แก้ราคายางตกต่ำ!! ดึง18สหกรณ์สวนยาง รวบรวมเพื่อส่งออกแสนตัน

นายเชิดชัย พรหมแก้ว รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวระหว่างการประชุมชี้แจงโครงการบริหารจัดการรักษาเสถียรภาพราคายางพาราของสถาบันเกษตรกร โดยมีตัวแทนสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่ดำเนินธุรกิจรวบรวมยางพาราและมีศักยภาพในการส่งออก 18 แห่ง จาก 12 จังหวัด เข้าร่วมประชุม ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า นโยบายการรักษาเสถียรภาพราคายางพาราของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะมุ่งเน้นสนับสนุนให้สถาบันเกษตรกรเป็นกลไกในการขับเคลื่อน การแก้ไขยางพารา โดยคัดเลือกสหกรณ์ 18 แห่ง ที่มีความพร้อมและมีศักยภาพในการรวบรวมและแปรรูปยางพารา ทำหน้าที่เป็นแม่ข่ายในการรวบรวมยางพาราจากสหกรณ์เครือข่ายอีก 154 แห่ง ปริมาณ 100,000 ตัน เพื่อดึงปริมาณยางพาราในประเทศส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยรักษาเสถียรภาพราคายางพาราให้กับเกษตรกร

นายเชิดชัยกล่าวว่า มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 4 ธันวาคมที่ผ่านมา สนับสนุนสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องให้สถาบันเกษตรกร วงเงิน 5,000 ล้านบาท ผ่าน ธ.ก.ส.อัตราดอกเบี้ย 4% โดยสถาบันเกษตรกรจ่ายดอกเบี้ย 1% และรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ย 3% ชำระคืนภายใน 12 เดือน นับตั้งแต่วันรับเงินกู้ ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2561 – 28 กุมภาพันธ์ 2563 นอกจากนี้ ยังมีเงินอุดหนุนจ่ายขาดเพื่อเป็นค่าบริหารจัดการให้กับสถาบันเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งเงินส่วนนี้ ทางกรมส่งเสริมสหกรณ์ จะต้องทำรายละเอียดชี้แจงว่าค่าบริหารจัดการกิโลกรัมละ 2 บาทนั้น มีข้อมูลสนับสนุนและมีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใด เพื่อทำข้อตกลงกับสำนักงบประมาณอีกครั้ง คาดว่าจะมีความชัดเจนในเร็วๆ นี้

“สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะต้องทำแผนการรวบรวมยางพารา ที่ต้องมีปริมาณเพิ่มขึ้นจากแต่เดิมที่สหกรณ์เคยดำเนินการ และต้องรับซื้อยางพาราจากเกษตรกรสมาชิกที่ขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกรชาวสวนยางกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) แล้วเท่านั้น และจะต้องมีหลักฐานการสั่งซื้อและส่งออก โดยสหกรณ์อาจจะเป็นผู้ส่งออกเองหรือทำธุรกิจกับบริษัทเอกชน เพื่อนำมาประกอบการยื่นขอรับเงินกู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และขอรับเงินอุดหนุนค่าบริหารจัดการ โดยธ.ก.ส.จะจ่ายเงินตามแผนการรวบรวม และโอนเงินให้สถาบันเกษตรกรเพื่อเป็นค่าบริหารจัดการตามหลักฐานการสั่งซื้อและส่งออกยางพารา ซึ่งสหกรณ์แม่ข่าย 18 แห่ง จะต้องทำหน้าที่รวบรวมยางจากสหกรณ์เครือข่ายในแต่ละพื้นที่เพื่อส่งออกไปตลาดต่างประเทศ และจะต้องรายงานปริมาณยางพาราที่สหกรณ์แม่ข่ายและลูกข่ายเก็บรวบรวมไว้ในโกดัง ทั้งยางอัดก้อน ยาง STR 20 ยางก้อนถ้วย ยางแผ่นรมควันและยางเครพ ให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ทราบภายในวันที่ 10 ธันวาคมนี้” นายเชิดชัยกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image