เร่งเครื่องอุตฯระบบราง ลุ้น”ไพรินทร์”คลอดแผนม.ค.นี้

นายณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการผลักดันอุตสาหกรรมระบบรางให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ว่า ขณะนี้ นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เร่งผลักดันโครงการอุตสาหกรรมระบบราง เนื่องจากประเทศไทยได้เร่งขยายโครงข่ายคมนาคมระบบรางเพิ่มขึ้นมาก ทั้งโครงการรถไฟฟ้าในกรุงเทพ และในจังหวัดหัวเมืองขนาดใหญ่ และโครงการรถไฟทางคู่ทั่วประเทศ  ทำให้มีความต้องการหัวรถจักร และตู้โบกี้เป็นจำนวนมาก ซึ่งหากไทยไม่มีฐานการผลิตอุตสาหกรรมรถไฟภายในประเทศในระยะยาวซ่อม หรือสร้างดัดแปลงรถไฟของตัวเองไม่ได้เลย รวมทั้งการบำรุงรักษาระบบอาณัติสัญญาณต่างๆ ต้องพึ่งพาต่างชาติตลอดเวลา และต้องสูญเสียเม็ดเงินเพื่อนำเข้าเป็นจำนวนมากโดยที่ไทยไม่ได้เทคโนโลยีอะไรเลย

โดยแผนแม่บทการส่งเสริมอุตสาหกรรมระบบราง จะกำหนดชัดเจนว่าเทคโนโลยีหลักๆในการผลิตรถไฟ และรถไฟฟ้าต้องมีชิ้นส่วนอะไรบ้าง และมาตรการดึงดูดการลงทุนให้ผู้ผลิตต่างประเทศเข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย ซึ่งในปัจจุบันคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้ให้สิทธิประโยชน์ระดับ A1 ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี ยกเว้นอากรนำเข้าเครื่องจักร ยกเว้นอากรวัตถุดิบผลิตเพื่อส่งออก และยังมีสิทธิพิเศษอย่างอื่นที่ไม่ใช่ภาษี ให้กับอุตสาหกรรมรถไฟแล้ว แต่ยังไม่ได้กำหนดเจาะจงมาตรการส่งเสริมในชิ้นส่วนหลัก

“คาดว่าแผนแม่บทอุตสาหกรรมระบบรางจะแล้วเสร็จภายใน 1 เดือน และคณะรัฐมนตรีน่าลงนามเห็นชอบเดินหน้าโครงการภายในเดือนมกราคม2562 เพราะหากผ่านพ้นรัฐบาลนี้อุตสาหกรรมระบบรางจะเกิดยาก”นายณัฐพลกล่าว

นายณัฐพลกล่าวว่า จากการหารือกับผู้ประกอบการไทย เห็นว่าจังหวัดที่เหมาะสมในการตั้งฐานการผลิตโบกี้รถไฟ และรถไฟฟ้า น่าจะอยู่ในพื้นที่ จ.ขอนแก่น และนโครราชสีมา เพราะเป็นแหล่งต่อรถบัสที่สำคัญของไทย สามารถขยายไปสู่การต่อโบกี้รถไฟได้ไม่ยาก แต่จะต้องหารือในรายละเอียดต่อไป

Advertisement

สำหรับความต้องการตู้โบกี้รถไฟของไทยมีเป็นจำนวนมาก เพียงพอต่อการตั้งฐานการผลิต โดยจากการประเมินความต้องการของโครงการต่างๆ พบว่า โครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนขั้นต่ำมีความต้องการ 339 ตู้ แผนของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) รถจักรต้องการ 314 ตู้ รถขนส่งสินค้าต้องการ 3,460 ตู้ รถไฟความเร็วสูง 1 สาย 42 ตู้ ซึ่งทั้งหมดนี้มีจำนวนเพียงพอต่อการดึงดูดให้ต่างชาติเข้ามาตั้งฐานการผลิต หากเกิดอุตสาหกรรมนี้ในไทยจะก่อให้เกิดการลงทุนไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท ซื้อรถไฟได้ในราคาลดลง 1.7 หมื่นล้านบาท มีค่าจ้างแรงงานกว่า 2 พันล้านบาท กลับเข้าสู่ประเทศ ก่อให้เกิดการจ้างงานที่ใช้ความรู้ระดับสูงอย่างต่อเนื่อง หากกำหนดใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ จะสร้างมูลค่าเพิ่มภายในประเทศ 7 พันล้านบาท เปิดโอกาสให้ผู้ผลิตไทยเข้าสู่ห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมรถไฟระดับโลก และประหยัดค่าบำรุงรักษาและค่าจ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ 1.7 พันล้านบาทต่อปี

นายณัฐพล กล่าวว่าจากการสำรวจความคิดเห็นจากผู้ผลิตรถไฟฟ้าทั้งจากประเทศเยอร์มัน แคนาดา ฝรั่งเศส จีน อิตาลี และญี่ปุ่น ต่างมีความเห็นตรงกันว่าการตั้งโรงงานผลิตในไทยมีความเป็นไปได้ พร้อมเข้าลงทุนหากรัฐออกมาตรการสนับสนุนจริงจัง

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

Advertisement

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image