ชาวบ้านร้องตรวจสอบ โรงงานยางเครปเหม็น-ปล่อยน้ำเสีย อุตอุดรฯสั่งปรับปรุง

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 11 มกราคม ที่ศาลาประชาคมบ้านป่าก้าว หมู่ 6, 12 ต.ผักตบ อ.หนองหาน นายคำปลาย คำแพงราช อดีต ผอ.โรงเรียนบ้านผักตบ นำชาวบ้านกว่า 70 คน ที่ประท้วงต่อต้านโรงงานยางเครป บ.ปริ้นซ์ รับเบอร์ จก. เลขที่ 105 ม.12 บ้านป่าก้าว เมื่อวันที่ 7 มกราคมที่ผ่านมา เรียกร้องให้ปิดโรงงาน เพราะส่งกลิ่นเหม็นรุนแรง และระบายน้ำลงลำห้วยยาง จนน้ำเน่าไม่สามารถนำน้ำมาใช้เพื่อการเกษตรได้ เดินทางมารวมตัวรับฟังคำชี้แจงจาก นายพัดทอง กิตติวัฒน์ อุตสาหกรรม จ.อุดรธานี

นายคำปลาย กล่าวว่า ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน ตั้งแต่โรงงานยางเครปแห่งนี้สร้างขึ้น โดยก่อนหน้าจะก่อสร้างแจ้งกับผู้นำท้องที่และชาวบ้านว่า จะสร้างโรงงานผลิตถุงมือยาง แต่กลับเป็นโรงงานยางเครป ที่สร้างความเดือดร้อนเรื่องกลิ่นเหม็น ปล่อยน้ำเสียลงลำห้วยยาง จนชาวบ้านหากินไม่ได้ ส่วนตัวอย่างน้ำที่เก็บไป ก็ไมรู้ว่าจะมีการเปลี่ยนน้ำส่งไปตรวจหรือไม่ โดยชาวบ้านต้องการให้อุตสาหกรรมจังหวัดสั่งปิดโรงงานไปเลย เพราะตั้งแต่มาสร้างโรงงาน ชาวบ้านเดือดร้อนอย่างหนัก

ด้านนายพัดทอง ชี้แจงให้ชาวบ้านที่มาร่วมรับฟังว่า มีหนังสือแจ้งถึงโรงงานยางเครป บ.ปริ้นซ์ รับเบอร์ จำกัด ให้ปรับปรุงแก้ไขโรงงาน จากการตรวจสอบโรงงานพบว่าระบบบำบัดน้ำเสียมีสภาพที่ก่อให้เกิดกลิ่นเหม็น, มีการกองวัตถุดิบคือยางก้อนถ้วยไว้ที่ลานพื้นคอนกรีตโล่งกว้าง ทำให้กินเหม็นฟุ้งกระจายทั่วพื้นที่โรงงาน และพื้นที่ใกล้เคียง ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนที่อยู่ใกล้โรงงาน จึงมีคำสั่งให้ บ.ปริ้น รับเบอร์ จำกัด ปฏิบัติตามมาตรการควบคุม และป้องกันกลิ่นเหม็นที่เกิดจากกองวัตถุดิบ (ยางก้อนถ้วย) บนลานคอนกรีตโล่งกว้างและระบบบำบัดน้ำเสียของโรงงานให้แล้วเสร็จภายใน 28 กุมภาพันธ์ 2562 หากไม่เห็นด้วยกับคำสั่งฉบับนี้ สามารถอุทธรณ์หรือโต้แย้งคำสั่งนี้ ให้ยื่นอุทธรณ์หรือโต้แย้งคำสั่งดังกล่าวต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสากรรม ภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่รับทราบคำสั่ง และการอุทธรณ์หรือโต้แย้งคำสั่งไม่เป็นการทุเลาการปฏิบัติตามคำสั่ง นอกจากนี้อุตสาหกรรม จ.อุดรธานี ได้ออกหนังสือแนะนำและขอความร่วมมือในการดำเนินการ 1.จัดหามาตรการป้องกันความเสี่ยงที่น้ำเสีย จากโรงงานไหลลงสู่พื้นที่ภายนอกและการรั่วซึมของน้ำเสียภายในโรงงานทั้งหมด 2. จัดหามาตรการจัดการกากตะกอนจากระบบบำบัดน้ำเสีย เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่น้ำเสียจากกาดตะกอนจะไหลชะลงสู่พื้นดิน 3. รื้อถอนท่อพลาสติกเกี่ยวกับการระบายน้ำเสียออกนอกโรงงานทั้งหมด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านต่างแสดงความไม่พอใจ เพราะต้องการให้ปิดโรงงานอย่างเดียว พร้อมตะโกน โห่หาว่าอุตสาหกรรมจังหวัดเข้าข้างนายทุน แต่ก็สงบลงหลังจากชี้แจงอำนาจตามกฎหมาย และร่วมกันออกไปยังโรงงาน เพื่อร่วมกับชาวบ้านเก็บตัวอย่างน้ำไปตรวจวิเคราะห์ใหม่ ทั้งในและนอกโรงงาน ซึ่งทางนายพัดทองได้ลงไปในลำห้วยยาง ใช้มือวักน้ำขึ้นมาให้ชาวบ้านดูว่า น้ำในห้วยยางไม่ได้เน่า แต่ที่มีสีดำคล้ำบางจุด เนื่องจากน้ำไม่มีการระบาย และมีวัชพืชขึ้นมา จนเน่าส่งกลิ่นเหม็น โดยจะทราบผลการตรวจวิเคราะห์น้ำใน 20 วัน

