บทความ ผ้าอ้อมสำเร็จรูปสำหรับผู้ใหญ่ โดย ดร.พิรียุตม์ วรรณพฤกษ์

สํานักเศรษฐกิจและสถาบันการเงินต่างวิเคราะห์ถึงโอกาสทางธุรกิจเพื่อตอบสนองความต้องการสินค้าและบริการของกลุ่มผู้สูงอายุที่นับวันจะมีสัดส่วนของจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นและมีแนวโน้มจะถึงหนึ่งในสี่ของจำนวนประชากรในไม่ช้า กลุ่มผู้สูงอายุจึงเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญเพราะมีความต้องการสินค้าและบริการเฉพาะด้านโดยเฉพาะด้านสุขภาพและสินค้าที่ช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน รวมถึงสินค้าและบริการที่สามารถตอบสนองความสุขทางกายและจิตใจในบั้นปลายชีวิต ได้แก่ อาหารเสริม แว่นตาสำหรับผู้สูงอายุ เครื่องออกกำลังกาย โปรแกรมการท่องเที่ยว เทปธรรมะ และสินค้าชนิดหนึ่งที่กำลังมาแรงคือผ้าอ้อมผู้ใหญ่ ซึ่งมีความต้องการขยายตัวมากกว่าผ้าอ้อมเด็กเป็นเท่าตัวเลยทีเดียว

ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ หรือเรียกเต็มๆ ว่า “ผ้าอ้อมสำเร็จรูปสำหรับผู้ใหญ่” มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นมากเพราะคนที่ใช้ไม่ได้จำกัดเพียงกลุ่มผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ยังรวมกลุ่มผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบขับถ่ายและผู้ป่วยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ผ้าอ้อมสำเร็จรูปสำหรับผู้ใหญ่จึงมีบทบาทมากขึ้นในชีวิตประจำวันเนื่องจากมีคุณสมบัติที่ช่วยอำนวยความสะดวกและเพิ่มความสะอาดถูกสุขอนามัยให้แก่ผู้สูงอายุหรือผู้ป่วย

สำหรับการใช้ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ของผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยแต่ละคนโดยทั่วไปจะอยู่ระหว่าง 2-6 ชิ้นต่อวัน ปัจจุบันพบว่าผ้าอ้อมผู้ใหญ่หรือผู้ป่วยที่ใช้แล้วจากบ้านเรือนจะถูกทิ้งรวมกับขยะทั่วไป ทำให้ระยะหลังๆ ในการวิเคราะห์องค์ประกอบของขยะจะพบผ้าอ้อมสำเร็จรูปทั้งของเด็กและผู้ใหญ่และผ้าอนามัยเพิ่มมากขึ้นเป็นสัดส่วนโดยน้ำหนักที่มีนัยสำคัญ บางท้องถิ่นมีสัดส่วนของผ้าอ้อมสำเร็จรูปกว่า 5% โดยน้ำหนัก ซึ่งหมายถึงหากท้องถิ่นมีขยะเกิดขึ้นวันละ 100 ตัน จะพบขยะประเภทนี้ถึง 5 ตันเลยทีเดียว

การวิเคราะห์องค์ประกอบของขยะที่พูดถึงคือการวิเคราะห์หรือสำรวจว่าขยะที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นหนึ่งๆ ประกอบด้วยอะไรบ้าง องค์ประกอบของขยะของแต่ละชุมชนหรือแต่ละสังคมขึ้นกับรูปแบบการใช้ชีวิต การใช้การกิน เพราะขยะก็คือของเสียหรือของเหลือใช้จากการใช้การกินของผู้คนในสังคมนั้นๆ นอกจากนั้นองค์ประกอบของขยะอาจเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาลจากเปลือกผลไม้แต่ละชนิด เปลี่ยนแปลงตามโครงสร้างของสังคมและรูปแบบการใช้ชีวิต การวิเคราะห์องค์ประกอบของขยะจึงมีความสำคัญต่อการกำหนดเป้าหมายและแผนการจัดการขยะตลอดไปจนถึงการออกแบบระบบเก็บขนและกำจัดขยะ

Advertisement

เมื่อโครงสร้างของสังคมกำลังเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ปัญหาขยะก็หนีไปพ้นที่จะแปรเปลี่ยนไปด้วย การที่เราพบสัดส่วนของผ้าอ้อม/ผ้าอนามัยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จึงเป็นสัญญาณเตือนให้เราเตรียมตัวกับปัญหาใหม่ๆ ที่กำลังเพิ่มความรุนแรงขึ้น

