พระราชพิธีอันยิ่งใหญ่ มหามงคลของแผ่นดิน โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตามพระราชประเพณี เพื่อความเป็นสวัสดิมงคลของประเทศชาติ และราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 4-5-6 พฤษภาคม พ.ศ.2562

ในช่วงชีวิตของมนุษย์แต่ละคน จะได้พบประสบเจอ ได้ยิน ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์สำคัญแตกต่างกันไป โลกหมุนไป เวลาผันผ่าน ไม่เคยมีอะไรหยุดนิ่ง แต่ละชนชาติ ทุกชนเผ่าในโลก ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์กระทั่งปัจจุบัน มีจารีตประเพณีเป็นของตนเอง มีที่มาที่ไป น่าเรียนรู้ น่าสนใจยิ่งนัก

ภาพเก่า…เล่าตำนาน ตอนนี้ ขอนำข้อมูลอันวิจิตรบรรจง ความสง่างาม น่าเกรงขามตั้งแต่โบราณกาล เรื่องของ พิธีบรมราชาภิเษก ในบางส่วน-บางช่วง มาพูดคุย เพื่อสังคมไทยชื่นชม เรียนรู้ ติดตาม เข้าใจพระราชพิธีอันยิ่งใหญ่ของแผ่นดินนี้ครับ…

…พระราชพิธีบรมราชาภิเษก สันนิษฐานว่าประเทศไทยได้รับรูปแบบมาจากพิธีราชสูยะ ราชสูยะ (พิธีราชาภิเษกของอินเดียโบราณ) ซึ่งมีอิทธิพลทางความคิดต่อราชสำนักและวัฒนธรรมไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

Advertisement

เป็นพิธีที่จัดขึ้นเพื่อรับรองฐานะความเป็นประมุขของรัฐอย่างเป็นทางการ

ปรากฏหลักฐานครั้งแรกในประวัติศาสตร์ในศิลาจารึกวัดศรีชุมของพญาลิไทแห่งกรุงสุโขทัย สมัยที่พ่อขุนผาเมือง ได้อภิเษกให้พระสหายคือ พ่อขุนบางกลางหาว เป็นพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ผู้ครองกรุงสุโขทัย แต่ไม่ปรากฏรายละเอียดการประกอบพระราชพิธี

เมื่อย่างเข้าสู่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ครั้นเมื่อกรุงศรีอยุธยาต้องเพลี่ยงพล้ำในการศึกครั้งที่ 2 พ.ศ.2310 หลักฐานต่างๆ มีการสูญหายทั้งหมด ทำให้ความรู้ในเรื่องนี้มีน้อย ดังคำกล่าวของสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่กล่าวไว้ในหนังสือพระราชพงศาวดาร ดังนี้

Advertisement

“ตำราราชาภิเษกครั้งกรุงเก่าก็สูญเสียแก่พม่า ถ้าจะมีตำราอะไรที่เหลืออยู่ ซึ่งหาได้ในครั้งกรุงธนบุรีนั้น ก็มีอยู่ฉบับเดียว จมื่นไวย
วรนาถแต่งไว้ว่าด้วยจดหมายเหตุ เรื่องบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ

ลักษณะการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่ทำครั้งนั้น มีสวดมนต์เลี้ยงพระ 3 วัน เวลาเช้าสรงมุรธาภิเษก ทรงเครื่องแล้ว เสด็จประทับพระที่นั่งอัฐทิศแต่ทิศเดียวพระมหาราชครูพราหมณ์ กราบบังคมทูลถวายสิริราชสมบัติแล้วสวดเวทถวายไชยมงคล เป็นเสร็จการเพียงเท่านั้น ไม่ได้ตั้งพระที่นั่งอัฐทิศ และไม่ได้ถวายเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ พิธีที่ทำเต็มตำรามาทำครั้งสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรราชา รับราชสมบัติต่อรัชกาลสมเด็จพระบรมโกศ แต่ไม่ได้มีตำราจดไว้ หรือจดไว้แต่สูญหายไปเมื่อเสียกรุงเก่า…”

ในสมัยกรุงธนบุรี สันนิษฐานว่าทำแบบอย่างครั้งสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ แต่ทำพอสังเขป เพราะในระยะนั้นอยู่ในระยะสงครามบ้านเมืองยังไม่สงบเรียบร้อย ถึงสมัยรัตนโกสินทร์เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 1 เสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงสร้างพระราชวังขึ้นใหม่ทางฝั่งตะวันออกของพระราชวังกรุงธนบุรี และทำพระราชพิธีปราบดาภิเษกก่อน

ต่อมาจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชการและพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ซึ่งรู้แบบแผนเก่าทำตำราบรมราชาภิเษกขึ้น

