โครงร่างตำนานคน : ‘สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์’ อนาคตกัญชาไทย : โดย การ์ตอง

ความคึกคักอันเกิดจาก “คณะรัฐมนตรี” มีมติให้เปลี่ยน “กระท่อม” กับ “กัญชา” จากยาเสพติดร้ายแรง มาเป็น “สมุนไพรที่จะพัฒนาเป็นยา” นั้น มีประเด็นที่ชวนให้สนใจไม่น้อย

เพราะเป็นพืชที่อยู่คู่กับชีวิตคนไทยมายาวนาน แม้จะถูกตราให้เป็น “ยาเสพติดร้ายแรง” มายาวนาน แต่ลึกลงไปในความเป็นอยู่ของคนไทย โดยเฉพาะคนในชนบทห่างไกล ทั้ง “กระท่อม” และ “กัญชา” ยังเป็นพืชที่ไม่เคยสูญพันธุ์ไป ยังมีคนปลูก และนำมาใช้ ทำให้ดำรงพันธุ์อยู่ได้ตลอดมา แม้จะเป็นการปลูกอย่างหลบๆ ซ่อนๆ และเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดีร้ายแรงก็ตาม

เมื่อคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้เป็น “พืชเพื่อการพัฒนามาเป็นยา” จึงเป็นเรื่องน่าสนใจว่าพืชพันธุ์ที่ชาวบ้านในชนบทเสี่ยงคุกเสี่ยงตะราง รักษาไว้ไม่ให้สูญพันธุ์นั้น ที่สุดแล้วจะเป็นประโยชน์กับใคร

ข้อมูลจากความเคลื่อนไหวของ “มูลนิธิชีววิถี” ที่มี วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เป็นผู้อำนวยการนั้น ชี้ให้เห็นความเสี่ยงว่า “กัญชา” จะเป็นพืชที่บริษัทต่างชาติจะไปจดลิขสิทธิ์เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา

Advertisement

อันหมายถึงทำให้ “คนไทยหมดสิทธิ” ที่จะเป็นเจ้าของ หากจะปลูกต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้บริษัทต่างชาติ

นั่นเป็นประเด็นหนึ่ง

เลยไปถึงก่อนหน้านั้น มีการแสดงความเห็นกันว่าเพราะแม้ “กัญชา” และ “กระท่อม” จะเป็นพืชที่อยู่ในข่ายพัฒนาให้เป็น “ยารักษาโรค” แต่ในความเป็นจริงยังถูกควบคุมไม่ให้ปลูกโดยทั่วไป

ดังนั้นจึงมีความเชื่อว่า ที่สุดแล้ว “กระท่อม” และ “กัญชา” จะเป็นพืชที่ถูกผูกขาดในการแสวงหาประโยชน์จากการพัฒนาโดยบริษัทเอกชน

สำหรับประชาชนถูกกันไว้วงนอก

และนี่เองที่จะก่อปัญหาใหม่ขึ้นมาในสังคมไทย เนื่องจากไม่ว่าพืชที่อยู่คู่ผืนดินไทยมายาวนาน และถือว่าเป็นพันธุ์ที่มีคุณภาพที่สุดในโลก โดยชาวบ้านทั่วไปแอบซ่อนดำรงรักษาพันธุ์ไว้ จะกลายเป็น “ลิขสิทธิ์ของต่างชาติ” หรือเป็น “สัมปทานของนายทุน” ย่อมเท่ากับไม่เป็นธรรมกับชาวบ้านทั่วไป

ภารกิจของรัฐบาลคือ จะรับมือกับปัญหานี้อย่างไร

เรื่องบริษัทต่างชาติจดลิขสิทธิ์ เป็นกลไกของระบบการค้าเสรีที่ยากปฏิเสธ มีแต่ต้องเตรียมการรับมือไว้แต่เนิ่น เพื่อป้องกันการถูกฮุบพันธุ์พืชที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติของผืนดินไทย

เรื่อง “สัมปทานให้บริษัทเอกชน” เป็นเรื่องความอ่อนไหวของการควบคุมระหว่าง “ยาเสพติด” กับ “การพัฒนาเป็นยา”

จำเป็นอย่างยิ่งต้องใส่ใจอย่างจริงจัง โดยเห็นแก่ประโยชน์ของคนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นการพูดไปเรื่อยเปื่อยเพื่อเอาตัวรอดไปวันๆ

และเมื่อเป็นปัญหาที่ต้องคิดการณ์ไกล จึงควรแก้ไว้แต่เนิ่นๆ

ภารกิจนี้จึงเป็นของ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่รับผิดชอบในเรื่องการค้าของประเทศ อันรวมถึงการดูแลลิขสิทธิ์ของพืชพันธุ์ต่างๆ ด้วย

ในช่วงที่การเมืองมีความยุ่งเหยิงพอสมควร และ “สนธิรัตน์” ในอีกฐานะหนึ่งเป็น “ผู้บริหารคนสำคัญ” ของ “พรรคพลังประชารัฐ”

ขณะเดียวกัน ความชัดเจนในวิธีจัดการกับ “กัญชา” และ “กระท่อม” มีความจำเป็นไม่น้อยที่จะต้องทำให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เพื่อไม่ให้เสี่ยงที่จะเกิดปัญหาดังกล่าว

และการรักษาผลประโยชน์เรื่องนี้ของประเทศเป็นคำตอบที่ประชาชนส่วนหนึ่งรอคอย

การ์ตอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image