ซีไอเอ็มบีไทยชี้ 3 ปัจจัยท้าทายเศรษฐกิจไทย เลือกตั้ง-สงครามการค้า-ปฏิรูประยะยาว

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย เปิดเผยว่า อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ(จีดีพี) ไทย ปี 2562 คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.7% แต่ยังเป็นปีที่ประเมินได้ยากเพราะไร้พระเอก หรือมีเครื่องยนต์หลักที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจเหมือนปีอื่นๆ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะไม่มีเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจจะแย่ เชื่อว่าเครื่องยนต์แต่ละตัวจะประคองกันได้ และแม้ว่าเศรษฐกิจอาจจะขยายตัวช้าลงตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอ แต่หากเป็นการขยายตัวอย่างยั่งยืนถือเป็นทิศทางที่ดี โดยการบริโภคเอกชนคาดว่าจะขยายตัว 4.1% แม้ว่าปี 2561 จะขยายตัวได้ดีจากยอดซื้อรถยนต์ การลงทุนเอกชนขยายตัว 4.5% ด้านการลงทุนภาครัฐคาดขยายตัว 6.9% การบริโภคภาครัฐขยายตัว 3.9% ส่งออกคาดขยายตัว 4.5% และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติขยายตัว 7.5% หรือ 40.6 ล้านคน ส่วนกรณีนักท่องเที่ยวจีนนั้น เรื่องความเชื่อมั่นและความปลอดภัยเป็นโจทย์สำคัญที่จะทำให้นักท่องเที่ยวกลับมา ส่วนการขยายตัวชะลงลงเล็กน้อยของเศรษฐกิจจีนอาจจะไม่ได้มีผลมาก ส่วนจีดีพีปี 2561 คาดขยายตัว 4.0% ปรับลดลงจาก่อนหน้าที่คาดขยายตัวได้ 4.2% 

“โอกาสและความท้าทายเศรษฐกิจที่ต้องติดตาม คือ สงครามการค้าสหรัฐและจีนที่ยังไม่จบ แต่อาจจะเปลี่ยนรูปแบบจากการตั้งกำแพงภาษีเป็นการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาของเทคโนโลยีมากดดันจีนแทน ซึ่งต้องระวังสินค้าจากจีนทะลักในอาเซียน การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจไทยในระยะยาว เพราะไทยจะได้รับการยอมรับจากชาติตะวันตก สามารถเจรจาการค้าเสรีกับยุโรปได้ เชื่อการลงทุนเอกชนเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งแล้วเสร็จ แต่หากเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยต้องติดตามว่าการบริหารประเทศจะเป็นอย่างไร ทั้งนี้ เรื่องสำคัญ คือ ต้องมีการปฏิรูปหลังเลือกตั้ง ควรสร้างอาชีพ ให้การศึกษา เพื่อเพิ่มรายได้และกระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำ และต้องติดตามว่าพรรคการเมืองต่างๆ จะสานต่อประยุทธ์โนมิกส์ ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลปัจจุบันดำเนินการมาหรือไม่” นายอมรเทพ กล่าว   

นายอมรเทพ กล่าวว่า ด้านค่าเงินบาท ปี 2562 คาดว่าจะกลับมาแข็งค่าเล็กน้อย ประมาณการค่าเงินบาทปลายปีที่ 32.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ปีนี้อยู่ที่ 32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยแรงหนุนค่าเงินบาทคือการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ยังสูง และความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่น่าจะเพิ่มขึ้นในตลาดเกิดใหม่จากความชัดเจนของการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐที่คาดว่าจะขึ้นน้อยกว่าที่ตลาดคาด ส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยปัจจุบันอยู่ที่ 1.50% มีโอกาสสูงที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้งในอีก 12 เดือนข้างหน้า คาดว่าจะขึ้นในเดือนมีนาคมและช่วงปลายปี ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายปลายปี 2562 อยู่ที่ 2.00% 

นายอมรเทพ กล่าวด้วยว่ากรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้ปลดล็อกประชาชนและพรรคการเมืองให้สามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองและเคลื่อนไหวหาเสียงได้ตามปกติ นั้น สิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์รอคอยคือเรื่องนโยบายเศรษฐกิจของพรรคการเมืองต่าง ๆ ว่าจะออกมาเป็นอย่างไรจะเป็นนโยบายที่ปฏิรูปเศรษฐกิจในระยะยาว หรือหวังผลหาเสียงระยะสั้นเท่านั้น ทั้งนี้ ต้องติดตามว่าพรรคการเมืองยังเดินหน้าตามนโยบายเศรษฐกิจที่รัฐบาลนี้ออกมาหรือไม่ 

Advertisement

 

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

Advertisement

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image