พณ.คาดเงินเฟ้อปี62สูงขึ้น1.2% ตามแนวโน้มน้ำมัน เกษตร และค่าเดินทางจ่อขึ้นราคา(มีคลิป)

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค(เงินเฟ้อ)ทั่วไปเดือนธันวาคม 2561 ขยายตัว 0.36% เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน และเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 ติดต่อกัน แต่ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 จากเดือนพฤศจิกายน 2561 ลดลง0.65% โดยการชะลอตัวของเงินเฟ้อในเดือนธันวาคม มีสาเหตุจากการลดลงของราคาพลังงาน และราคาผลผลิตการเกษตรบางชนิด ขณะที่ราคาสินค้าและบริการในหมวดอื่นยังขยายตัวได้ รายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเมื่อหักกลุ่มอาหารสดและพลังงาน หรือ เงินเฟ้อพื้นฐาน ขยายตัว 0.68% ทำให้เงินเฟ้อทั่วไปทั้งปี 2561 สูงขึ้น 1.07% ปัจจัยสำคัญจากราคาพลังงาน ค่าเช่าเคหสถาน ราคาสินค้าเกษตร และสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป เพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาอาหารสด ผักและผลไม้ลดลง ซึ่งเมื่อหักอาหารสดและพลังงานเงินเฟ้อพื้นฐานปี 2561 สูงขึ้น 0.71%

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต ลดลง 0.5% เป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 8 เดือน สาเหตุจากหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมลดลง 1% โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และกลุ่มเม็ดพลาสติก ตามการเพิ่มขึ้นของอุปทานน้ำมันและผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน กลุ่มผลิตภัณฑ์ยาง ตามปริมาณสต็อกยางในตลาดโลกที่อยู่ในระดับสูง กลุ่มส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ ตามการระบายสินค้ารุ่นเดิมก่อนจะผลิตรุ่นใหม่ กลุ่มเยื่อกระดาษ ผลิตภัณฑ์กระดาษและสิ่งพิมพ์ ตามพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไป ในขณะที่ หมวดผลผลิตเกษตรกรรม สูงขึ้น 1% ตามราคาสินค้าเกษตรสำคัญ โดยเฉพาะ ข้าวเปลือก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลังสด และกลุ่มผักสดและผลไม้ รวมทั้ง สัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอานิสงค์จากมาตรการแก้ไขปัญหาราคาสุกรตกต่ำของภาครัฐที่ได้ผล อย่างไรก็ตาม กุ้งแวนนาไม ผลปาล์มสด และยางพารา มีราคาลดลง สำหรับราคาหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้น 4.9% อาทิ ก๊าซธรรมชาติและแร่เหล็ก

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวว่า โดยภาพรวมเงินเฟ้อปี 2561 ที่สูงขึ้น 1.07% มีปัจจัยสำคัญจาก 1. ราคาพลังงาน ที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปีก่อน ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าและบริการต่อเนื่องกับราคาพลังงาน ซึ่งเป็นปัจจัยหลักสำคัญที่สุดที่ส่งผลต่อเงินเฟ้อในปีนี้ 2. ราคาผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญ (อาหาร) ที่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของฤดูกาลและเหตุการณ์ทางธรรมชาติที่ส่งผลต่อปริมาณผลผลิต รวมทั้งความต้องการ ทั้งในประเทศและโลก ส่งผลต่อราคาทั้งเชิงบวกและเชิงลบ แต่โดยเฉลี่ยแล้ว ราคาผลผลผลิตสินค้าเกษตรเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 3.ความต้องการ โดยความต้องการในประเทศ ยังคงขยายตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป สอดคล้องกับอัตราค่าจ้างเฉลี่ยและรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ขยายตัวสูงกว่าเงินเฟ้อ รวมทั้งการใช้จ่ายและมาตรการภาครัฐต่างๆ ที่ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายและเพิ่มกำลังซื้อในหลากหลายรูปแบบ ในขณะที่ ความต้องการของโลก สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลดีโดยเฉลี่ยต่อการส่งออก การลงทุนภาครัฐและเอกชน ที่ยังขยายตัวได้ดี

สำหรับการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าอาหารบริโภคในบ้าน-นอกบ้าน ในช่วงที่ผ่านมาส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับราคาสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน อาทิ ก๊าซหุงต้ม ค่าขนส่ง รวมทั้งค่าเช่าสถานที่ ประกอบกับกำลังซื้อ/ความต้องการของผู้บริโภคยังคงไปได้ดี ทำให้ผู้ประกอบการปรับขึ้นราคาสินค้าในหมวดนี้ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติ จะสังเกตว่าสินค้าในหมวดนี้จะปรับเพิ่มขึ้นตามราคาพลังงาน (แก๊ส น้ำมัน ไฟฟ้า) และในปี 2561 มีปัจจัยเรื่องค่าเช่าสถานที่เป็นปัจจัยเพิ่มเติม ทำให้ราคาในหมวดนี้ปรับเพิ่มขึ้นค่อนข้างสูงกว่าในปีที่ผ่านมา

Advertisement

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวว่า แนวโน้มปี 2562 เงินเฟ้อของไทยเฉลี่ยทั้งปี คาดว่าจะอยู่ที่ 1.2% จากกรอบ 0.7 – 1.7% ปัจจัยจากราคาพลังงาน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี 2561 แต่ยังคง มีความเสี่ยงจากความผันผวนในโครงสร้างการผลิตและความต้องการโลก รวมทั้งบริบททางการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคต่างๆ โดยเฉพาะในยุโรปตะวันออก และตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันให้มีการปรับขึ้นค่าโดยสารในประเทศ การลงทุน ทั้งภาครัฐและเอกชนน่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยมีสัญญาณจากปัจจัยชี้นำต่างๆ ทั้งความคืบหน้าการลงนามในสัญญาก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ความต่อเนื่องของโครงการลงทุนเดิมที่ยังไม่แล้วเสร็จ และความสนใจขอรับการส่งเสริมการลงทุนและการลงทุนในโครงการต่างๆ เพิ่มเติม ราคาสินค้าเกษตร สินค้าเกษตรสำคัญยังคงมีแนวโน้มราคาในทิศทางที่ดีกว่าปี 2561 โดยเฉพาะราคาข้าว และมันสำปะหลัง ที่ยังมีผลผลิตต่อเนื่องในช่วงไตรมาสแรกของปี 2562

ขณะที่ปาล์มน้ำมันและยางพาราน่าจะมีสัญญาณที่ดีจากมาตรการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของภาครัฐที่น่าจะทำให้สถานการณ์ราคาสินค้าเหล่านี้ปรับตัวสูงขึ้นได้เมื่อเทียบกับปี 2561 ราคาสินค้าอุตสาหกรรม สินค้าอุตสาหกรรมหลายตัวที่ผลิตในประเทศมีสัญญาณต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น แต่ยังมีแรงกดดันจากการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากการนำเข้า ทำให้ราคาสินค้าอุตสาหกรรมน่าจะมีทิศทางที่ปรับเพิ่มไม่มากนัก การส่งออก คาดว่าจะยังขยายตัวได้ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและยังมีแรงส่งต่อเนื่อง ประกอบกับโอกาสในการย้ายฐานการผลิตเพื่อส่งออกหลายชนิดมายังประเทศไทยยังมีอยู่สูง ทำให้การส่งออกน่าจะยังขยายตัวได้ดี ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อราคาและกำลังซื้อในประเทศ ค่าเงินมีทิศทางอ่อนค่า ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจสหรัฐ ทำให้เงินทุนไหลเข้าในประเทศน้อยลง ส่งผลต่อต้นทุนนำเข้าและเพิ่มรายได้จากการส่งออก เป็นปัจจัยสนับสนุนเงินเฟ้อให้ปีนี้ใกล้เคียงปีที่ผ่านมา

Advertisement

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image