สกู๊ป : “ความเหลื่อมล้ำ” ที่มาปรากฏการณ์ “ฝรั่งเศส” ป่วน

ภาพจากเอเอฟพี

“จิลเลต์ โฌนส์” เสื้อกั๊กสีเหลืองพร้อมแถบสะท้อนแสง เพื่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่, กรรมกร ผู้ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงบนท้องถนน ถูกเลือกเป็นสัญลักษณ์ของขบวนการประท้วงในประเทศฝรั่งเศส ที่เริ่มต้นเมื่อ 4 สัปดาห์ก่อนหน้านี้ แสดงนัยได้มากพอให้ทุกคนเข้าใจได้ว่า รากเหง้าของปัญหาที่เกิดขึ้นในเวลานี้ไม่ใช่ปมประเด็นทางด้านการเมือง

ยิ่งสืบค้นลงไปมากขึ้นถึงจุดเริ่มต้นของขบวนการ และการประท้วง ยิ่งแสดงให้เห็นว่าความเป็นมาของขบวนการเสื้อกั๊กสีเหลืองสะท้อนแสงนี้ เป็นเรื่องของความพยายามดิ้นรนเอาชีวิตรอด คือการแสดงออกถึงความกราดเกรี้ยว เครียดขึ้นจากการที่เสียงร้องตะโกนขอความช่วยเหลือของกลุ่มคนที่ถูกจัดให้อยู่ในระดับล่างของสังคมถูกเมินเฉยมาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา

เหตุการณ์ประท้วงรุนแรงในฝรั่งเศสในยามนี้ เป็นภาพสะท้อนของความเหลื่อมล้ำ ความล้มเหลวของนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลฝรั่งเศสชุดแล้วชุดเล่าในช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมานี้

ฝรั่งเศสที่ครั้งหนึ่งเคยได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีรัฐสวัสดิการที่ดีที่สุดในยุโรป แลกกับการที่เป็นชาติที่เก็บภาษีสูงที่สุดชาติหนึ่ง ค่อยๆ ถอยห่างจากความเป็นรัฐสวัสดิการมากขึ้นและมากขึ้นเรื่อยๆ แต่โครงสร้างภาษียังคงสูงเหมือนเดิม

Advertisement

การขึ้นภาษีน้ำมันเชื้อเพลิง เพิ่มอัตราการจัดเก็บค่าใช้ไฟฟ้าของ เอ็มมานูเเอล มาครง ประธานาธิบดีหนุ่มวัย 40 ปี เป็นเพียงฟางเส้นสุดท้ายที่ร่วงลงบนหลังของ “ลา” เหล่านี้เท่านั้นเอง

เพราะเป็นการประท้วงเพื่อชีวิตเช่นนี้นี่เอง ที่ทำให้การชุมนุมเรียกร้องของคนเหล่านี้มีพลังมากเป็นพิเศษ มีความกราดเกรี้ยวและแรงอึดมากยิ่งกว่าการชุมนุมประท้วงเพื่อเหตุผลทางการเมืองอื่นใด

ไม่น่าแปลกที่ขบวนการเสื้อกั๊กเหลืองครั้งนี้ เริ่มต้นที่เมืองเงียบๆ อย่าง เกเรต์
ศูนย์กลางการบริหารของเขตปกครองตอนกลางของประเทศฝรั่งเศส เมืองเล็กๆ ในหุบเขาที่มีประชากรเพียง 13,000 คนเท่านั้นเอง

Advertisement

เมืองขนาดเล็กที่ทุกอย่างแตกต่างจากเมืองใหญ่ระดับมหานครทั้งหลายราวฟ้ากับเหว เมืองเล็กๆ ในเขตปกครองที่ได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่ส่วนที่ ยากจนที่สุด ของประเทศฝรั่งเศส เมืองที่องค์กรที่ก่อให้เกิดการจ้างงานมากที่สุด คือโรงพยาบาลของรัฐ ประจำเมืองเท่านั้นเอง

ตอนที่ภาษีน้ำมันใหม่ประกาศใช้ออกมานั้น คนในเกเรต์อยู่ในสภาพ “ชักหน้าไม่ถึงหลัง” ทุกเดือนมานานร่วมปีแล้ว

ในเกเรต์ เช่นเดียวกับอีกหลายหัวเมืองในย่านชนบท หรือชุมชนทั้งหลายชานเมืองใหญ่ทั้งหมด ถูกความกลัว ความกังวลชนิดหนึ่งเกาะกินในใจมาต่อเนื่องเนิ่นนานแล้ว ความวิตกกังวลเหล่านั้นเกิดขึ้นจากบรรดาคำถามที่ไม่มีคำตอบให้หลายต่อหลายคำถามที่ว่า อะไรจะเกิดขึ้นเมื่อเงินเดือนในบัญชีธนาคารของพวกเขาถูกใช้หมดลงเพียงแค่วันที่ 20 ของเดือน? จะเอาอะไรมาใส่ในตู้เย็นในเมื่อไม่เหลือเงินในบัญชีอีกแล้ว? และเดือนนี้จะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายค่าไฟฟ้า?

หรือคำถามที่ตอบยากเย็นแสนเข็ญ แต่ต้องหาคำตอบให้ได้หากยังต้องการให้ตัวเองและครอบครัวมีชีวิตรอดต่อไปอย่างเช่น วันนี้ เราควรเว้นอาหารมื้อไหนดี หากต้องการให้เหลือเงินอีกสักหน่อยสำหรับวันถัดไป? และจะบอกเมียว่าอย่างไรดี ถ้าวันนี้ ไม่มีมื้อเย็น…อีกแล้ว?

