การลงทุนด้านสุขภาพโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดย : นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร

การลงทุนด้านสุขภาพ วันนี้ทั่วโลกยอมรับแล้วว่าเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของไทย เป็นเครื่องมือการลงทุนด้านสุขภาพที่คุ้มค่า โดยเฉพาะหลังจากประเทศไทยมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในปี 2545 ทำให้เกิดผลลัพธ์เชิงบวกด้านสุขภาพ เพิ่มการเข้าถึงการรักษาและบริการสาธารณสุขที่จำเป็นของคนไทยทั่วประเทศ ลดอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตอันเกิดจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม และส่งผลให้รายจ่ายด้านสุขภาพของครัวเรือนลดลงอย่างเห็นได้ชัด

จากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าครัวเรือนที่ประสบภาวะวิกฤตทางการเงินจากการจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้สมาชิกครอบครัว ลดลงจากร้อยละ 4.06 (หรือ 6.6 แสนครัวเรือน จากทั้งหมด 16.3 ล้านครัวเรือน) ในปี 2545 เหลือร้อยละ 2.09 (หรือ 4.4 แสนครัวเรือน จาก 21.4 ล้านครัวเรือน) ในปี 2560

ขณะเดียวกัน ครัวเรือนที่กลายเป็นครัวเรือนยากจนลงภายหลังจากการจ่ายค่ารักษาพยาบาล จากร้อยละ 1.33 (หรือ 2.2 แสนครัวเรือน) ในปี 2545 เหลือเพียงร้อยละ 0.29 (หรือ 6 หมื่นครัวเรือน) ในปี 2560

จากอดีตที่มีครัวเรือนจำนวนไม่น้อยต้องขายทรัพย์สิน หรือเป็นหนี้สินกู้ยืมเงินถึงขั้นล้มละลายเพื่อรักษาตนเองหรือคนในครอบครัว จากโรคค่าใช้จ่ายสูงและโรคเรื้อรังที่ต้องใช้เงินรักษาต่อเนื่อง และกระทบความเป็นอยู่ของสมาชิกครอบครัว ตลอด 16 ปีที่ผ่านมา “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ได้สร้างความมั่นคงของชีวิตให้กับหลายครอบครัว และยังก่อให้เกิดความมั่งคั่ง มีเงินเหลือพอใช้จ่ายเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตในด้านต่างๆ ให้กับครอบครัว ทั้งด้านการศึกษา และการสร้างรายได้โดยไม่ต้องกังวลด้านค่ารักษาพยาบาล ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ

Advertisement

แม้ว่าภาพรวมรายจ่ายด้านสุขภาพของประเทศ จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 201,679 ล้านบาท ในปี 2545 เป็น 621,471 ล้านบาท ในปี 2560 ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 4.02 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ทั้งนี้ ในปี 2560 ภาครัฐได้จัดสรรงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 169,752 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6.2 ของงบประมาณรายจ่ายทั้งประเทศ และร้อยละ 0.04 ของจีดีพี ซึ่งน้อยกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศ

และยังประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับประชาชนอย่างมากมาย

ผลสำเร็จของการมีหลักประกันสุขภาพที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้สหประชาชาติ องค์การอนามัยโลก และธนาคารโลก เล็งเห็นความสำคัญของการลงทุนด้านสุขภาพนี้ และที่ประชุมใหญ่สหประชาชาติ ในปี 2555 (ค.ศ.2012) ประเทศสมาชิกจึงร่วมกันผลักดันให้การเข้าถึงบริการสุขภาพ เป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ที่จะบรรลุความสำเร็จในปี 2573 ได้กำหนดให้ “วันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล” (UHC Day) ขึ้นตรงกับวันที่ 12 ธันวาคม ของทุกปี

Advertisement

ซึ่งปีนี้ได้ชูประเด็น “รวมพลังเพื่อหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” หรือ “UNITE FOR UNIVERSAL HEALTH COVERAGE” เพื่อกระตุ้นให้ประเทศสมาชิกได้มีการรวมพลังผลักดันและขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สร้างความมั่นคงด้านสุขภาพให้กับประชากรในประเทศตนเอง

ซึ่งไทยได้ก้าวข้ามผ่านมาแล้ว ถูกยกย่องให้เป็นหนึ่งในประเทศต้นแบบของการจัดระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ทั้งนี้ ประเทศไทยได้กำหนดสาระสำคัญของการจัดงานเนื่องใน “วันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย” วัน UHC Day ของไทยปีนี้ว่า “การลงทุนด้านสุขภาพ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” เพื่อกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนเล็งเห็นความสำคัญของการเพิ่มทรัพยากรด้านสุขภาพ อาทิ งบประมาณ กำลังคน และมาร่วมมือกันสร้างหลักประกันด้านสุขภาพแก่ประชาชนทุกกลุ่ม สานต่อให้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น คงหลักการสำคัญคือความครอบคลุมและทั่วถึง ลดช่องว่างด้านสุขภาพ ให้สมกับที่ได้รับการยกย่องให้เป็นต้นแบบการดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

โดยวันนี้เราทุกคนต้องร่วมกันสนับสนุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพราะเป็นกลไกนำพาประเทศที่ยั่งยืนได้

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
ประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image