แนะเอาอย่าง!ใยสับปะรดชุมชน แปรรูปตามเทรนด์นอก สามารถทำเงินสูงอีกเท่าตัว

นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมฯอยู่ระหว่างการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในระดับชุมชนพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพและมีมาตรฐาน ตามนโยบายของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้กำหนดนโยบายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในชุมชนและการสร้างงานสร้างรายได้แก่ประชาชนในพื้นที่ โดยกลุ่มผู้ผลิตเสื้อผ้าจากใยสับปะรด ถือเป็นอีกหนึ่งต้นแบบของสินค้าท้องถิ่นที่มีการดัดแปลงจนสามารถผลักดันให้กลายเป็นสินค้าส่งออกสู่ตลาดต่างประเทศ สร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผู้ผลิต และสร้างรายได้แก่ชาวสวนผู้ปลูกสับปะรด เนื่องจากผลิตภัณฑ์จากเส้นใยสับปะรดมีความหลากหลาย เช่น ผ้ารองจาน พรม กระเป๋า รองเท้า เสื้อผ้า เป็นต้น ซึ่งคุณสมบัติที่โดดเด่นของใยสับปะรด คือความเหนียว ทนทาน สามารถนำมาผลิตเป็นสินค้าคุณภาพดี อีกทั้งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

 
นางสาวบรรจงจิตต์ กล่าวอีกว่า สินค้าที่ผลิตจากเส้นใยสับปะรด จะช่วยลดมลพิษของเสียจากวัตถุดิบเหลือทิ้งทางการเกษตร ซึ่งเป็นเทรนด์ที่ทั่วโลกกำลังตื่นตัวและให้การสนับสนุน ตอนนี้หลายหน่วยงานได้พัฒนานวัตกรรมใหม่ๆในการนำใบสับปะรดมาพัฒนาปั่นเป็นเส้นใยธรรมชาติสู่การผลิตสิ่งทอ เพื่อลดระยะเวลา และรักษาคุณภาพมาตรฐานของเส้นใย ส่วนกรมฯจะส่งเสริมให้ความรู้ การพัฒนารูปแบบ และดีไซน์ การสร้างแบรนด์สินค้า และการช่วยหาตลาดสินค้าเพิ่มเติม โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้งนี้ ชุมชนผลิตเครื่องนุ่งห่มที่กรมฯเข้าไปช่วยเหลือ เช่น กลุ่มรักษ์บ้านเรา จ.สงขลา ที่ปัจจุบันมีคำสั่งซื้อจำนวนมากจากผู้ประกอบการกลุ่มโรงแรมและร้านอาหารจากญี่ปุ่น เป็นต้น

นางปริยากร ธรรมพุทธสิริ ผู้ผลิตและจำหน่าย หจก.รักษ์บ้านเรา สงขลา กล่าวว่า จังหวัดสงขลา มีผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่ขึ้นชื่ออยู่อย่างหนึ่งนั่นคือผ้าขาวม้าเกาะยอ โดยได้นำมาแปรรูปเป็นเสื้อผ้าลายผ้าขาวม้า และสินค้าอื่้่นๆ ขณะนี้หลายประเทศให้ความสนใจสินค้าและสั่งจองสินค้าที่ได้ผลิตขึ้น อาทิ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และสวิสเซอร์แลนด์ ฯลฯ ซึ่งทำให้ยอดขายของกลุ่มฯขยายตัวถึง100% จากเดิมราคาขายผ้าขาวม้าวัตถุดิบธรรมดาทั่วไป 200-300 บาท แต่เมื่อเปลี่ยนมาใช้วัตถุดิบเป็นใยสับปะรดบวกกับการดีไซน์สินค้าให้มีความทันสมัยและสวยงามตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้ตรงจุด ทำให้สินค้าที่ผลิตออกมาสามารถตั้งราคาขายได้สูงถึงชุดละ 3,000-5,000 บาท และทำให้ทางกลุ่มฯรับซื้อใยสับปะรดจากชุมชนในราคากก.ละ 300-600 บาท ขณะที่กลุ่มทอผ้าจากเดิมที่มีรายได้เมตรละ 50 บาท หลังจากได้มีการพัฒนาสินค้าด้วยใยสับปะรด รายได้เพิ่มเป็นเมตรละ 150 – 250 บาท

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

Advertisement

เพิ่มเพื่อน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image