หลายครอบครัวต้องยังชีพอยู่ด้วยเนื้อ จากไร่ของครอบครัวของพ่อแม่ในชนบทส่งมาให้เป็น ของขวัญ ปีละ 2-3 ครั้ง บางครอบครัวจำเป็นต้องเสริมกิจวัตรประจำด้วยการแสวงหาและผ่าฟืน เพราะไม่มีเงินเหลือพอสำหรับซื้อก๊าซให้กับเครื่องทำความร้อน

หมู่บ้านและหัวเมืองเล็กๆ หลายแห่งทั่วประเทศที่นับวันจะกลายสภาพเป็น ดิ อาเธอร์ ฟรานซ์ เป็นฝรั่งเศสอีกฝรั่งเศสหนึ่ง ซึ่งแตกต่างอย่างใหญ่หลวงกับความหรูหราฟุ้งเฟ้อ เต็มไปด้วยสีสันเจิดจรัสของเมืองใหญ่ เช่นที่ชาวปารีเซียง คุ้นชิน แตกต่างไปจากบูเลอวาร์ดทั้งหลายในปารีส ที่กลายเป็นสมรภูมิจลาจลในช่วงหลายสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

คนเหล่านี้ไม่ใช่คนยากจนที่สุด ไม่ใช่คนประเภทอดมื้อกินมื้อ ไร้ที่อยู่อาศัยคุ้มกะลาหัว แต่เป็นคนที่พอจะมีกินมีใช้ แลกกับการมีความกังวลลึกซึ้งเช่นนี้ทุกเดือน ต่อเนื่องกันยาวนาน

ฟาบรีซ์ จิราร์แด็ง อดีตช่างปูพรมวัย 46 หนึ่งในผู้ร่วมการชุมนุมกั๊กเหลืองมาตั้งแต่แรก บอกว่า พวกเขามีชีวิตอยู่ในท่ามกลางความเครียด เครียดมันทุกเดือน ทุกๆ สิ้นเดือน เราต้องถามตัวเองว่าจะมีอาหารพอกินไหม?Ž

คนเหล่านี้ไม่สนใจนักการเมือง พรรคการเมือง ไม่ว่าจะในแนวทางไหน พวกเขา ขยะแขยง นักการเมืองทั้งหลายด้วยซ้ำไป

มิเชล แวร์นิเยร์ นักการเมืองคร่ำหวอดสังกัดพรรคสังคมนิยม นายกเทศมนตรีเกเรต์ ที่มีสายสัมพันธ์อันดี มีเส้นสายอยู่มากมายในปารีส พยายามเข้าไปพบปะ พูดคุยกับผู้ชุมนุมประท้วงตั้งแต่แรกเริ่ม

“พวกเขาปฏิเสธนักการเมือง” แวร์นิเยร์บอก”พวกเขาอยู่นอกวงการเมืองทั้งหมด รวมถึงบรรดาองค์กรของสหภาพแรงงานทั้งหลายอีกด้วย”

คนเหล่านี้นี่เอง ที่ตบเท้าเดินทางเข้ามาจากหัวเมืองและชานเมืองทั้งหลาย ยึดชองป์เซลิเซส์ ทั้งสายเป็น “เอลิเซส์ของประชาชน” เป็นการเสียดสี ถากถาง เย้ยหยันพระราชวัง เอลิเซส์ ทำเนียบประธานาธิบดีของ เอ็มมานูเเอล มาครง ซึ่งผู้ประท้วงให้นิยามเอาไว้ว่า “คือที่อยู่ของคนที่ใช้เงิน 300,000 ยูโร เพื่อปูพรมบ้านทั้งหลัง และใช้เงินทำผมเดือนละ 10,000 ยูโร”

จากใจกลางเกเรต์ สู่ใจกลางกรุงปารีส จากถนนบ้านนอก สู่ รู เดอ ริโวลี และเฮาส์
มานน์ บูเลอวาร์ด จากย่านที่ยากจนที่สุดของฝรั่งเศส มาตะโกนขับไล่มาครง “มาครง ดีมิซิอง” อยู่ในใจกลางเมืองที่มั่งคั่งที่สุดของประเทศ แบบไร้การจัดตั้งใดๆ อาศัยเพียงโซเชียล
มีเดีย นัดหมายรวมตัว

จนถึงการประท้วงใหญ่ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม มีผู้ประท้วงเสียชีวิตไปแล้ว 4 คน ในระหว่างการชุมนุมประท้วง เจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บเกือบพันคน อีกเกือบ 2,000 คน ถูกจับกุม

ประธานาธิบดีมาครง ยอมรับในการปราศรัยต่อคนทั้งประเทศต่อเหตุการณ์นี้เป็นครั้งแรกเมื่อ 10 ธันวาคมที่ผ่านมาว่า ในหลายๆ ทาง ผู้ประท้วงมีเหตุผลที่ชอบธรรม

เขาสั่งยกเลิกการขึ้นภาษีน้ำ ปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำขึ้นอีก 7 เปอร์เซ็นต์ และพร้อมที่จะเปิดเจรจาหารือแนวทางแก้ปัญหาใหม่ต่อไป แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจะยุติลง

อย่างน้อยที่สุด เบนจาแม็ง กองชี หนึ่งในแกนนำ จิลเลต์ โฌนส์ ตอบออกมาแล้วว่า รัฐบาลฝรั่งเศสต้องให้อะไรออกมาเยอะกว่าที่ให้อยู่ในขณะนี้อีกมาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image