สำนักงาน ป.ป.ส. และผู้ว่าราชการจังหวัด ตรวจค้นยาเสพติดในโรงงานกลุ่มเสี่ยงที่อยู่ในพื้นที่แพร่ระบาด จำนวน 324 อำเภอ ใน 64 จังหวัดทั่วประเทศ โดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า ซึ่งจะดำเนินการรูปแบบเดียวกับการจัดการปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกในช่วงที่ผ่านมา หากพบการกระทำที่ผิดกฎหมาย จะบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด และหากพบผู้ติดยาเสพติดจะส่งเข้ารับการบำบัดรักษาต่อไป ซึ่งคาดว่าการดำเนินการใน 2 มิติดังกล่าวจะช่วยแก้ไขปัญหาการลักลอบนำสารเคมีไปใช้ในการผลิตยาเสพติด และป้องกันไม่ให้พนักงานในโรงงานเกี่ยวข้องกับยาเสพติดได้กว่า 50,000 คน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image