นักวิชาการจุฬาฯ ชี้การเผาไหม้-ปัจจัยธรรมชาติ เหตุฝุ่นขนาดเล็ก จี้คุมเข้มรถยนต์

 

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 15 มกราคม ที่ห้องประชุมสารนิเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดงานแสดงทรรศนะโดยคณาจารย์ นักวิชาการจุฬาฯ และผู้ทรงคุณวุฒิ ในหัวข้อ  “จุฬาฯ ฝ่าวิกฤตรับมือฝุ่น PM 2.5” เพื่อไขข้อข้องใจในประเด็นเกี่ยวกับฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ทั้งสาเหตุการเกิด การเฝ้าระวังและติดตาม การป้องกันภัย พร้อมทั้งนำเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาในปัจจุบันและอนาคต โดยมีวิทยากร 4 ท่าน ได้แก่ รศ.ดร.ศิริมา ปัญญาเมธีกุล อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม จุฬาฯ รศ.ดร.มาโนช โลหเตปานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันการขนส่ง จุฬาฯ รศ.ดร.กุลยศ อุดมวงศ์เสรี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาฯ ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม รองอธิการบดีด้านวิจัย จุฬาฯ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคภูมิแพ้ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมแสดงทรรศนะ และเสนอแนวทางแก้ปัญหา

รศ.ดร.ศิริมากล่าวว่า ที่มาของการสะสม PM 2.5 ในบรรยากาศ เกิดจาก 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1.แหล่งกำเนิดการเผาไหม้ เช่น การผลิตไฟฟ้า การขนส่ง อุตสาหกรรม และ 2. เกิดจากปัจจัยทางธรรมชาติ ที่ควบคุมไม่ได้ เพราะช่วงปลายฝนต้นหนาวอากาศจะปิด อากาศจึงไม่สามารถระบายทางแนวดิ่งได้ ประกอบกับการที่กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่มีตึกสูงล้อมรอบ การที่ไม่มีลมระบายอากาศทางแนวนอน จึงทำให้มลพิษจากที่ควรจะลอยขึ้นหรือกระจายออกด้านข้างก็กระจุกตัวอยู่

 

Advertisement

“PM 2.5 เกิดขึ้นมานานแล้ว ทั้งปีเฉลี่ยประมาณ 20 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่เพราะเราเพิ่งมีและเห็นหลักฐานเชิงประจักษ์ในเรื่องความเข้มข้นจึงยังไม่ตระหนักเท่าตอนนี้ โดยปลายฝนต้นหนาวของทุกปีกราฟจะขึ้นและลง ด้วยมาตรการที่มีตอนนี้จึงต้องใช้เวลาพอสมควรในการแก้ปัญหา”รศ.ดร.ศิริมากล่าวและว่า ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเช่นผู้ป่วยโรคปอดเรื้อรัง โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหอบหืดไม่ควรออกจากบ้าน หากจำเป็นควรใช้หน้ากากป้องกัน PM 2.5 แต่ต้องสวมให้ถูกวิธีหากต้องสวมหน้ากากเป็นเวลานานควรเลือกหน้ากากชนิดที่มีระบบช่วยการหายใจ โดยตรวจสอบการแนบสนิทของหน้ากากกับใบหน้าและหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง ส่วนภายในอาคารควรปรับปรุงคุณภาพอากาศภายในที่พัก โดยทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศอย่างสม่ำเสมอ ปลูกต้นไม้ สัญจรโดยการเดินทางเท้าและจักรยาน หรือใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ส่วนรถยนต์ก็ควรหมั่นบำรุงรักษาเครื่องยนต์หรือเลือกใช้เชื้อเพลิงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อลดผลกระทบจากการปล่อยไอเสีย โดยประชาชนสามารถติดตามข่าวสารได้จากเว็บไซต์ของกรมควบคุมมลพิษ หรือแอพพลิเคชั่น AIR 4 THAI เพื่อเตรียมรับมือกับมลพิษทางอากาศ

ด้าน รศ.ดร.กุลยศกล่าวว่า โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่อยู่บริเวณรอบกรุงเทพฯและปริมณฑลส่วนใหญ่เป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง มีการปลดปล่อยมลพิษและฝุ่นที่ค่อนข้างต่ำ ส่วนโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ใช้ถ่านหิน บริเวณภาคกลางฝั่งตะวันออกจะมีระบบดักจับฝุ่นและระบบวัดการปลดปล่อยมลพิษที่ต้องรายงานหน่วยภาครัฐอยู่แล้ว ส่วนโรงงานไฟฟ้าชีวมวลและโรงไฟฟ้าขยะที่มีขนาดเล็ก ก็กระจายตัวอยู่บริเวณภาคกลาง และมีปริมาณกำลังการผลิตที่ไม่มากเมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่

