สศค.ชี้พัฒนาอาชีพคนจนสร้างผลประโยชน์ตอบแทน 2.6 หมื่นล.

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า มาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในระยะที่ 1 ใช้เงินไปประมาณ 6,000 ล้านบาท( 10 เดือน) สร้างผลประโยชน์ตอบแทน 26,000 ล้านบาท โดยวัดจากค่าเฉลี่ยรายได้ที่เพิ่มขึ้นของผู้เข้าฝึกอบรมชีพ ดังนั้นจึงมองว่าควรพัฒนาในอาชีพต่อในการดำเนินการระยะที่ 2 ใช้งบประมาณ 4,300 ล้านบาทในช่วง 6 เดือนถึงมิถุนายน 2562

นายลวรณกล่าวว่า ในการพัฒนาอาชีพระยะที่ 2 เน้นในกลุ่มยังไม่ได้เข้าพัฒนาอาชีพประมาณ 8.78 แสนราย ขอให้หน่วยงานพัฒนาผู้มีบัตร เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน (ธ.ออมสิน) โดยพัฒนาให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2562 นอกจากนี้เน้นพัฒนากลุ่มผู้ที่ผ่านการพัฒนาแล้วแต่ยังมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี จากข้อมูลล่าสุดมีประมาณ 1 ล้านคนให้พัฒนาต่อเนื่องจนสามารถประกอบอาชีพให้มีรายได้สูงกว่า 30,000 บาทต่อปี ให้ธ.ก.ส. และออมสิน ในฐานะผู้ดูแลผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐดำเนินการพัฒนาผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในกลุ่มนี้ต่อไป

นายลวรณกล่าวว่าผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเข้าร่วมมาตรการฯ จำนวน 4,145,397 ราย ซึ่งได้รับการพัฒนาแล้วจำนวน 3,267,941 ราย และจากผลการติดตามความคืบหน้าการพัฒนาตนเองของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ข้อมูล ณ สิ้นปี 2561 สามารถติดตามได้ จำนวน 2,607,195 ราย หรือคิดเป็น 80% ของผู้ที่พัฒนาแล้ว สรุปได้ ดังนี้ มีผู้มีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 30,000 บาทต่อปี หรือเป็นผู้พ้นจากเส้นความยากจนมีจำนวน 1,012,727 ราย จากเดิมเป็นผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี อย่างไรก็ดี ยังมีผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี คงเหลือ 1,040,842 ราย จากก่อนพัฒนามีจำนวน 2,053,569 ราย ส่วนผู้มีรายได้มากกว่า 100,000 บาทต่อปี จำนวน 115,116 ราย จากก่อนพัฒนามีจำนวน 0 ราย โดยในกลุ่มนี้ยังได้รับสวัสดิการต่อไปจนกว่าจะมีการลงทะเบียนใหม่

“รัฐจ่ายเงินให้ผู้เข้าร่วมมาตรการ 4,145,397 รายเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (อี-มันนี่) ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี ในปี 2559 จะได้รับเงินจำนวน 200 บาทต่อคนต่อเดือน และผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีรายได้สูงกว่า 30,000 บาทต่อปี ในปี 2559 จะได้รับเงินจำนวน 100 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นเวลา 6 เดือนตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2562”นายลวรณกล่าว

Advertisement

นายลวรณกล่าวว่า นอกจากนี้จากมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 16 มกราคม มีมติให้ปรับเปลี่ยนการเติมเงินรายเดือน 200 และ 300 บาท จากเดิมให้เฉพาะ นำไปซื้อของร้านธงฟ้า แบ่งมาเป็นเงินเข้ากระเป๋าเงินอี-มันนี่ 100 บาท และ200 บาทให้คงเหลือเฉพาะเงินซื้อของร้านธงฟ้า 100 บาท เฉพาะช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน 2562 เป็นเวลา 3 เดือน โดยเงินที่เข้ากระเป๋าอีมันนี่สามารถถอนเงินสดผ่านตู้เอทีเอ็มหรือสาขาของธนาคารกรุงไทย เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการใช้จ่ายและรัฐจะไม่ตัดวงเงินดังกล่าว สามารถสะสมไว้ใช้ยามจำเป็น หรือเป็นเงินออม รวมถึงยังสามารถนำไปซื้อสินค้าเพื่อรับภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต)คืน 5%

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

Advertisement

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image