ปาบึก-ต้องทบทวน

หลังจากความใจหายใจคว่ำของคนไทย ที่ห่วงใยพี่น้องชาวใต้ หลังมีข่าวพายุป่าบึกเข้าถล่มภาคใต้ เกิดฝนตกหนัก ลมแรง น้ำท่วมหลายพื้นที่ เมื่อเช้าวันที่ 5 มกราคม กรมอุตุนิยมวิทยา ออกแถลงการณ์ระบุว่า พายุโซนร้อน “ปาบึก” (PABUK) อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชั่นแล้ว มีศูนย์กลางอยู่ที่บริเวณ อ.ทับปุด จ.พังงา มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 55 กม./ชม. เคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือ และเคลื่อนลงทะเลอันดามันตั้งแต่เวลา 09.00 น.

อย่างไรก็ตาม ยังมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบริเวณ จ.เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่ โดยจะมีผลกระทบต่อไปอีก 1 วัน ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีกำลังแรง โดยทะเลมีคลื่นสูง 3-5 เมตร ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันออกระวังอันตรายจากลมแรง และคลื่นลมแรงที่พัดเข้าหาฝั่ง ชาวเรือควรงดการเดินเรือต่อไปอีก 1 วัน

หลังเหตุการณ์ หลายหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชน ได้ระดมเครื่องไม้เครื่องมือ และอาหาร น้ำ เข้าช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบภัย ขณะที่อีกหลายหน่วยงาน ทั้งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) การรถไฟฯ (รฟท.) ต่างเข้าซ่อมแซมสายไฟฟ้า เสาไฟฟ้า ระบบสื่อสาร ไปจนถึงทางรถไฟ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการช่วยเหลือ และการไปมาหาสู่ของประชาชน

การช่วยเหลือระหว่างเหตุการณ์ หรือหลังเหตุการณ์ก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่เรื่องที่ควรทบทวน หรือจัดระเบียบ    ให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น ได้แก่ การพยากรณ์ล่วงหน้า การคาดการณ์ต่างๆ ล่วงหน้า จะต้องมีการพัฒนาให้แม่นยำมากขึ้น ระยะหลังภัยธรรมชาติมีความรุนแรง หลายครั้งสร้างความเสียหายอย่างหนักต่อชีวิตทรัพย์สิน ขณะที่เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ก็ทำงานได้ผลมากขึ้น สำหรับกรณี “ปาบึก” การคาดการณ์หรือเตือนภัย กระชั้นชิดเกินไปจนชาวบ้านบางพื้นที่ตั้งตัวไม่ทัน เกิดความเสียหายแก่ชีวิตทรัพย์สิน และเรื่องนี้น่าจะเป็นอุทาหรณ์ในการทำงานสำหรับเจ้าหน้าที่ต่อไปด้วย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image