ทิศทางส่งออกกุ้งไทยปี62 ขยับเล็กน้อย

dav

นายสมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์กุ้งของไทยปี 2561 ผลผลิตโดยรวมอยู่ที่ 2.9 แสนตัน ลดลง 3% จากปี 2560 ผลจากสภาพอากาศแปรปรวน ปัญหาโรค และราคากุ้งตกต่ำ ส่วนส่งออกคาดไว้ที่ 1.8 แสนตัน มูลค่า 5-5.5 หมื่นล้านบาท ลดลงจากปีก่อนส่งออกได้ 2.04 แสนตัน มูลค่า 6.85 หมื่นล้านบาท ซึ่งการส่งออก 10 เดือนแรกปี 2561 มีปริมาณ 143,129 ตัน ลดลง 14.51% มีมูลค่า 45,545 ล้านบาท ลดลง 18.82% สำหรับราคากุ้งไทยทรงตัว ขนาด 100 ตัวต่อกิโลกรัม(กก.)อยู่ที่ 110-120 บาท

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนผลผลิตกุ้งทั่วโลกอยู่ที่ 3.2 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 15% ถือเป็นปีที่หลายประเทศมีผลผลิตเพิ่มขึ้น เช่น เอกวาดอร์ ผลิตได้ 8.7 แสนตัน เพิ่มขึ้น 7% เวียดนาม 4.1 แสนตัน เพิ่มขึ้น 16% อินโดนีเซีย 2.75 แสนตัน เพิ่มขึ้น 6% แต่อินเดีย มีผลผลิต 5.6 แสนตัน ลดลง 7% ทำให้ครึ่งปีแรกทะลักออกสู่ตลาดมาก จนผลกระทบต่อราคาสินค้ากุ้งในประเทศ และความสามารถในการแข่งขันของกุ้งไทยในตลาดโลก

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ปี 2562 คาดว่าไทยมีผลผลิต ที่ 3.1-3.2 แสนตัน เพิ่มขึ้น 10% และคาดส่งออกได้ 2 แสนตัน มูลค่า 6 หมื่นล้านบาท แม้ไทยจะมีพื้นที่เลี้ยงน้อย แต่จากประสบการณ์การเลี้ยงที่ยั่งยืน โดยเฉพาะในฟาร์มที่ปรับตัวและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ตลาดส่งออกหลักของไทยยังเป็นสหรัฐฯประมาณ 3 หมื่นตัน หรือสัดส่วน 40% ซึ่งลดลงจากก่อนหน้าที่มีสัดส่วนกว่า 80% ของการส่งออกทั้งหมด แต่สามารถทดแทนตลาดอื่นได้ โดยเฉพาะญี่ปุ่น ที่มีสัดส่วน 2 หมื่นตัน สัดส่วน 20% และจีน 1.4 หมื่นตัน สัดส่วนประมาณ 10% ซึ่งตลาดที่น่าสนใจ หากภาวะสงครามทางการค้าไม่รุนแรง เศรษฐกิจจีนขยายตัวกว่า 5% คาดจะส่งผลให้ไทยส่งออกกุ้งได้มากขึ้นในปีหน้า

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนตลาดภายในประเทศยังขยายตัวมากขึ้นเป็น 2.9-3 หมื่นตัน เพิ่มขึ้น10% ในกรณีที่ราคากุ้งตกต่ำมาก ยังสามารถผลักดันส่งออกในมาเลเซีย เวียดนามได้ แต่ทั้งนี้จากการคมนาคม และระบฟ้าไทยยังดีกว่าหลายประเทศ ทำให้ไทยมีขีดความสามารถในการผลิตกุ้งคุณภาพได้ดีกว่า ซึ่งเป็นจุดแข็งของไทย ซึ่งปัจจัยน่าห่วงและจะกระทบกับสถานการณ์กุ้งในปี 2562 เช่น ต้นทุนแรงงานการแปรรูปกุ้งสูงกว่าคู่แข่ง ค่าเงินบาทแข็งกว่าประเทศผู้ผลิตกุ้งส่วนใหญ่ พื้นที่เลี้ยงที่น้อย เนื่องจากรัฐบาลไม่ส่งเสริมและเรียกคืนเป็นจำนวนมาก ยังมีปัญหาโรคระบาดมากกว่าประเทศอื่น

Advertisement

“ การส่งออกของไทยในตลาดสหรัฐ ไทยเป็นอันดับ ที่ 6 รองจาก อินเดีย อินโดนีเซีย เอกวาดอร์ เวียดนาม และจีน ทางรอดของไทยในอุตสาหกรรมกุ้ง ต่อจากนี้ต้องเน้นการผลิตกุ้งคุณภาพ มากกว่าปริมาณ เลี้ยงไซส์ใหญ่ เพื่อป้อนตลาดบนที่มีกำลังซื้อ ใช้ลูกกุ้งที่ดีที่สุดในโลก สายพันธุ์โตเร็ว แข็งแรง ปลอดโรค และระบบการเลี้ยงที่มีประสิทธิภาพ ปลอดจากยาปฏิชีวนะ สารเคมี ต้องห้ามตกค้าง ซึ่งจากข้อมูลของสหรัฐฯพบว่าการนำเข้ากุ้งปี 61 ได้ตรวจพบสารตกค้างและต้องปฏิเสธการนำเข้ามากถึง 43 ครั้ง โดยมาจากอินโดนีเซียมากที่สุด ราองมาลงคือจีน อินเดีย เวียดนาม และบังคลาเทศ” นายสมศักดิ์ กล่าว

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่ากรณีอังกฤษจะออกจากการเป็นสมาชิกของอียู จะเป็นผลดีต่อการส่งออกกุ้งของไทย เพราะสามารถเจรจาได้ง่ายกว่า จากปัจจุบันที่ไทยถูกตัดสิทธิพิเศษทางด้านภาษี(จีเอสพี)จากอียู ทำให้การส่งออกเหลือเพียง 6,000 ตันเท่านั้น จากเดิมไทยส่งออกได้ถึง 1.5 แสนตัน แต่ที่น่าเป็นห่วงคือสงครามทางการค้า ระหว่างจีนกับ สหรัฐฯที่ไม่อยากให้ยืดเยื้อ หากมีการขึ้นภาษีทางการค้าระหว่างกันจริง จะกระทบกับการส่งออกกุ้งของไทยตามไปด้วย รวมทั้งนักท่องเที่ยวจีนมาไทยจะลดลง การบริโภคในประเทศจะลดตามไปด้วย

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

Advertisement

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image