กนง.-กนส. จับตาเสี่ยงซัพพลายคอนโด-มิกซ์ยูส

แฟ้มภาพ

เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผย ผลการประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และ คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2561 ว่า กนง.และ กนง. ให้ติดตามความเสี่ยงซัพพลายคงค้างในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งช่วงหลายปีที่ผ่านมามีกำลังซื้อจากต่างชาติโดยเฉพาะจีนมีบทบาทเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในตลาดคอนโดมิเนียม จึงต้องระมัดระวังความเสี่ยงที่ความต้องการซื้อในส่วนนี้อาจลดลง หากเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง ขณะที่ซัพพลายพื้นที่อาคารสำนักงานและพื้นที่ค้าปลีกมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นจากโครงการ(มิกซ์ยูส) ระหว่างที่อยู่อาศัยและเชิงพาณิชย์ทั้งสำนักงาน พื้นที่ค้าปลีกที่จะมีมากขึ้นในอนาคตโดยเฉพาะช่วงปี 2563 เป็นต้นไป ทั้งนี้ แม้ว่าธปท.ได้ปรับปรุงเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัยแล้ว แต่ยังต้องติดตามสถานกาณ์มาตรฐานการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ เพราะที่ผ่านมาธนาคารแข่งขันกันรุนแรงอาจทำให้มาตรฐานการปล่อยสินเชื่อลดต่ำลง และติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนไทย โดยอัตราส่วนสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยต่อรายได้ผู้กู้ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่ภาระผ่อนชำระหนี้เทียบกับรายได้ต่อเดือนของครัวเรือนกลุ่มรายได้น้อยยังอยู่ในระดับสูง

รายงานข่าว ระบุว่า ที่ประชุมยังติดตามพฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควรโดยเฉพาะในสหกรณ์ออมทรัพย์ โดยร่างพระราชบัญญัติสหกรณ์ที่ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาตินั้นเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการยกระดับการกำกับดูแลระบบสหกรณ์ แต่ต้องเร่งพัฒนากระบวนการกำกับดูแลความเสี่ยงและธรรมาภิบาล เพื่อให้ระบบสหกรณ์ออมทรัพย์มีความเข้มแข็ง สามารถดำเนินงานได้สอดคล้องกับปรัชญาของสหกรณ์โดยไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพการเงิน รวมทั้งกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ และการลงทุนในต่างประเทศของกองทุนรวมตราสารหนี้ที่ยังคงกระจุกตัวสูงในบางประเทศและสถาบันการเงิน ส่วนพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนผ่านสหกรณ์ออมทรัพย์นั้น ยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง มาจากเงินรับฝากและเงินลงทุนในหลักทรัพย์ที่ยังขยายตัวสูง และสหกรณ์ออมทรัพย์ขนาดใหญ่บางแห่งกู้ยืมเงินระยะสั้นเพื่อมาลงทุนในหลักทรัพย์มากขึ้น ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงด้านสภาพคล่องและความผันผวนของมูลค่าเงินลงทุน

อย่างไรก็ตาม การประเมินความเสี่ยงจากกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง เพราะมีความเชื่อมโยงกับระบบการเงิน ทั้งจากโครงสร้างกลุ่มธุรกิจที่ซับซ้อนมากขึ้น รวมถึงการก่อหนี้ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั้งจากสินเชื่อและตราสารหนี้ โดยต่อไประบบการเงินไทยต้องเผชิญความเสี่ยงจากภาวะการเงินโลกที่มีแนวโน้มผันผวนมากขึ้น ทำให้ต้องระมัดระวังอย่างมาก ทั้งนี้ หน่วยงานกำกับดูแลทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย จะร่วมกันประเมิน และติดตามความเสี่ยงต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงปรับปรุงและบังคับใช้กฎเกณฑ์การกำกับดูแลให้เหมาะสมกับ ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาที่อาจกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ

“กนง.และกนส.เห็นว่าระบบการเงินไทยโดยรวมมีเสถียรภาพ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง ธนาคารพาณิชย์ และธุรกิจประกันภัยมีเงินกองทุนอยู่ในระดับสูง ขณะที่เสถียรภาพด้านต่างประเทศ มีความเข้มแข็ง สะท้อนจากเงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง ดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลต่อเนื่อง และภาระหนี้ต่างประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งมีส่วนช่วยรองรับผลกระทบจากความผันผวนในตลาดการเงินโลกในช่วงที่ผ่านมา” รายงานข่าว ระบุ

Advertisement

 

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

Advertisement

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image