ช่องว่างกฏหมาย “ผู้สูงวัย” เสี่ยงถูกละเมิดสิทธิ

ผู้สูงอายุถือเป็นวัยที่มีความเปราะบางทั้งด้านสุขภาพและด้านจิตใจ และยังเป็นวัยที่มีความเสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิ และถึงแม้ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่งสังคมผู้สูงอายุแล้ว แต่ในขณะนี้ยังไม่มีกฏหมายที่คุ้มครองผู้สูงอายุโดยเฉพาะ อาจส่งผลให้ผู้สูงอายุถูกละเมิดสิทธิส่วนบุคคลได้

มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อผู้สูงอายุไทย หรือ มส.ผส. สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. พบว่าจากบริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้จำนวนผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่คนเดียว หรือ ไม่มีลูกหลาน มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับผู้สูงอายุมีความเปราะบางทางสุขภาพเนื่องจากความชราส่งผลให้ช่วยเหลือตัวเองได้ไม่เต็มที่ และเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ง่ายต่อการถูกละเมิดสิทธิในรูปแบบต่างๆ เช่น การถูกทำร้ายทางจิตใจ การถูกทอดทิ้ง การดูแลที่ไม่เหมาะสม การทำร้ายร่างกาย หลอกลวงเอาทรัพย์สิน รวมทั้งหลอกใช้เป็นเครื่องมือในการทำธุรกรรมเกี่ยกับทรัพย์สินต่างๆ ซี่งส่วนใหญ่ผู้ก่อเหตุมักจะเป็นบุคคลในครอบครัว หรือ บุคคลใกล้ชิดผู้สูงอายุเอง

แม้ผู้สูงอายุจะมีความเสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิ แต่ในประเทศไทยกลับพบว่ายังไม่มีกฏหมายที่คุ้มครองผู้สูงอายุอย่างแท้จริง โดยพบว่าบทบัญญัติเกี่ยวกับผู้สูงอายุจะกระจัดกระจายอยู่ในกฏหมายหลายฉบับ เช่น พระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 ที่ให้ประโยชน์แก่ผู้สูงอายุในบางประเด็นเท่านั้น แต่ไม่ครอบคลุมถึงการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิ ,พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 ก็ไม่สามารถใช้ได้อย่างเต็มที่เนื่องจากตัวผู้สูงอายุอาจปฏิเสธความช่วยเหลือ กรณีลูกหลานเป็นผู้กระทำผิด รวมไปถึงกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เกี่ยวกับสถานะบุคคลที่ให้ความคุ้มครองบุคคลไร้ความสามารถที่จะต้องอยู่ในความดูแลของผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ตามคำสั่งศาล ซึ่งกรณีนี้ก็ไม่สามารถทราบได้ว่าบุคคลที่ไปร้องขอต่อศาลมีเจตนาดี หรือมีเจตนาอื่นแอบแฝง เนื่องจากขาดการกำกับดูแลผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์ว่าได้ทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุอย่างเหมาะสมหรือไม่

ด้านมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อผู้สูงอายุไทย หรือ มส.ผส. สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. จึงได้สรุปแนวทางขับเคลื่อนนโยบายป้องกันผู้สูงอายุถูกละเมิดสิทธิ ประกอบด้วย มาตรการทางกฎหมาย ที่จะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขให้ครอบคลุมผู้สูงอายุมากขึ้น ,มาตรการทางสังคม ที่ทำหน้าที่ช่วยขับเคลื่อนกลไกให้มีประสิทธิภาพ และสิ่งสำคัญจะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้มีความต่อเนื่องและยั่งยืนด้วย.

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image