รฟท.เริ่มเจรจาสัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อม3สนามบินกับกลุ่มซีพีรอบแรก 25 ม.ค.นี้ ห่วงยืดเยื้อไม่ทันลงนามตามกำหนดสิ้นเดือน

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เปิดเผยภายหลังการเปิดซอง 4 และพิจารณาข้อเสนอพิเศษของกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ว่า สำหรับซองที่ 4 ทางกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร หรือกลุ่มซีพี ได้ยื่นข้อเสนอพิเศษทั้งหมด 11 ข้อ โดยทางคณะกรรมการคัดเลือกประมูลไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน สนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินอู่ตะเภา รับข้อเสนอได้เพียง 3 ข้อ เนื่องจากเป็นไปตามหลักการเพิ่มประสิทธิภาพของโครงการและตามกรอบเงื่อนไขที่ให้อำนาจกับคณะกรรมการคัดเลือก ส่วนอีก 8 ข้ออยู่นอกเหนืออำนาจของคณะกรรมการ โดยวันนี้ทางกลุ่มซีพีได้มีการรับทราบรายละเอียดทางวาจาแล้วว่าทำไมคณะกรรมการคัดเลือกจึงรับหรือไม่รับข้อเสนอ และวันที่ 21 มกราคม จะมีการส่งรายละเอียดแบบลายลักษณ์อักษรให้ทางกลุ่มซีพี หลังจากนี้จะเข้าสู่กระบวนการเจรจาสัญญา คาดว่าจะสามารถเจรจาสัญญารอบแรกได้ในวันที่ 25 มกราคมนี้ 

“สำหรับข้อเสนอซองที่ 4 ทั้ง 11 ข้อ ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดแต่ละข้อได้เพราะจะไปเกี่ยวเนื่องกับเงื่อนไขการเจรจาต่อรองสัญญาที่จะเกิดขึ้นต่อไป แต่หนึ่งในข้อเสนอที่คณะกรรมการคัดเลือกรับไว้แบบมีเงื่อนไข คือ การตั้งศูนย์ความเป็นเลิศระบบราง เนื่องจากเอกชนคงดำเนินการเรื่องนี้ฝ่ายเดียวไม่ได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจาก รฟท.ด้วย อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอีก 8 ข้อคณะกรรมการคัดเลือกจะไม่ได้รับในซองที่ 4 แต่กลุ่มซีพีก็ยังสามารถนำมาเจรจาได้โดยอาจจะมีการนำไปใส่ในเงื่อนไขสัญญา ทั้งนี้ นอกจากรายละเอียดชี้แจงของซองที่ 4 แล้ว คณะกรรมการคัดเลือกยังได้ทำกรอบเงื่อนไขการเจรจาสัญญาจากข้อมูล 200 กว่าหน้าที่ทางกลุ่มซีพีส่งมา เพื่อให้กลุ่มซีพีนำไปพิจารณาก่อนจะเจรจาสัญญา โดยแบ่งรายละเอียดเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ไม่เป็นไปตามกรอบของคณะกรรมการคัดเลือก กลุ่มที่ไม่เป็นไปตามอาร์เอฟพี(รีเควส ฟอร์ โพโพเซิล) ในทีโออาร์ กลุ่มที่อาจจะมีผลกระทบภาพลักษณ์ กลุ่มที่สามารถเจรจาได้ง่าย เป็นต้น ซึ่งกลุ่มซีพีต้องนำรายละเอียดไปเจรจากับพาร์ตเนอร์ต่างประเทศ คาดน่าจะเริ่มเจรจาสัญญาได้ในเร็วสุดในหนึ่งสัปดาห์ หรือภายในวันที่ 25 มกราคม” นายวรวุฒิกล่าว 

นายวรวุฒิกล่าวว่า การเจรจาสัญญาอาจจะต้องใช้ระยะเวลา และคาดว่าจะไม่สามารถเจรจาได้จบในครั้งเดียว ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับรถไฟไทย-จีน ที่ต้องมีการเจรจากันหลายครั้ง ซึ่งยอมรับว่าอาจจะไม่ทันการลงนามสัญญาตามกรอบที่กำหนดไว้ในวันที่ 31 มกราคมนี้ โดยทางกลุ่มซีพีมีข้อเสนอเกี่ยวกับการดำเนินการโครงการเพื่อลดความเสี่ยง เพราะตามเงื่อนไขที่กลุ่มซีพีเสนอมาสามารถทำได้ตามทีโออาร์ แต่มีความเสี่ยงทางธุรกิจสูง ทั้งเรื่องต้นทุนที่อาจจะเพิ่มขึ้น อาทิ วัสดุที่ราคาสูงขึ้น หรือต้นทุนทางการเงินที่ปรับขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินโครงการ จะมีทางอย่างไรหรือไม่ที่จะทำให้ความเสี่ยงเหล่านี้ลดลง ส่วนการลงทุนในพื้นที่มักกะสัน ตามทีโออาร์กำหนดรายละเอียดให้พิจารณาโครงการพัฒนาตามแนวโครงข่ายรถไฟฟ้า(ทีโอดี) มูลค่ารวม 42,000 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย ห้างสรรพสินค้า ที่อยู่อาศัย โรงแรม อาคารสำนักงาน ศูนย์ประชุม เป็นต้น แต่ไม่ได้กำหนดสัดส่วนว่าจะต้องพัฒนาโครงการสัดส่วนเท่าใด ขึ้นกับการพิจารณาของเอกชนเอง รวมทั้งข้อเสนอเรื่องเส้นทางแยกส่วนต่อขยาย(สเปอร์ไลน์) กับโครงการอื่นในอนาคต จำนวนคนใช้บริการ การปรับเปลี่ยนหรือย้ายสถานี เป็นต้น เหล่านี้ไม่ได้อยู่ในอำนาจการพิจารณาของคณะกรรมการคัดเลือก ซึ่งต้องรอพิจารณาการเจรจาสัญญาอาจจะนำมาใส่เป็นเงื่อนไขสัญญาได้ ทั้งนี้ ขึ้นกับการพิจารณาและความเห็นของคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ด้วย หากเห็นด้วยในเงื่อนไขสัญญาก็จะต้องเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image