Advertisement

นายพัดทอง เปิดเผยว่า ได้สั่งให้แก้ไขระบบบำบัดน้ำเสีย รื้อท่อที่มุดออกจากตัวโรงงาน ที่สุมเสี่ยงทำให้น้ำเล็ดลอดจากโรงงาน ทั้งน้ำดี-น้ำเสียเอาออกให้หมด และให้หาวิธีในการบำบัดกลิ่น เบื้องต้นให้นำผ้าใบมาคลุมกองยางทั้งหมด ซึ่งยางที่เหลืออยู่ในโรงงานเป็นยางเครป ไม่มียางก้อนถ้วย ซึ่งทางโรงงานจะเร่งนำยางเครปส่งไปยังโรงงาน แต่ต้องรอให้ยางเครปแห้งกว่านี้ คาดว่าอีก 1-2 วันยางชุดนี้จะหมด โดยโรงงานต้องการหยุดปรับปรุงโรงงาน ซึ่งจะต้องใช้เวลานานเพราะมีขั้นตอน และต้องเพิ่มวัสดุอุปกรณ์มากพอสมควร แต่สิ่งที่ทางโรงงานทำได้เลย คือ หากมีการรับยางก้อนถ้วยเข้ามาในโรงงานอีก จะต้องหาผ้าใบคลุมปิดให้มิดชิด อย่างน้อยที่สุดก็กันกลิ่นไม่ให้กระจายไปตามอากาศ

“เมื่อถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ต้องดูเจตนาของโรงงานว่า เขาทำหรือยัง หรือทำแล้วแต่ยังไม่เสร็จ ก็สามารถขยายเวลาออกได้ แต่หากทางโรงงานไม่มีการดำเนินการแก้ไขอะไรเลย เราก็สามารถใช้คำสั่งตามมาตรา 39(1) คือ สั่งหยุดชั่วคราวเฉพาะส่วนที่มันเป็นปัญหา โดยเฉพาะที่บ่อรับน้ำเซรั่ม ที่รีดออกมาจากยางก้อนถ้วย ได้สั่งให้โรงงานกำจัดกากตะกอน ซึ่งต้องเป็นผู้มีการจดทะเบียนทำลายกากอุตสาหกรรม ในประเภทอุตสาหกรรม 101 ”

อุตสาหกรรม จ.อุดรธานี เปิดเผยว่า กล่าวด้วยว่า โรงงานต้องขุดบ่อป้องกันการรั่วซึม ทำผนังคอนกรีต บ่อต้องปูพลาสติก พีอี.กันซึมลงพื้นดิน เพื่อรอการกำจัด โดยทางโรงงานรับที่จะทำตามที่เราแนะนำทุกอย่าง เพียงแต่ว่าพื้นที่โรงงานเขาขยายไม่ได้ เราก็แนะนำให้ซื้อที่ดินที่ติดกัน แต่ตอนนี้ติดปัญหาเรื่องราคายังตกลงกันไม่ได้ เพราะหากโรงงานหากอยากทำต่อก็ต้องมีสิ่งเหล่านี้ ทั้งนี้เราก็เห็นใจทั้งผู้ประกอบการและชาวบ้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า โรงงานยางเครปของ บ.ปริ้น รับเบอร์ จก. ถูกชาวบ้านร้องเรียนติดต่อกันหลายครั้ง นับตั้งแต่โรงงานยางแท่งลดการซื้อ “ยางก้อนถ้วย” หันมาสั่งซื้อ “ยางเครป” เพื่อลดปัญหากลิ่นเหม็นของยางก้อนถ้วย และน้ำเซรั่ม ทั้งนี้การตรวจสอบมีคำสั่งให้ปรับปรุงมาแล้ว 3 ครั้ง แต่ก็ยังมีปัญหากลิ่นเหม็น จนครั้งนี้ชาวบ้านรวมตัวมาประท้วง ยกป้ายปราศรัยต่อต้านหน้าโรงงาน และวันนี้ได้เก็บตีวอย่างน้ำ พร้อมกับอุตสาหกรรม เพื่อส่งตรวจคู่ขนานกับทางราชการด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image