รัฐบาลสกัดเลือดไหล! โชวห่วยปิดตัว หนังเก่าเวอร์ชั่นใหม่

ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เหลือของเดือนธันวาคมนี้ ก่อนจะหยุดยาวปีใหม่ จะเห็นการอนุมัติมาตรการโน่นนี่ออกมาอีกไม่น้อย และทุกมาตรการต่างใช้เหตุผลเดียวกัน เพื่อความเป็นอยู่ที่ดี เพื่อเพิ่มรายได้ และเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ หลักสำคัญคือทำอย่างไรให้พยุงเศรษฐกิจฐานราก

หนึ่งในนั้น คือ ออกมาตรการดูแลไม่ให้ผู้ประกอบการร้านค้าทั่วไปริมถนน ที่เรามักเรียกกันว่า โชวห่วย ที่กำลังเจอปัญหาขายฝืดเคือง เริ่มโอดครวญไม่ไหวแล้ว ยังขายฝืดขายอืดอย่างนี้ไม่นาน อาจล่มจมต้องปิดร้านในที่สุด

โชวห่วยบางร้านที่ประสบปัญหายอดขายหายไป ชี้ไปที่ช่องทางการซื้อขายด้วยระบบออนไลน์ (อีคอมเมิร์ซ) นำมาใช้กันมากขึ้น และเห็นถึงการขยายตัวอย่างรวดเร็วภายใน 2 ปีที่ผ่านมา ทั้งอัตราการเติบโตของยอดขายและจำนวนผู้ค้าที่เข้ามาเล่นในช่องทางออนไลน์

สอดคล้องกับตัวเลขสถิติบริษัทขนส่งสินค้าแค่เพียงรายเดียว ออกมายืนยันว่า ทุกวันนี้ต้องเร่งส่งสินค้าให้ถึงมือลูกค้ากว่า 1 ล้านชิ้นต่อเดือนแล้ว จาก 7-8 หมื่นชิ้นต่อเดือน เกิดขึ้นแล้วภายในปีเดียวกันนี้

Advertisement

และแนวโน้มจะยิ่งสูงๆ จนกำลังสร้างปัญหาใหม่ เกิดการแย่งชิงพนักงานส่งของกันแล้ว

รัฐบาล “บิ๊กตู่” จึงเห็นว่าหากปล่อยไปอย่างนี้เรื่อยๆ จะยิ่งซ้ำเติม “รวยกระจุกจนกระจาย” ขยายวงกว้างมากขึ้นๆ

ร้อนถึงทีมเศรษฐกิจต้องระดมสมองหาทางแก้ไข ก็ตกผลึก ให้ธนาคารออมสินกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์ หรือ ธพว.) ออกหน้า จัดสรรวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท เพื่อปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำผ่อนยาวให้กับเจ้าของร้านโชวห่วย

Advertisement

บนเงื่อนไขกู้เงินไปลงทุนติดตั้ง ระบบ POS (Point of Sale Point of Sale) หลักการเดียวกับร้านค้าธงฟ้าประชารัฐที่ติดตั้งเครื่อง DEC ยกเครื่องร้านค้าเข้าระบบการค้าสู่เทคโนโลยีใหม่ ที่จะรูปแบบใหม่ๆ ต่อเนื่อง โดยคำสั่งต้องกระตุ้นร้านโชวห่วยเดิม 2-3 แสนราย ให้เข้าระบบนี้ภายใน 3 เดือน

ปัญหาโชวห่วยซวนเซ ใช่เรื่องใหม่ นึกย้อนไปเมื่อกว่า 15 ปีก่อน ขณะนั้นร้านค้าดั้งเดิมแบบไทยๆ จะเห็นคุ้นตาและหาได้เต็มทุกซอกซอย ตามข้อมูลทางการเองมีกว่าล้านราย เจอการรุกเข้าของธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่และเป็นโนว์ฮาวต่างชาติทั้งสิ้น แข่งกันเร่งเปิดสาขามุ่งเจาะที่ตั้งในทำเลเมืองหลัก ไปถึงอำเภอเล็กๆ

เพียงไม่ถึง 2 ปีร้านค้าแบบเดิมๆ ต้องปิดตัวลงกว่าครึ่ง วันนี้ ส่วนที่อยู่ได้ก็ต้องดิ้นหนัก พลิกตัวไปตามยุคสมัย และส่วนใหญ่เพื่อต้องการประคองร้านของครอบครัว

ขณะนั้นผู้ค้าไทย พยายามร้องขอให้รัฐบาลออกกฎหมายผู้ประกอบการค้าปลีก เพื่อกำหนดระเบียบกฎเกณฑ์พื้นที่เปิดสาขาที่เหมาะสมไม่เบียดร้านค้าย่อย กำหนดราคาสินค้าที่เหมาะสมไม่ขายต่ำกว่าทุน และไม่จัดกิจกรรมจนกระทบต่อการค้าปกติ เช่น ลด แลก แจก แถม หรือ ชิงโชค ร่างกฎหมายฉบับนี้วิ่งเข้าวิ่งออกตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนานหลายปี

สุดท้ายก็ไร้กฎหมายฉบับนี้ ซึ่งขณะนั้นแม้มีกฎหมายแล้ว ค้าปลีกสมัยใหม่ทุนหนาก็ได้ครอบครองพื้นที่และจำนวนผู้ซื้อหมดแล้ว กลายเป็นผู้ครองตลาดค้าปลีกใหม่เกิน 70%

กลับมามองปัจจุบัน ที่อีคอมเมิร์ซเฟื่องฟูรวดเร็ว รัฐบาลเองก็มีส่วนสำคัญด้วย เพราะด้านหนึ่งรัฐพยายามผลักดันการค้าอีคอมเมิร์ซให้เกิดขึ้นในไทย เปิดทางให้ธุรกิจต่างชาติเข้ามีบทบาทต่อการต่อยอดหรือเชื่อมโยงธุรกิจ โดยใช้เหตุผลดิจิทัลเปลี่ยนโลก จึงออกแนวทางประเทศมุ่งไทยแลนด์เข้ายุค 4.0

อีกด้านหนึ่งก็ต้องดูแลอย่างไรไม่ให้โชวห่วยไทยสูญพันธุ์ จากผลกระทบข้างต้น ครั้งนี้ปัญหาน่าจะเป็นปัญหาหนักอกผู้ค้าไทยที่สาหัสกว่าครั้งก่อน

เมื่อยุคก่อน โชวห่วย ถูกเบียดด้วยสาขาเปิดใหม่ แข่งกันเฉพาะพื้นที่ในประเทศ แต่ยุคนี้เป็นถูกเบียดด้วย ดอทคอม (.com) แข่งกันไปทั่วโลก

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image