เมื่อ พ.ศ.2325 รัชสมัยในหลวง ร.1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ขึ้นเสวยราชสมบัติ ได้ทรงทำพระราชพิธีนี้แบบสังเขป ครั้งหนึ่งก่อน ต่อมาทรงตั้งคณะกรรมการ โดยมีเจ้าพระยาเพชรพิชัย ซึ่งเป็นข้าราชการในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นประธาน เพื่อศึกษาแบบแผน รูปแบบโดยละเอียด มีการบันทึกเป็นหลักฐาน

เมื่อ พ.ศ.2328 ในหลวง ร.1 ทรงทำพิธีบรมราชาภิเษก “เต็มรูปแบบ” ตามตำราอีกครั้งหนึ่ง และได้ใช้เป็นแบบแผนในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของรัชกาลต่อมา ซึ่งแต่ละรัชกาลก็ได้ปรับปรุงแก้ไขรายละเอียดเล็กน้อย ให้เหมาะแก่กาลสมัย

ในรัชสมัยในหลวง ร.4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงศึกษาโบราณราชประเพณีโดยละเอียด ได้ทรงตรวจสอบคำกราบบังคมทูลของพราหมณ์และราชบัณฑิต ทำให้ทราบเพิ่มเติมว่า พระราชพิธีนี้มีคติที่มาจากลัทธิพราหมณ์ ผสมกับความเชื่อทางพุทธศาสนา

รัชสมัยในหลวง ร.6 มีพิธีบรมราชาภิเษก 2 ครั้ง ครั้งแรก พุทธศักราช 2453 ทำพิธี ณ พระที่นั่งในหมู่พระมหามณเฑียร ครั้งที่ 2 พุทธศักราช 2454 ทำพิธี ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

เมื่อ พ.ศ.2493 มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในหลวง ร.9 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สำนักพระราชวังได้ยึดการบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 7 เป็นหลัก แต่ปรับปรุงให้เหมาะสมกับสภาพบ้านเมืองที่เพิ่งผ่านพ้นสงครามโลกครั้งที่ 1

ขั้นตอนในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกกระทำสืบต่อมาจนถึงรัชสมัยในหลวง ร.9 ยึดแบบแผนตามตำราบรมราชาภิเษกครั้งในหลวงรัชกาลที่ 1 เป็นหลัก มีการเปลี่ยนแปลงข้อปลีกย่อยบางอย่างบ้างเล็กน้อย

ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2493 อันเป็นวันประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในหลวง ร.9 หลังการทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ต่างๆ แล้ว พระราชครูวามเทพมุนีถวายพระพรชัยด้วยภาษามคธ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการตอบ พระราชอารักขาแด่ประชาชนชาวไทย ด้วยภาษาไทยว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

สถานที่ประกอบพระราชพิธีในสมัยในหลวง ร.1 ทรงประกอบพิธีที่พระที่นั่งอมรินทราภิเษก ในหลวง ร.2 ทรงทำพิธีบรมราชาภิเษกที่พระที่นั่งในหมู่พระมหามณเฑียร และในรัชกาลต่อมาก็ทำพิธีที่พระที่นั่งในหมู่พระมหามณเฑียรเช่นกัน

ในประเทศที่มีสถาบันกษัตริย์เป็นประมุข นอกจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว ยังมีการจัดพระราชพิธีเฉลิมฉลองในวาระครบรอบการครองสิริราชสมบัติ (ครองราชย์) เพื่อแสดงถึงพระปรีชาสามารถและการดำรงพระองค์ที่มั่นคงยืนนาน คำศัพท์ที่น่าสนใจ ที่เกี่ยวข้องกับการเฉลิมฉลองครบรอบกับพิธีบรมราชาภิเษก

ครบรอบ 25 ปี เรียกว่า รัชดาภิเษก (Silver Jubilee)

ครบรอบ 50 ปี เรียกว่า กาญจนาภิเษก (Golden Jubilee)

ครบรอบ 75 ปี เรียกว่า พัชราภิเษก หรือ วชิราภิเษก (Diamond Jubilee)

การครองราชย์ครบ 75 ปี อาจเป็นระยะเวลาที่ยาวไกล ในบางประเทศจึงถือเอาครบรอบ 60 ปี แทน 75 ปี ดังเช่นรัฐบาลประเทศอังกฤษเคยจัดพระราชพิธีเฉลิมฉลองการครองราชย์ครบ 60 ปี ของพระราชินีวิคตอเรีย เรียกว่า Diamond Jubilee ในปี พ.ศ.2440 (ค.ศ.1897) ซึ่งตรงกับกลางรัชสมัยของแผ่นดินในหลวง ร.5 ของสยาม

เรื่องของระยะเวลาในการครองราชย์ เคยมีพระราชพิธีเฉลิมฉลองเนื่องในวาระสำคัญ สยามประเทศเคยจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ.2436 ในวาระที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ครบ 25 ปี พระราชทานชื่อว่า รชฎาภิเษก

