‘กรุงศรี’คาดขึ้นดอกเบี้ย-เลือกตั้ง หนุนค่าบาทปี’62แข็งค่าสุดรอบ5ปี

นายตรรก บุนนาค ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหารด้านโกลบอลมาร์เก็ต ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ทิศทางตลาดการเงินใน ปี 2562 ยังผันผวนจากปัจจัยเสี่ยงสงครามการค้าและความไม่แน่นอนเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ ประเมินว่าแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ที่อยู่ในขาขึ้นต่อเนื่องอาจจะปรับขึ้นช้าลงตามภาวะเศรษฐกิจสหรัฐที่อยู่ในช่วงปลายของวัฎจักรการเติบโต ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่เคยแข็งค่าอาจจะกลับมาอ่อนค่าได้ ขณะที่ค่าเงินประเทศตลาดเกิดใหม่มีแนวโน้มแข็งค่าจากการขยายตัวเศรษฐกิจ และนโยบายธนาคารกลางประเทศต่างๆ ที่เริ่มมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย ด้านค่าเงินบาทประเมินว่าจะแข็งค่าอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยในช่วงไตรมาสแรก 2562 คาดกรอบค่าเงินบาทที่ 31.00-33.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งโอกาสที่ค่าเงินจะแข็งค่ากรอบล่างที่ 31.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็นไปได้และจะเป็นการแข็งค่ามากที่สุดในรอบ 5 ปี นับตั้งแต่ปี 2556 นอกจากปัจจัยดอลลาร์อ่อนค่าแล้วยังมีแรงหนุนจากปัจจัยการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ส่งผลภาพรวมเศรษฐกิจและการลงทุน รวมทั้งแนวโน้มการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย หลังจากที่ขึ้นดอกเบี้ยในช่วงปลายปีนี้ไปที่ 1.75% ทำให้มีเงินทุนไหลเข้ามาลงทุนในพันธบัตรและตลาดหุ้นเพิ่มขึ้นได้ ขณะที่ไตรมาสที่ 2/2562 คาดค่าเงินอยู่ที่ 31.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และ ไตรมาสที่ 3/2562 ที่ 31.62 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และคาดสิ้นปี 2562 อยู่ที่ 31.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

“สำหรับปี 2562 หรือปีหมู แต่ดูแล้วน่าจะไม่หมู เพราะเป็นปีที่มีปัจจัยเสี่ยง จากส่งความการค้าและการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศหลัก รวมทั้งความชัดเจนเบร็กซิท ท้ายปีมีการสรรหาผู้สมัครประธานาธิบดีสหรัฐใหม่ รวมทั้งการเลือกตั้งไทยเป็นต้น แต่มองว่าการเลือกตั้งจะทำให้บรรยากาศเศรษฐกิจและการลงทุนดีขึ้น คาดการณ์จีดีพีขยายตัว 4.1% ส่งการออกขยายตัว 4.5% จำนวนนักท่องเที่ยวจีนลดลงบ้างจากกลุ่มทัวร์แต่กลุ่มเที่ยวเองยังขยายตัวได้ ดัวนั้น แรงส่งเศรษฐกิจไทยจะมาจากปัจจัยภายในทั้งการบริโภคเอกชน การลงทุนเอกชน และโครงการภาครัฐที่จะเกิดขึ้นโดยเฉพาะโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี” นายตรรค กล่าว

นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการ ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ค่าเงินบาทปี 2561 นี้มีการเคลื่อนไหวผันผวน จากปี 2560 ที่แข็งค่าต่อเนื่อง 10% ซึ่งเปิดต้นปี 3561 มาแข็งค่าต่อ และในช่วงระหว่างปีบรรเซนติเม้นต์เปลี่ยนอ่อนค่า เพราะกลับไปถือดอลลาร์สหรัฐ ทั่งนี้ พบว่า ตั้งแต่ต้นปีเงินทุนเคลื่อนย้าย มีเงินไหลอิกในตลาดหุ้นสุทธิ 2.8 แสนล้านบาท แต่มีเงินไหลเข้าในพันธบัตรสุทธิใกล้เคียงกัน เพราะไทยยังถือเป็นแหล่งลงทุนที่มีความปลอดภัย(เซฟเฮฟเว่น) ทำให้ค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าน้อยกว่าภูมิภาค โดยตั้งแต่ต้นปี 2561 โดยอ่อนค่า 0.43% ขณะที่ รูปี อินเดียอ่อนค่ามากสุด 6.41% หยวน ของจีนอ่อนค่า5.45% เปโซ ฟิลิปปินส์ อ่อนค่า 5.17% วอน เกาหลีใต้อ่อนค่า 4.70% ดอลลาร์ไต้หวันอ่อนค่า 3.38% ริงกิต มาเลเซียอ่อนค่า 3.18% ดอลลาร์สิงคโปร์อ่อนค่า 2.58% อย่างไรก็ตาม ด้านความสามารถในการแข่งขัน มองว่าปัจจัยค่าเงินอย่างเดียวไม่ได้เป็นปัจจัยชี้นำ เพราะแม้ค่าบาทจะแข็งค่า ในปี 2560 แต่การส่งออกไทยปี 2560 ขยายตัว 9% มองว่าขึ้นกับขึ้นกับเศรษฐกิจและบรรยากาศการค้าโลกมากกว่า ปัจจุบันค่าเงินบาทอยู่ที่ราว 32.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ คาดสิ้นปีนี้ที่ 32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ 

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

Advertisement

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image