ถกแก้กัญชาล้มไม่เป็นท่า ภาคประชาชนจวกพณ.ไม่จริงใจ เดินหน้าฟ้องศาล ใช้สังคมกดดัน

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวภายหลังการประชุมหารือร่วมกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จัดประชุมเพื่อเปิดโอกาสให้หารือร่วมกันในครั้งแรก ทำให้เครือข่ายภาคประชาชนมีความหวังมาก และเป็นนิมิตหมายที่ดีที่เปิดรับฟังความเห็นภาคประชาชนเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกับระดับรัฐมนตรี โดยจะหาข้อสรุปร่วมกันให้ได้ภายใน 7 วัน อย่างไรก็ตาม ในการประชุมหารือวันนี้ (17 ม.ค.) ซึ่งเป็นครั้งที่สองกลับพบว่าได้ลดระดับการประชุม ทั้งรัฐมนตรีและอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจไม่เข้าร่วมการประชุม จึงเกิดข้อสงสัยว่าไม่พยายามดำเนินการให้เรื่องนี้จบหรือไม่

นายปานเทพ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ฝ่ายกระทรวงพาณิชย์ส่งเฉพาะฝ่ายกฎหมายมาหารือด้วย ซึ่งฝ่ายกฎหมายนำเสนอถึงการทำอย่างไรจึงจะไม่ต้องใช้มาตรา 9 (5) เป็นเหตุผลหลักที่จะอ้างเรื่องยาเสพติดให้โทษที่ไม่สามารถนำไปใช้ในการแพทย์ได้ เพราะเงื่อนไขต่างประเทศมีข้อผูกพัน มีคู่มือปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างประเทศที่ต้องปฏิบัติตาม จึงได้แย้งกลับไป โดยเครือข่ายภาคประชาชนได้ทำการศึกษาข้อมูลพบว่ามีประเทศที่ปฏิเสธคำขอจดสิทธิบัตร อาทิ ประเทศบราซิล อ้างว่ากัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษ ดังนั้นจะให้ต่างชาติมาจดสิทธิบัตรไม่ได้ แต่ปรากฏว่าภาครัฐไม่ได้นำเสนอข้อมูลในส่วนนี้ ทำให้เครือข่ายประชาชนเกรงว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จะตามข้อมูลเหล่านี้ไม่ทัน

“สิ่งที่น่าสนใจคือ ยังมีคำขอจดสิทธิบัตรกัญชาที่ยังเหลืออยู่จำนวน 7 คำขอ ที่น่าสนใจคือคำขอมาจากบริษัทเดียวกันทั้งหมด และเป็นการประกาศคำขอจดสิทธิบัตรที่เกิดขึ้นในรัฐบาลชุดนี้ทั้งหมด การประชุมวันนี้ถือเป็นเรื่องน่าอับอายของกระทรวงพาณิชย์ ที่ฝ่ายกฎหมายหยิบยกประเทศที่ให้สิทธิบัตรกัญชาเพียงฝ่ายเดียว แต่ประเทศที่ไม่ให้สิทธิบัตรกัญชากลับไม่นำข้อมูลมาด้วย” นายปานเทพ กล่าว

นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มเอฟทีเอ วอช (FTA Watch) กล่าวว่า ในเดือนพฤศจิกายน 2561 มีการแถลงข่าวโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ว่า ได้ยกเลิกคำขอจดสิทธิบัตรกัญชาหมายเลข 1101003758 ที่ขอโดยบริษัท จี ดับเบิลยูฟาร์มา และบริษัท โอซูก้า ฟาร์มาซูติคอล แต่ความเป็นจริงแล้ว คาดว่ายังไม่มีการยกเลิกคำขอจดสิทธิบัตร เนื่องจากบ่ายเบี่ยงที่จะให้ดูหนังสือปฏิเสธคำขอจดสิทธิบัตรฉบับจริง พร้อมทั้งอธิบายด้วยว่าที่ยังไม่เห็นเอกสารดังกล่าวในเว็บไซต์ของกรมฯเพราะยังไม่มีการอัพเดทข้อมูล เครือข่ายภาคประชาชนจึงต้องการทราบข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไรกันแน่

Advertisement

นางสาวกรรณิการ์ กล่าวว่า สำหรับการหารือร่วมกันวันนี้ ยังค่อนข้างสงสัยในเจตนารมณ์ว่าไม่ได้ต้องการยกเลิกคำขอสิทธิบัตรที่ขัดกับมาตรา 9 หรือไม่ เพราะการประชุมครั้งนี้ทั้งรัฐมนตรีและอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่ร่วมประชุมโดยอ้างเหตุผลว่าติดภารกิจทางราชการที่ต่างจังหวัด ทั้งที่ในความเป็นจริงได้กำหนดการประชุมร่วมกันก่อนหน้าแล้วซึ่งทุกฝ่ายแจ้งว่าสะดวกมาประชุม ขณะที่ตัวแทนจากฝ่ายกฎหมายของกรมฯที่ร่วมประชุมแจ้งเพียงว่าเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและภาคประชาสังคมเท่านั้น ภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะนำข้อมูลที่ได้ไปดำเนินการต่อเอง “คาดว่าประชาชนที่รอการปลดล็อคทางการแพทย์จะได้รับผลกระทบแน่นอน เพราะกรมฯจะไม่ดำเนินการอย่างจริงจังกับคำขอเหล่านี้ ทำให้ความจริงขณะนี้ไทยยังไม่สามารถนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ได้” นางสาวกรรณิการ์ กล่าว

นายคมสัน โพธิ์คง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า การประชุมในวันนี้เป็นเหมือนข้อแก้ตัวของกรมทรัพย์สินทางปัญญา ไม่มีประโยชน์ใดๆ การถือมาตรฐานทริปส์มาใช้กับกัญชาว่าเป็นสากลแล้ว เพราะมีการจดสิทธิบัตรกันแล้ว แต่จริงๆไม่ใช่ เพราะมีหลายประเทศไม่รับจด ขึ้นอยู่กับกฎหมายของแต่ละประเทศด้วย ดังนั้นเครือข่ายภาคประชาชนจึงเห็นร่วมกันว่าไม่มีประโยชน์ใดๆ ที่จะเข้าร่วมประชุมเพื่อหาทางออกเรื่องนี้กับกรมทรัพย์สินทางปัญญาและกระทรวงพาณิชย์อีกต่อไป เนื่องจากทั้งสองหน่วยงานไม่ได้มีความจริงใจจะแก้ปัญหาเพื่อยกเลิกสิทธิบัตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามคำแถลงก่อนหน้านี้ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จริง โดยต่อไปจะดำเนินการฟ้องร้องต่อศาล พร้อมกับการหารือกับประชาชนทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ และผู้มีอำนาจ เพื่อเคลื่อนไหวทั้งทางสังคมและการเมืองให้มีการยกเลิกคำขอสิทธิบัตรดังกล่าวโดยเร็วที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image