พรรคของประชาชน (ฮา) : โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

พรรคการเมืองยุคอำนาจนิยม ป่าวประกาศตัวเต็มปากเต็มคำ เราคือพรรคของประชาชน

ถามว่า พรรคของประชาชนต้องแตกต่างจากพรรคของนายทุนตรงไหน

ประชาชนมีสามระดับ ระดับหนึ่ง ประชาชนที่เป็นผู้นำและกลุ่มผู้บริหารพรรค ระดับสอง ประชาชนผู้เป็นสมาชิกพรรค ระดับสาม ชาวบ้านทั่วไปในสังคมแต่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค

แต่ละกลุ่มมีสิทธิเสมอภาค เท่าเทียมกันหรือไม่ในการที่จะมีส่วนรับรู้ กำหนดการดำเนินกิจกรรมสาธารณะของพรรคของประชาชนแค่ไหน

Advertisement

การจัดโต๊ะจีนระดมทุนเป็นกิจกรรมสาธารณะอย่างหนึ่ง ผู้สนับสนุนมีทั้งที่เป็นและไม่เป็นสมาชิก ควรมีโอกาสได้รับรู้ด้วยหรือไม่

พรรคการเมืองเป็นสถาบันสาธารณะ เมื่อเกิดคำถามสาธารณะ ระดมเงินมาจากไหน ใครช่วยเท่าไร เอาไปใช้อย่างไร จึงควรมีคำตอบต่อสาธารณะ

การจัดกิจกรรมที่ว่า ควรเป็นข้อมูลข่าวสารลับเฉพาะภายในพรรค หรือควรเป็นข้อมูลข่าวสารสาธารณะที่ต้องประกาศให้ชาวบ้านรับรู้อย่างรวดเร็ว

Advertisement

เมื่อปากว่า ความเปิดเผยโปร่งใส ตรวจสอบได้เป็นหัวใจของพรรคของประชาชน

ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ความเป็นส่วนตัวของพรรคควรมีหรือไม่ มีแค่ไหน กิจกรรมใดที่พรรคดำเนินการควรเปิดเผยโปร่งใส ให้เจ้าของพรรคที่แท้จริงได้รับรู้ กิจกรรมใดควรรู้เฉพาะคณะกรรมการบริหารพรรค มีเส้นแบ่งตรงไหน

ทำนองเดียวกันกับการจัดงานวัด พอจบงานไม่กี่วัน ท่านสมภารติดประกาศเบ้อเริ่มเทิ่มหน้าวัดให้ชาวบ้านรับรู้ทันที รายรับเท่าไหร่ รายจ่ายเท่าไหร่ เหลือเงินสุดท้ายเข้าวัดเท่าไหร่

พรรคของประชาชนยุคใหม่ ยุคปฏิรูปการเมืองก่อนเลือกตั้ง ต้องทำอย่างไรถึงไม่อายหลวงพ่อ หรือจะแก้ตัวว่ากิจของฆราวาส ต่างจากกิจของสงฆ์ ถือกฎหมายเป็นหลัก หาใช่ธรรมวินัยไม่

โลกุตระกับโลกียะ คนละโลกกัน จึงต้องมีความสลับซับซ้อนซ่อนเงื่อนใช้เวลา 30 วันถึงจะเคลียร์รายการจบ และจะป่าวประกาศเป็นข่าวสารสาธารณะให้ชาวบ้านได้รับรู้ ด้วยหรือไม่ ยังไม่มีใครรับประกัน ต่างจากคำรับประกันกับบรรดามวลสมาชิกทั้งหลายว่าได้เป็นรัฐบาลแหงๆ

รายการโต๊ะจีนระดมทุนของพรรคของประชาชนยังคงอื้อฉาวไปอีกพักใหญ่ จนกว่าความจริงจะปรากฏ หรือ เงียบหายเข้ากลีบเมฆไป

ขณะที่กรรมการการเลือกตั้งถูกเรียกร้องกดดันให้ทำงานเชิงรุก ไม่ใช่นั่งคอยจนถึงวันสุดท้ายที่พรรคการเมืองจะส่งรายละเอียดมาให้ เพราะเป็นกรณีที่สังคมต้องการคำตอบทั้งในแง่ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย การบริจาคเป็นไปโดยบริสุทธิ์ สะอาด หรือใช้ตำแหน่งอำนาจหน้าที่แสวงหามา

การตรวจสอบโดยพรรคเอง โดยองค์กรกำกับ และองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการทำให้เกิดความเปิดเผยโปร่งใส ถ้าจะทำกันจริงจัง ไม่เพียงแค่ดูรายชื่อแขกที่ร่วมงานทั้งหมด แผนผังจากบริษัทรับจัดงาน กล้องวงจรปิดภายในงาน ติดตามพิสูจน์ความจริงให้ลึกลงไปทำได้ไม่ยาก

ยิ่งเป็นเงินจำนวนมากหลายร้อยล้าน ผู้สนับสนุนคงไม่หอบเงินใส่ถุงมาจ่ายสดๆ ส่วนใหญ่เขียนเป็นเช็ค หรือไม่ก็โอนเงินผ่านธนาคาร

ติดตามเส้นทางเดินของเงินเป็นเรื่องที่ถนัดอยู่แล้วในยุคนี้ ใครเป็นผู้ลงนามในเช็ค เป็นเช็คของธนาคารใด สั่งจ่ายให้ใคร วันไหน เป็นเงินเท่าไหร่ จ่ายในนามองค์กร หรือส่วนตัวก็ตาม

ถ้ามีปัญหาติดขัดอำนาจที่ยังมีไว้สำหรับป้องกันและปราบปรามการทุจริตด้วย เคยใช้ระงับบัญชี ห้ามทำธุรกรรมทางการเงินของผู้เห็นต่างทางการเมืองอย่างได้ผลมาแล้ว

จะนำมาใช้เพื่อความเปิดเผยโปร่งใส เกิดความกระจ่าง ให้สังคมหายคลางแคลงใจและช่วยฟอกขาวกรณีอื้อฉาวหรือไม่ เมื่อสถานะเปลี่ยนไป กำลังจะเป็นผู้มีส่วนได้เสีย

ขณะที่พรรคที่ถูกกล่าวหา ถูกสวนกลับด้วยคำพูดของผู้มีอำนาจ “เมื่อไม่ได้ทำผิดจะกลัวอะไร” จึงต้องพิสูจน์ตัวเอง ให้สังคมเห็นว่า คำพูดกับการกระทำเป็นสิ่งเดียวกัน

ปิดท้ายวันนี้ เลยชวนให้คิดถึงคมคำของลอร์ด แอ็กตั้น นักคิดฝ่ายตะวันตก “อำนาจทำให้เสื่อมทราม อำนาจเด็ดขาดทำให้เสื่อมทรามอย่างเด็ดขาด” ยังเป็นสัจธรรมจนถึงเวลานี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image