‘ดีป้า’ จับมือ ‘กทท.’ ดันแหลมฉบังเป็นท่าเรืออัจฉริยะ คาดเกิดรายได้กว่า 1,700 ล้าน/ต่อปี

นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาการส่งเสริมและสนับสนุน ได้มีมติให้ดีป้า เดินหน้าผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างต่อเนื่องโดยโครงการ สมาร์ท พอร์ต พอร์ทอล ซึ่งเป็นโครงการที่มีลักษณะเป็นโครงสร้างพื้นฐานในการบูรณาการข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับการส่งออกนำเข้า บริเวณท่าเรือแหลมฉบัง เนื่องจากเป็นประตูหลักของสินค้าส่งออกนำเข้าของโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และของประเทศไทย โดยสามารถบูรณาการข้อมูลการเข้าออกเรือและรายการกำหนดการส่งออกนำเข้าของแต่ละตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อกำหนดระยะเวลาการเข้าออกของรถบรรทุกคอนเทนเนอร์ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์การส่งออกนำเข้า ลดปัญหาจราจร ปัญหามลภาวะ ปัญหาสิ่งแวดล้อม และเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้เกี่ยวข้องโดยตรงรวมทั้งชุมชนโดยรอบนอกจากนี้ยังช่วยลดปริมาณรถหัวลากเที่ยวเปล่า ที่จะก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกทางเศรษฐกิจอย่างต่ำ 1,000 ล้านบาทต่อปี และเกิดผลกระทบเชิงบวกทางสังคมอย่างต่ำ 700 ล้านบาทต่อปี โดยโครงการนี้ จะเป็นโครงการนำร่องในการใช้ดิจิทัลพัฒนาสู่การเป็นท่าเรืออัจฉริยะ เพื่อการขยายศักยภาพอีอีซีต่อไป ในอนาคตอันใกล้

“ปัจจุบันบริเวณท่าเรือแหลมฉบังประสบปัญหาการจราจรติดขัด โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่เข้าเทียบท่า ทำให้บริเวณถนนทางเข้าหน้าด่านตรวจสอบสินค้าและถนนภายในการท่าเรือ มีรถบรรทุกเข้าไปทำการบรรจุสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อขนถ่ายสินค้ามายังท่าเรือ เป็นจำนวนมากก่อนที่เรือแม่จะออกจากท่า ส่งผลให้มีจำนวนรถบรรทุกตู้สินค้าบนท้องถนนในปริมาณที่มากเกินกว่าระบบถนนและระบบประตูตรวจสอบสินค้าจะรองรับได้ ซึ่งนับเป็นปัญหาใหญ่ประการหนึ่งที่มีผลกระทบต่อเนื่องกับระบบเศรษฐกิจของท่าเรือแหลมฉบังและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องรวมถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมด้านมลพิษทางอากาศและปัญหาต่อชุมชนรายรอบท่าเรือทางดีป้าจึงร่วมมือกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) แก้ปัญหาอย่างยั่งยืน เพื่อสนับสนุนภาคเอกชน ผ่านกองทุนดีป้า ร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เพื่อพัฒนาระบบท่าเรืออัจฉริยะหรือเรียกว่า สมาร์ท พอร์ต ด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลการขนส่งหลากหลายรูปแบบ ของการส่งออกและนำเข้าบริเวณท่าเรือแหลมฉบังเช่น ระบบรถบรรทุกอัจฉริยะ และกระบวนการจัดการรถขนส่งตู้สินค้า การเชื่อมโยงระบบปฏิบัติการเทอร์มินัลของท่าเรือต่างๆ ในบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง การเชื่อมต่อระบบตารางเรือกับระบบเนชั่นแนลซิงเกิ้ลวินโดว์ (เอ็นเอสดับบลิว) ของกรมศุลกากรซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มคุณภาพการให้บริการ ลดต้นทุนโลจิสติกส์ การส่งออกนำเข้า ลดต้นทุนการเสียโอกาสจากการขนส่ง ลดปัญหาจราจร  และที่สำคัญคือลดปัญหามลภาวะ ปัญหาสิ่งแวดล้อม และเพิ่มคุณภาพชีวิตของชุมชนโดยรอบ จากระบบการจัดการโลจิสติกส์ ที่ถูกพัฒนาให้ดีขึ้น” นายณัฐพล กล่าว

ร้อยตำรวจตรี มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง รักษาการแทน ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า ท่าเรือแหลมฉบังเป็นจุดขนถ่ายสินค้าสำคัญของประเทศ มีปริมาณตู้ขนถ่ายสินค้าที่เข้า-ออกภายในท่าเรือเพิ่มขึ้นทุกปี โดยจากสถิติปี 2556 – 2560 มีปริมาณตู้ขนถ่ายสินค้าเฉลี่ยกว่า 6 – 7 ล้าน TEU (หน่วยกล่องมาตรฐานสากล)/ปี และมีรถบรรทุกเข้าออกภายในท่าเรือเฉลี่ยกว่า 4 – 5 ล้านคันต่อปี เมื่อมีการเข้า-ออกของรถบรรทุกปริมาณที่มากเกินความสามารถในการรองรับของระบบประตูตรวจสอบสินค้าและด้วยการบริหารจัดการคิวที่ยังไม่เป็นระบบทำให้ท่าเรือแหลมฉบังมักประสบปัญหาการจราจรติดขัดทั้งภายในและภายนอกท่าเรือ โดยเฉพาะในช่วงที่เรือใหญ่เทียบท่าและบริเวณทางเข้าท่าเทียบเรือและบริเวณศูนย์เอกซเรย์ของศุลกากร ทาง กทท. เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาจึงได้จับมือกับดีป้าเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่เรื้อรังมาหลายปีเหล่านี้ให้หมดไป

Advertisement

“ความร่วมมือในครั้งนี้ มุ่งหวังให้ท่าเรือแหลมฉบังมีการพัฒนาระบบการบริหารจัดการท่าเรืออัจฉริยะหรือ สมาร์ท พอร์ต แห่งแรกของประเทศ ด้วยการพัฒนาและยกระดับระบบการจัดเก็บข้อมูลการส่งออกและนำเข้าสินค้าทั้งทางเรือ รถไฟและรถบรรทุก ในรูปแบบที่หลากหลาย ให้สามารถเชื่อมโยงข้อมูลได้อย่างเป็นระบบซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มคุณภาพการให้บริการ และบริหารจัดการระบบคิวเข้าออกของรถบรรทุกอย่างชาญฉลาดอย่างยั่งยืน ช่วยเพิ่มความคล่องตัวของการจราจรภายในท่าเรือและพื้นที่โดยรอบ ซึ่งทั้งกทท.และ ดีป้า หวังให้การร่วมมือกันครั้งนี้ช่วยยกระดับมาตรฐานการบริหารจัดการท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อผลักดันประเทศสู่การเป็นไทยแลนด์ 4.0 ต่อไป” ร้อยตำรวจตรี มนตรี กล่าว

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image