เด็กไทยกับประชาธิปไตยที่ยั่งยืน โดย ผศ.ดร.สมหมาย จันทร์เรือง

ยุคหัวเลี้ยวหัวต่อของประชาธิปไตย บทบาทการดำเนินกิจกรรมด้านความเป็นประชาธิปไตยตกอยู่กับบุคคลที่เป็นผู้ใหญ่ ส่วนเด็กนั้นสังคมไทยไม่ได้คำนึงถึงการปลูกฝังเรื่องประชาธิปไตย แต่จะเป็นการกล่อมเกลาให้เป็นเด็กดี มีวินัย มีความกตัญญู หรือมีคุณธรรม ทั้งที่เปรียบเทียบให้เด็กเสมือนผ้าขาวจะแต่งเดิมสิ่งใดก็ได้ สุดแต่สังคมกำหนด เว้นแต่ความเป็นประชาธิปไตย

ความหมาย

คำว่า “เด็ก” หมายถึงคนที่มีอายุน้อย ยังเล็ก ถ้าอายุยังไม่ถึง 15 ปี หรือไม่เกิน 14 ปีบริบูรณ์ เรียกว่าเด็กชายและเด็กหญิง เป็นคนที่อ่อนด้วยความรู้และประสบการณ์ ต้องอยู่ในความดูแลของบิดามารดา ซึ่งในกฎหมายเรียกว่าผู้แทนโดยชอบธรรม จนกว่าจะมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ จึงบรรลุนิติภาวะเป็นผู้ใหญ่ที่สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ด้วยตนเอง

ประวัติวันเด็ก

Advertisement

ในแต่ละปีจะมีวันสำคัญหรือวันที่ระลึกต่างๆ เด็กก็มีวันสำคัญนี้ด้วย คือ “วันเด็กแห่งชาติ” สืบเนื่องจากแนวคิดของผู้แทนองค์การสหพันธ์เพื่อสวัสดิภาพเด็กระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติที่ตระหนักถึงความสำคัญของเด็กโดยเสนอให้ประเทศต่างๆ มีการปลูกฝังให้เด็กมีบทบาทในสังคม เพื่อเตรียมพร้อมกับการเติบโตเป็นกำลังของชาติ

ประเทศไทยกำหนดจัดงานวันเด็กเป็นครั้งแรก ในวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม พ.ศ.2498 จนถึง พ.ศ.2507 และได้เปลี่ยนเป็นวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคม เมื่อ พ.ศ.2508 เพราะเห็นว่าเป็นช่วงปลายฤดูฝนที่เอื้อต่อการจัดงานทั้งในร่มและกลางแจ้ง

กิจกรรมวันเด็ก

Advertisement

เนื่องจากเด็กขาดความรู้และประสบการณ์จึงจัดให้มีกิจกรรมวันเด็ก คือ การเปิดโอกาสให้เด็กได้เข้าชมสถานที่สำคัญๆ ของประเทศ ได้แก่ พระที่นั่งอนันตสมาคม รัฐสภา และทำเนียบรัฐบาล ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครอง แต่ยังไม่ได้ปลูกฝังความเป็นประชาธิปไตยอย่างจริงจัง เด็กเพียงแต่เห็นภาพผิวเผิน ยังไม่รู้และเข้าใจการปกครองที่เกิดขึ้นจากสถานที่เหล่านี้

กิจกรรมที่นิยมอีกอย่างหนึ่ง คือ หน่วยทหารได้จัดแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ เพื่อเรียนรู้บทบาทของทหารที่ผ่านมา อันเป็นการสร้างภาพของการใช้อำนาจทางการทหารมากกว่าบทบาทของทหารในเชิงพัฒนา ซึ่งปัจจุบันทหารได้เข้ามามีบทบาทพัฒนาสังคมมากขึ้นเป็นลำดับ

คำขวัญวันเด็ก เป็นกิจกรรมอีกประการหนึ่งที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.2499 สมัยที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี คำขวัญแรก คือ “จงบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและส่วนรวม” และล่าสุด พ.ศ.2561 สมัยที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี คือ “รู้คิด รู้เท่าทัน สร้างสรรค์เทคโนโลยี” คำขวัญทั้งหมดที่ผ่านมาไม่ได้เกี่ยวข้องประชาธิปไตย แม้แต่คำขวัญเดียว

ข้อเสนอแนะ

การสร้างกิจกรรมวันเด็กแห่งชาติให้มีคุณค่าและสอดคล้องกับบริบทของสังคมปัจจุบัน รวมถึงการมองภาพของอนาคตไทย ควรดำเนินการดังนี้

1.เริ่มตั้งแต่ครอบครัวที่เป็นสังคมแรกที่มีอิทธิพลต่อเด็ก นอกจากการเลี้ยงดูอย่างดีแล้ว การให้อิสระแก่เด็กในการคิดสร้างสรรค์ สนับสนุนเด็กให้มีความรู้และทักษะที่เกิดจากความชอบและความถนัดของเด็ก ไม่ควรบังคับตามความต้องการของพ่อแม่ การเปิดโอกาสเช่นนี้ถือเป็นวิถีการประชาธิปไตยได้อย่างหนึ่ง

2.กิจกรรมวันเด็ก นอกจากการให้ความรู้ความเข้าใจ และความภูมิใจต่อเอกลักษณ์ของชาติแล้ว หน่วยราชการและหน่วยทหารควรจัดกิจกรรมที่แสดงถึงการมีส่วนร่วมในเชิงพัฒนา ช่วยเหลือสังคม มากกว่าการแสดงกำลังหรือแสนยานุภาพทางทหาร

3.คำขวัญวันเด็กควรสอดแทรกความเป็นประชาธิปไตยไว้ด้วย มิใช่เน้นแต่ความรู้ คุณธรรม ความดีงาม หรือความกตัญญู ดังที่ผ่านมา

4.สถาบันการศึกษา ควรส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับประชาธิปไตยที่ถูกต้อง ตั้งแต่ระดับประถมและมัธยม โดยเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงออกด้านกิจกรรมและความคิด ครูอาจารย์ควรแสดงบทบาทเป็นที่ปรึกษาแนะแนวทาง พร้อมเป็นตัวอย่างที่ดีของการเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย

กล่าวโดยสรุป

ประชาธิปไตยที่ดีงามมิใช่สร้างจากผู้ใหญ่หรือผู้มีอำนาจในสังคมเท่านั้น การปลูกฝังความเป็นประชาธิปไตยให้กับเด็ก จะเป็นพื้นฐานของประชาธิปไตยที่ยั่งยืน หากเราต้องการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

ผศ.ดร.สมหมาย จันทร์เรือง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image