กนช.มีมติโครงการปรับปรุงคลองยม-น่าน จ.สุโขทัย 2,875 ล้าน บรรเทาน้ำท่วม

กนช. มีมติเห็นชอบโครงการปรับปรุงคลองยม-น่าน จ.สุโขทัย เพื่อบรรเทาอุทกภัย ป็นแหล่งเก็บกักน้ำต้นทุน พร้อมทั้งส่งน้ำอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ วงเงิน 2,875 ล้าน

เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(กนช.) ครั้งที่ 4/2561 ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล โดยในส่วนของกรมชลประทาน มีดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน และนายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน(ด้านบำรุงรักษา) เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้

สำหรับการประชุม กนช. วันนี้ ในที่ประชุมได้มีการพิจารณาวาระที่สำคัญ ได้แก่ 1.ร่างแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ.2561 – 2580) หลักเกณฑ์และแนวทาง การจัดทำแผนปฏิบัติการ เพื่อรองรับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี 2.แผนงานโครงการขนาดใหญ่-โครงการสำคัญ และการขับเคลื่อนแผนงานพัฒนาโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ 3.การทบทวนการแบ่งพื้นที่ลุ่มน้ำที่เหมาะสมสำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและผลกระทบการแบ่งพื้นที่ลุ่มน้ำ

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบร่างแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ซึ่งสอดรับและครอบคลุมกับ 3 แผนหลักของประเทศ ประกอบด้วย 1. แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี 2.แผนการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรน้ำ และ 3.เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี แบ่งเป็น 6 ด้าน ได้แก่ 1 การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค มีเป้าหมายในการพัฒนาประปาหมู่บ้านมีคุณภาพได้มาตรฐานภายในปี 2573 ขยายเขตประปา สำรองน้ำต้นทุนรองรับเมืองหลัก แหล่งท่องเที่ยว เขตเศรษฐกิจสำคัญ อัตราการใช้น้ำต่อประชากรคงที่และมีอัตราลดลงในอนาคต 2.การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต อาทิ การจัดหาน้ำในพื้นที่เกษตรน้ำฝน พื้นที่รับประโยชน์ 14 ล้านไร่ ลดความเสี่ยง/ความเสียหายในพื้นที่วิกฤติ ร้อยละ 50 เพิ่มประสิทธิภาพโครงการแหล่งน้ำ และระบบส่งน้ำเดิม 3. การปรับปรุงการระบายน้ำ สิ่งกีดขวางทางน้ำ โดยจัดทำผังลุ่มน้ำ และบังคับใช้ในผังเมืองรวม/จังหวัดทุกลุ่มน้ำ ป้องกันน้ำท่วมชุมชนเมือง 764 เมือง บรรเทาอุทกภัยพื้นที่วิกฤต ร้อยละ 60 เพิ่มประสิทธิภาพการปรับตัวและเผชิญเหตุในพื้นที่น้ำท่วม 4. การจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ ได้แก่ การป้องกันและลดการเกิดน้ำเสียที่แหล่งกำเนิด รักษาสมดุลของระบบนิเวศ 13 ลุ่มน้ำหลัก การฟื้นฟูแม่น้ำ ลำคลอง 25 ลุ่มน้ำหลัก และคูคลองสาขา 5. การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำ เป้าหมายเพื่อฟื้นฟูป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรม 3.5 ล้านไร่ การป้องกันและลดการชะล้างพังทลายของดินในพื้นที่ต้นน้ำ 20.45 ล้านไร่ และ 6 การบริหารจัดการ โดยดำเนินการปรับปรุงกฎหมาย ตั้งองค์กรด้านการบริหารจัดการน้ำ แผนบริหารจัดการทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤต แผนการจัดสรรน้ำ รวมถึงการสร้างความร่วมมือด้านน้ำระหว่างประเทศ เป็นต้น

Advertisement

ด้านดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ในที่ประชุมได้มีมติให้ความเห็นชอบโครงการขนาดใหญ่ของกรมชลประทาน คือ โครงการปรับปรุงคลองยม-น่าน จ.สุโขทัย เพื่อบรรเทาอุทกภัย และเป็นแหล่งเก็บกักน้ำต้นทุน พร้อมทั้งส่งน้ำอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ วงเงิน 2,875 ล้านบาท โดยให้เร่งดำเนินการก่อสร้างให้เร็วขึ้นตั้งแต่ปี 2562-2565 (แผนเดิมจะดำเนินการในปี 2563-2567) ลักษณะของโครงการฯ จะเป็นการปรับปรุงคลองหกบาท ให้สามารถรับน้ำได้จากเดิมเพิ่มอีก 1 เท่าตัว(เดิมรับน้ำได้ 250 ลูกบาศก์เมตร/วินาที) เป็น 500 ลูกบาศก์เมตร/วินาที พร้อมกับปรับปรุงคลองยม – น่าน ให้สามารถระบายน้ำได้เพิ่มขึ้นเป็น 300 ลูกบาศก์เมตร/วินาที นอกจากนี้ ยังมีการก่อสร้างและปรับปรุงอาคารประกอบตามแนวคลองส่งน้ำ ความยาวรวม 42 กิโลเมตร เมื่อโครงการฯแล้วเสร็จจะสามารถบรรเทาปัญหาอุทกภัยในเขตตัวเมืองสุโขทัยในช่วงฤดูฝน ตลอดจนเก็บกักน้ำไว้ในคลอง สำหรับเป็นน้ำต้นทุนไว้ใช้ประโยชน์ ในพื้นที่บริเวณ 2 ฝั่งคลองตลอดสาย ในระหว่างฝนทิ้งช่วงฤดูแล้ง ครอบคลุมพื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 7,300 ไร่ ทั้งนี้ จะได้นำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติเปิดโครงการฯและงบประมาณตามลำดับต่อไป

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

Advertisement

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image