“กฎหมายทรัสต์” บริหารทรัพย์สิน รองรับสังคมสูงวัย

เมื่อโครงสร้างประชากรเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จนก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จึงต้องมีมาตรการรองรับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วนี้ โดยเฉพาะมาตรการที่จะช่วยรักษาสิทธิของผู้สูงอายุ ในการบริหารจัดการทรัพย์สินของตัวเอง
การยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุถือเป็นสิ่งสำคัญ ในการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย โดยเฉพาะการบริหารจัดการทรัพย์สินอย่างมีประสิทธิภาพ ร่างกฎหมายการบริหารทรัพย์สินผู้สูงอายุ หรือที่เรียกกันว่า “ทรัสต์” จึงได้ถูกนำมาปรับใช้ในประเทศไทย เพิ่มเติมจากกฎหมายเดิมที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพย์สินแต่ไม่มีกลไกปกป้อง หรือช่วยเหลือผู้สูงอายุที่อาจจะถูกเอาเปรียบจากบุคคลที่ทำหน้าที่บริหารจัดการทรัพย์โดยเฉพาะบุคคลใกล้ชิด

ซึ่งมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อผู้สูงอายุไทย หรือ มส.ผส สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. พบว่ากฎหมายเกี่ยวกับผู้สูงอายุยังมีช่องว่างในประเด็นเรื่องการจัดการทรัพย์สินของผู้สูงอายุ จึงได้ขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว โดยสร้างความตระหนักด้านมิติการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง และเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นกลไกการดูแลทรัพย์สินที่เจ้าของทรัพย์ไม่ต้องบริหารจัดการเอง แต่มอบหมายให้ผู้มีประสิทธิภาพ หรือมีใบอนุญาตเป็นผู้บริหารจัดการให้ และร่างพระราชบัญญัตินี้เหมาะกับผู้สูงอายุที่มีศักยภาพด้านทรัพย์สิน แต่ไม่เหมาะกับผู้สูงอายุที่ไม่มีทรัพย์สิน และต้องการคนดูแล

ขณะที่งานวิจัยเรื่อง “มุมมองจากต่างประเทศเกี่ยวกับกฎหมายบริหารทรัพย์สินเพื่อรองรับสังคมผู้สูงวัย” ได้ศึกษาแนวทางการจัดการทรัพย์สินด้วยกฎหมายทรัสต์และการกำกับดูแลการดำเนินงานของทรัสตีในประเทศอังกฤษ นิวซีแลนด์ และญี่ปุ่น ได้สรุปไว้ว่า กลุ่มผู้สูงอายุที่อาจสนใจการตั้งทรัสต์เพื่อบริหารจัดการทรัพย์สิน คือกลุ่มที่มีความรู้ความสามารถด้านการบริหารจัดการทรัพย์สินอยู่แล้ว เช่นกลุ่มเจ้าของกิจการธุรกิจทั้งขนาดกลาง และขนาดเล็ก รวมไปถึงพนักงานบริษัท หรือ ข้าราชการที่เกษียณอายุ แต่อย่างไรก็ตามกฎหมายทรัสต์ก็ยังเป็นกฎหมายใหม่ที่จะต้องสร้างความเข้าใจกับผู้สูงอายุทั้งกระบวนการ เพื่อป้องกันผู้สูงอายุที่อาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์อาจถูกหลอกลวงได้ .

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image