จัดพระราชพิธีเป็น 2 วาระ คือ วาระแรกโปรดให้จัดที่พระราชวังบางปะอิน เนื่องในวันครบรอบ 25 ปี ที่พระองค์เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติตรงกับวันอาทิตย์ที่ 1 ตุลาคม ร.ศ.112 (พ.ศ.2436) วาระที่สองโปรดให้จัด ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยและพระที่นั่งไพศาลทักษิณ เนื่องในวันครบรอบ 25 ปี นับแต่วันประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตรงกับวันอังคารที่ 5 ธันวาคม ร.ศ.112 (พ.ศ.2436)

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นการเฉลิมพระเกียรติว่าเป็นพระราชาธิบดีหรือพระมหากษัตริย์ของประเทศนั้นโดยสมบูรณ์ จึงมีความสำคัญสำหรับประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เพื่อแสดงความผูกพันกับแผ่นดินและประชาชน

ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จะมีคำศัพท์ตามบันทึกไว้ในตำราเป็น “คำศัพท์ในพระราชพิธี” ที่ผู้เขียนขอนำมาเสริมการรับรู้ พอเป็นตัวอย่างดังนี้ครับ

เลียบพระนคร เป็นคำกริยา หมายถึง เสด็จพระราชดำเนินรอบพระนครภายหลังบรมราชาภิเษกแล้ว หรืออาจจะใช้คำว่า เลียบเมือง

อัฐทิศ ชื่อพระแท่นรูป 8 เหลี่ยม ที่พระมหากษัตริย์ประทับเพื่อรับการถวายราชสมบัติในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เรียกเต็มว่า พระที่นั่งอัฐทิศ-อุทุมพรราชอาสน์

อัษฎายุธ หรือ อัษฎาวุธ คือ เครื่องราชูปโภคหมวดพระแสง มี 8 อย่าง คือ

1.พระแสงหอกเพชรรัตน์ 2.พระแสงดาบเชลย 3.พระแสงตรี 4.พระแสงจักร 5.พระแสงดาบและเขน 6.พระแสงธนู 7.พระแสงง้าวมีขอแสนพลพ่าย 8.พระแสงปืนคาบชุดข้ามแม่นํ้าสะโตง

เครื่องต้น เครื่องทรงสำหรับพระมหากษัตริย์ในพระราชพิธี เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เรียกเต็มว่า ฉลองพระองค์เครื่องต้น เครื่องทรงสำหรับพระพุทธรูป ซึ่งมีลักษณะอย่างเครื่องทรงพระเจ้าจักรพรรดิ เช่น พระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญบรมไตรโลกนาถ วัดหน้าพระเมรุราชิการาม

มูรธาภิเษก น้ำพระพุทธมนต์และเทพมนตร์สำหรับถวายพระมหากษัตริย์เพื่อสรงในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกหรือพระราชพิธีอื่นๆ

นพปฎลมหาเศวตฉัตร ฉัตร 9 ชั้น เป็นฉัตรชั้นสูงสุดสำหรับพระมหากษัตริย์ ทำด้วยผ้าขาวขลิบทอง ใช้กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งผ่านพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว

พระมหาเศวตฉัตร ฉัตร 9 ชั้น เป็นฉัตรชั้นสูงสุดสำหรับพระมหากษัตริย์ ทำด้วยผ้าขาวขลิบทอง ใช้กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งผ่านพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว

พระสัปตปฎลเศวตฉัตร คือ ฉัตร 7 ชั้น คือฉัตรขาวมีลักษณะเหมือนพระนพปฎลมหาเศวตฉัตรทุกประการเพียงแต่ลดจำนวนชั้นลงเหลือ 7

ส่วนหมายกำหนดการพระราชพิธี ที่ประกาศโดยสำนักพระราชวังเมื่อ 1 มกราคม 2562 มีดังนี้ครับ :

วันที่ 4 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562 พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และเสด็จออกมหาสมาคม พระบรมวงศานุวงศ์ คณะองคมนตรี คณะรัฐมนตรี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล จากนั้น พระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร

วันที่ 5 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562 พระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย และสถาปนาฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศานุวงศ์ จากนั้น เสด็จเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค

วันที่ 6 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562 เสด็จออก ณ สีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท พสกนิกรเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล จากนั้น เสด็จออก ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท คณะทูตานุทูต และกงสุลต่างประเทศ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล

ส่วนการเสด็จเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้มีขึ้น ในช่วงการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ปลายปีพุทธศักราช 2562

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นพระราชพิธีที่สำคัญยิ่ง เต็มไปด้วยความศักดิ์สิทธิ์ สง่างาม และแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมอันละเอียดอ่อนงดงาม และเป็นการเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ทรงพระเกียรติอันสูงส่ง สมกับที่เป็นหลักชัย เป็นมิ่งขวัญของปวงชนชาวไทยไปตลอดกาลนาน…

ทรงพระเจริญ

พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

ข้อมูลจาก : ไทย-ไทย: พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 และ https://dict.longdo.com/ และ ภาพจาก ข่าวสด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image