ย้อนกลับมาดูสักนิดว่าผ้าอ้อมสำเร็จรูปคืออะไร ผ้าอ้อมสำเร็จรูปประกอบด้วยวัตถุดิบสำคัญ 3 อย่าง ได้แก่ เยื่อกระดาษที่ทำหน้าที่เป็นโครงรูปของผ้าอ้อม แผ่นกั้นความชื้นป้องกันไม่ให้ของเหลวซึมเลอะออกมา และสารดูดซับความชื้นที่เรียกว่า Super Absorbent Polymer เป็นสารที่สามารถดูดความชื้นได้เป็น 1,000 เท่าของน้ำหนักตัวมันเอง ดังนั้น ผ้าอ้อมสำเร็จรูปที่ใช้แล้วจะกลายเป็นขยะที่มีความชื้นสูงแต่มันกลับย่อยสลายได้ช้ามากในสภาวะธรรมชาติ ถ้าพลาสติกทั่วไปใช้เวลา 450 ปีจึงจะย่อยสลาย ผ้าอ้อมสำเร็จรูปและผ้าอนามัยที่มี Super Absornbent Polymer เป็นวัตถุดิบต้องใช้เวลายาวนานถึง 550 ปีจึงจะย่อยสลาย ดังนั้น ถ้าเรากำจัดขยะประเภทนี้ด้วยการฝังกลบ อีก 500 ปีข้างหน้าผู้คนในยุคนั้นคงขุดเจอผ้าอ้อมสำเร็จรูปให้เป็น
หลักฐานการใช้ชีวิตของคนในยุคนี้

นอกจากคุณสมบัติที่ย่อยสลายได้ยากแล้ว ผ้าอ้อมสำเร็จรูปใช้แล้วยังก่อปัญหาการจัดการขยะในฐานที่อาจถูกตีความว่าเป็นขยะติดเชื้อ เนื่องจากกฎกระทรวงสาธารณสุข ปี 2545 ให้นิยามขยะติดเชื้อหมายถึง ขยะที่มีเชื้อโรคปะปนอยูในปริมาณหรือมีความเข้มข้นซึ่งถ้ามีการสัมผัสหรือใก้ลชิดกับขยะพวกนั้นแล้วสามารถทําใหเกิดโรคได้ และเป็นขยะที่เกิดจากวัสดุซึ่งสัมผัสหรือสงสัยว่าจะสัมผัสกับเลือด ส่วนประกอบของเลือด ผลิตภัณฑ์ที่ไดจากเลือด สารน้ำจากร่างกายของมนุษยหรือสัตว์ หรือวัคซีนที่ทําจากเชื้อโรคที่มีชีวิต เช่น สําลี ผ้าก๊อส ผ้าต่างๆ และท่อยาง

Advertisement

จากนิยามข้างต้น ผ้าอ้อมสำเร็จรูปและผ้าอนามัยใช้แล้วอาจถูกตีความให้เป็นขยะติดเชื้อ ซึ่งจะตกเป็นภาระหนักของท้องถิ่นที่ต้องแยกระบบเก็บขนขยะประเภทนี้ออกจากขยะชุมชนทั่วไป ส่วนการกำจัดที่เหมาะสมคงหนีไม่พ้นที่จะต้องกำจัดด้วยการใช้เตาเผา

การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว ภาระของท้องถิ่นจึงไม่เพียงแค่พัฒนาสาธารณูปโภคประเภททางลาดหรือการปรับทางเท้าสำหรับผู้สูงอายุเท่านั้น ปัญหาขยะที่จะเกิดขึ้นในโครงสร้างของสังคมผู้สูงอายุจะเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ท้องถิ่นรวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเตรียมให้พร้อม สำหรับระบบกำจัดนั้น อย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว คงเลี่ยงที่จะต้องใช้เตาเผาขยะติดเชื้อไม่ได้ ดังนั้น เตาเผาขยะติดเชื้อสำหรับเมืองขนาดใหญ่จึงมีความจำเป็นและควรมีเช่นเดียวกับที่สังคมต้องมีเมรุเผาศพ ไม่เช่นนั้นแล้วอาจเกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคจากการจัดการขยะติดเชื้อที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการได้

แต่เราจะทำอย่างไรที่จะทำให้ชาวบ้านเข้าใจว่าเมืองใหญ่จำเป็นต้องมีเตาเผาเพื่อกำจัดขยะติดเชื้อเหมือนที่สังคมต้องมีเมรุเผาศพ

ดร.พิรียุตม์ วรรณพฤกษ์
นักวิชาการสิ่งแวดล้อมอิสระ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image