“ทุกที่ๆเผาไหม้เป็นแหล่งกำเนิดฝุ่น โรงงานผลิตไฟฟ้าทั้งหมดอาจจะดูเป็นผู้ร้าย แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่ เพราะขึ้นอยู่กับเชื้อเพลิงที่ใช้และมาตรการในการจัดการ  เมื่อยกโรงไฟฟ้่ามาดูทั้งหมด กว่า 3000 เมกะวัตต์ เกือบทั้งหมดใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่ค่อนข้างสะอาด มีฝุ่นน้อย ผลกระทบจึงไม่มาก ที่มากที่สุดจะเป็นโรงไฟฟ้่าถ่านหิน อยู่ที่ภาคตะวันออก และที่น่ากังวลคือ มีโรงไฟฟ้าที่ปลดปล่อยฝุ่นอยู่เช่นกัน ส่วนโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงความร้อน ก็กระจายตัวอยู่ในภาคกลาง นอกจากนี้ยังมีโรงงานอุตสาหกรรมอีกส่วนที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงความร้อนด้วย ซึ่งการกระจายตัวของโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการใช้เชื้อเพลิงความร้อนมีแนวโน้มใกล้เคียงกับการกระจายตัวของ PM 2.5เหตุนี้ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมที่ไม่ใหญ่มากก็อาจน่ากังวลเล็กน้อย จึงควรต้องมีการวัดและเก็บข้อมูลมากกว่านี้” รศ.ดร.กุลยศกล่าว

Advertisement

รศ.ดร.มาโนชกล่าวว่า การขนส่งก็เป็นสาเหตุหลักของฝุ่น PM 2.5 ที่กำลังเป็นปัญหาในขณะนี้เพราะเกิดจากช่วงปลายฝนต้นหนาวที่อากาศปิด ทำให้ฝุ่นขนาดเล็กเหล่านี้ไม่สามารถระบายออกไปได้เหมือนช่วงเวลาอื่นโดยต้นเหตุหลักของฝุ่น PM 2.5 ในภาคขนส่งมาจากเครื่องยนต์รถที่เผาผลาญไม่สมบูรณ์ คือรถดีเซล และรถเก่าที่ไม่ได้รับการบำรุงรักษา

” แม้ว่าการขนส่งไม่ได้เพิ่มหรือลดปริมาณลง แต่ก็สร้างให้เกิดฝุ่นตลอดเวลาอยู่แล้ว ที่ยุโรปและอเมริกามีการยกระดับรถยนต์ เป็น ยูโร 5-6 แต่ไทยยังเป็นยูโร 4  ซึ่งการยกระดับนี้ต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรในการเปลี่ยนฝูงรถทั้งหมด  การแก้ไขเริ่มต้นได้ด้วยการเดินทางที่ไม่อาศัยเครื่องยนต์ เช่น การเดิน ปั่นจักรยาน แต่ก็ควรสร้างสภาวะที่เหมาะสมด้วย โดยอาจดูตัวอย่างประเทศญี่ปุ่นที่พัฒนาเรื่องการเดินเท้า ให้ควบคู่กับการส่่งเสริมการเดินทางโดยไม่ใช้รถยนต์ และเพิ่มต้นทุนการใช้รถยนต์ที่มากขึ้น  สิ่งสำคัญคือการบังคับใช้กฎหมายและมีมาตรการแก้ปัญหารถที่ไม่ผ่านเกณฑ์อย่างจริงจัง สิ่งที่ิอาจจะช่วยได้มากขึ้นคือการรายงานจากภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เรื่องการตรวจจับรถที่ไม่ผ่านสภาพ ว่าแก้ไขแล้วกี่คัน และควรเปิดเผยต่อสื่อเพื่อให้ประชาชนได้ติดตาม” รศ.ดร.มาโนชกล่าว และว่า การแก้ไขในระดับกลาง ควรส่งเสริมการใช้ขนส่งสาธารณะ ซึ่งจะสามารถแก้ปัญหาได้ทั้งรถติดและ PM 2.5 ได้ในขณะเดียวกัน ปัจจุบันมีการพัฒนาระบบส่งมวลชนระบบรางก็เป็นการลงทุนที่ดี แต่ไม่ใช่ภาพที่สมบูรณ์ เพราะปัญหาหลักคือการเชื่อมต่อระบบขนส่ง คือ จากบ้านไปสถานี และที่ทำงานมาสถานี อีกส่วนคือรถร่วมที่มีระบบโครงข่ายที่มีประสิทธิภาพ เข้าถึงง่าย แต่ยังขาดความน่าใช้ น่าเชื่อถือเพียงพอ รัฐต้องเข้ามาแก้ปัญหารวมทั้งรถของภาคเอกชน โดยควรออกมาตรการช่วยเหลือ เพราะเอกชนมีอัตราการเก็บรายได้ที่ถูกจำกัด มีต้นทุนสูง ทำให้การบำรุงรักษาไม่สมบูรณ์   อีกบทบาทคือเรามีแอพพ์ที่ส่งเสริมการเดินทางมากขึ้น แต่ยังมีบางส่วนที่ไม่ถูกกฎหมาย ก็ควรได้รับการศึกษา และแก้ปัญหาเพื่อให้ใช้ได้อย่างถูกกฎหมาย จะสามารถทำให้คนหันมาใช้รถสาธารณะมากขึ้น

