ก.อุตฯ เคาะ 4 มาตรการทำทันทีช่วยผู้ประกอบการใต้ เผยเบื้องต้นเสียหาย 200 ล้านบ. จ.นครศรีฯ อ่วมสุด

เมื่อวันที่ 6 มกราคม ที่กระทรวงอุตสาหกรรม นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยหลังการประชุมฉุกเฉินหน่วยงานในสังกัดกระทรวงและหน่วยงานในกำกับเพื่อระดมจัดทำแพคเกจเยียวยาช่วยเหลือพี่น้องชาวใต้ รวมถึงผู้ประกอบการโรงงาน ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากพายุปาบึก ว่าจากการลงพื้นที่สำรวจของเจ้าหน้าที่ พื้นที่ที่ได้ความเสียหายมากที่สุดจากพายุปาบึก ใน 4 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช ปัตตานี สุราษฏร์ธานี และสงขลา โดยในพื้นที่มีโรงงานอุตสาหกรรมเกือบ 2,000 แห่ง ส่วนใหญ่กว่า 95% เป็นธุรกิจเอสเอ็มอี มีการจ้างงานในพื้นที่มากกว่า 2 หมื่นราย นอกจากนี้ คาดว่ายังมีวิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการรายย่อยจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบ โดยประเมินความเสียหายเบื้องต้นจากที่สำรวจแล้วมีโรงงานที่ได้รับความเสียหายราว 200 ล้านบาท แต่ยังต้องมีการติดตามสำรวจความเสียหายอีกต่อเนื่อง และได้ออก 4 มาตรการทำทันที ให้ความช่วยเหลือทันทีเพื่อซ่อมสร้างฟื้นฟู สร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการภาคใต้ทุกกลุ่มโดยเร็วที่สุด

อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม นั่งหัวโต๊ะเรียกประชุมฉุกเฉินหน่วยงานในสังกัดกระทรวงและหน่วยงานในกำกับฯ

“วันนี้เป็นวันหยุดราชการซึ่งเดิมมีภารกิจงานด้านการเมืองที่กำหนดไว้แล้วล่วงหน้า แต่ตนได้สั่งยกเลิกทั้งหมดเพราะเห็นว่าเรื่องการช่วยเหลือพี่น้องภาคใต้ที่ได้รับผลกระทบจากพายุปาบึก จำเป็นเร่งด่วนมากกว่า ดังนั้นจึงได้เรียกประชุมฉุกเฉินกับท่านปลัดกระทรวงและผู้บริหารทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงและหน่วยงานในกำกับทั้งหมด เพื่อระดมจัดทำแพคเกจเยียวยาช่วยเหลือพี่น้องชาวใต้ที่ได้รับผลกระทบครั้งนี้ให้ครอบคลุมทุกให้ทันกาล และต้องทำทันที ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมดูแลติดตามผล และจะมีการรายงานความคืบหน้าในวันที่ 8 มกราคม อีกครั้ง” นายอุตตมกล่าว

นายอุตตมกล่าวว่า มาตรการที่จะออกมาจะทำทันทีโดยมาตรการที่ไม่ใช่การเงิน ได้แก่ 1.มาตรการระดมทำความสะอาดพื้นที่โรงงานและชุมชน และซ่อมแซมเครื่องจักร โดยกระทรวงฯ ความร่วมมือเอกชน และประสานผู้ประกอบการค่ายรถต่างๆ เปิดศูนย์บริการซ่อมแซมตรวจเช็คเครื่องยนต์ให้กับเจ้าของรถยนต์ รถจักรยานยนต์ของพี่น้องประชาชน ผู้ประกอบการและบุคคลทั่วไปทุกพื้นที่ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย 2.มาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปี 5 ปีให้กับโรงงานที่ได้รับความเสียหาย

นายอุตตมกล่าวว่า 3.มาตรการทางการเงิน ได้แก่ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.หรือเอสเอ็มอีแบงก์) จะพักชำระหนี้ให้กับลูกค้าที่ได้รับความเสียหายมีวงเงินเพิ่มให้เป็นเงินทุนหมุนเวียนอีกรายละ 1-5 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเพียง 0.415% ต่อเดือน สำหรับกระทรวงอุตสาหกรรม มีกองทุนหมุนเวียนเพื่อพัฒนาวิสาหกิจชุมชน ที่สามารถให้เงินกู้ยืมฉุกเฉินรายละ 50,000 ถึง 200,000 บาทปรับลดดอกเบี้ยจาก 4% เหลือ 1% ต่อปี เตรียมวงเงินไว้ 30 ล้านบาท ทั้งนี้ ยังมีวงเงินจากโครงการฟื้นฟูและเสริมศักยภาพเอสเอ็มอี-คนตัวเล็ก ที่มีวงเงินรวม 8,000 ล้านบาท ซึ่งยังมีวงเงินเหลือที่จะนำมาให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการเพิ่มได้อีก และในส่วนของกองทุนฟื้นฟูเอสเอ็มอีจากส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม (สสว.) มีมาตรการยืดชำระหนี้ออกไปนาน 6 เดือน เป็นต้น และ 4.มาตรการต่อเนื่อง ได้แก่ การช่วยเหลือด้านการตลาดให้ผู้ประกอบการกลับมาจำหน่ายสินค้าและบริการให้มีรายได้เพิ่มขึ้น โดย สสว.มีช่องทางการตลาดสนับสนุนทั้งปกติและตลาดออนไลน์หลายเครือข่าย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจะส่งผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ลงพื้นที่ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำผู้ประกอบการทั้งวิสาหกิจชุมชนและเอสเอ็มอี นอกจากนี้ จะมีการพิจารณานำเงินทุนจากกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐที่เหลืออยู่จำนวนหนึ่งมาปรับใช้ปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการที่จำเป็นต้องลงทุนปรับปรุงสถานประกอบการโดยจะกำหนดเงื่อนไขผ่อนปรนพิเศษ

Advertisement

 

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว คลิ๊ก!

เพิ่มเพื่อน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image