รศ.ดร.มาโนชกล่าวว่า สำคัญที่สุดคือเรื่องการดูแลสุขภาพของประชาชน ที่ควรลดการเดินทาง เรื่องการหยุดเรียนก็มีส่วนช่วยแก้ปัญหาให้กับกลุ่มเด็กเล็ก วัยเรียน เพื่อให้รักษาสุขภาพ ในมุมภาคขนส่งก็จะสามารถลดจำนวนเที่ยว และ PM 2.5 บนท้องถนนได้อีกด้วย ประชาชนควรสนับสนุนขนส่งมวลชนมากขึ้น การใช้รถเชิงพาณิชย์ หรือรถที่มีควันดำก็ควรชะลอ โดยวิ่งให้น้อยลง

ด้าน ศ.นพ.เกียรติกล่าวถึงผลกระทบของ PM 2.5 ว่า PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อร่างกายในระยะสั้นคือทำให้เกิดผื่นคันทางผิวหนัง แสบเคืองตา มีอาการไอจาม แสบจมูก และอาจส่งผลให้มีอาการหอบและความดันสูงได้ ส่วนผลกระทบในระยะยาวก็เพิ่มอัตราการตายสูงขึ้นจากการเป็นมะเร็งปอด และโรคหัวใจ PM 2.5 สามารถทำลายระบบภูมิป้องกันของทางเดินหายใจและทำให้เกิดอาการอักเสบเพิ่มขึ้นที่ตา ผิวหนัง จมูก และทำลายสายพันธุกรรมของเซลล์ หากระบบซ่อมแซมผิดพลาดก็อาจทำให้เกิดมะเร็งได้ โดย PM 2.5 เล็กจนสามารถเข้าซึมเข้าระบบไหลเวียนเลือดทำให้เกิดอาการอักเสบของร่างกาย

“จมูกเรากรองฝุ่นได้ 30 ไมโครเมตร ถ้าเล็กกว่า 30 จะลงไปติดที่คอ แต่ถ้าเล็กกว่า 10 จะลงในหลอดลมแต่ ถ้าเล็กกว่า 2.5 จะลงไปที่หลอดลมฝอย ไปถึงถุงลม  เมื่อถึงถุงลมก็ดูดซึมเข้ากระแสเลือดได้ และจะเริ่มทำลายเซลล์เยื่อบุมากขึ้น เด็กเล็กถ้าเจอฝุ่นนี้ปอดจะอักเสบจากเชื่อแบคทีเรียง่าย และผู้ที่มีแนวโน้มมากคือผู้ที่สูบบุหรี่จะยิ่งสูง”

“ตัวอย่างผลกระทบของ PM 2.5 ที่อเมริกา ทุก 10 ไมโครกรัม/ตารางเมตร ของ PM 2.5 อัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งปอดของคนอเมริกาเพิ่มสูงถึงร้อยละ 20 หรือ 1.5 เท่า และเสี่ยงการเสียชีวิตจากโรคหัวใจเพิ่มขึ้น 5 เปอร์เซ็นต์ ” ศ.นพ.เกียรติกล่าว

และแนะนำวิธีป้องกันด้วยว่า การใส่หน้ากากอนามัยหากไม่แน่นก็เหมือนไม่ใส่ ควรใส่ให้ถูกต้อง ในกรณีที่ขาดแคลนหน้ากาก N95 สิ่งที่ทดแทนได้คือ การนำหน้ากากอนามัยแบบธรรมดาใส่ทิชชู่ไปสองชั้น ก็จะสามารถกรองได้ถึง 91 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งใกล้เคียงกับ N95 ส่วนผู้ที่เป็นภูมิแพ้ มีปัญหาเรื่องทางเดินหายใจและหลอดลม รวมถึงเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่สูบบุหรี่จะมีผลกระทบมากที่สุด เป็นกลุ่มเสี่ยงควรอยู่ในบ้าน และถ้ามีเครื่องฟอกอากาศก็จะช่วยได้บ้าง และควรงดกิจกรรมออกกำลังกายที่ทำให้จายลึกและแรง คนที่มีความเสี่ยงเรื่องทางเดินหายใจ เป็นภูมิแพ้หรือหอบหืด ต้องล้างจมูกมากขึ้น และควรพ่นยากันหอบก่อนออกจากบ้าน ควรพักผ่อนให้เพียพอ ผู้ที่นอนน้อยกว่า 6 ชั่วโมง ติดต่อกัน 2 มีโอกาสที่จะป่วยได้แน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image