ทีดีอาร์ไอประเมินเจรจาสัญญาไฮสปีดเชื่อม3สนามบินอาจยืดเยื้อ

นายสุเมธ องกิตติกุล อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า ขั้นตอนการเจรจาสัญญาของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินบินดอนเมือง-สนามบินสุวรรณภูมิ-สนามบินอู่ตะเภา ระยะทาง 220 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 224,544 ล้านบาท น่าจะต้องใช้ระยะเวลาและคาดว่าจะมีการเจรจากันหลายครั้ง เพราะมีเงื่อนไขตามการประมูลที่ต้องเจรจา แต่คาดว่าจะสามารถเซ็นสัญญาได้ภายในช่วงกลางปี 2562 นี้ ซึ่งถือว่าเป็นไปตามกรอบระยะเวลาปกติ โดยหากพิจารณาจากการเจรจาสัญญาโครงการอื่นก่อนหน้านี้ เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ใช้ระยะเวลาการเจรจาสัญญาประมาณ 6-7 เดือน ก่อนที่จะลงนามสัญญาและเวนคืนพร้อมเข้าเคลียร์พื้นที่ใช้เวลาประมาณ 1 ปี

“โครงการนี้น่าจะมีการเจรจาสัญญาแล้วเสร็จในรัฐบาลนี้ และอาจจะมีการเซ็นสัญญาในรัฐบาลหน้าก็ได้ มองว่าไม่มีผลกระทบต่อโครงการและไม่น่าจะทำให้เกิดการล้มการประมูล อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ยังไม่มีการเซ็นสัญญาก็ถือว่ายังมีความไม่แน่นอน เพราะหากการเจรจาสัญญากับกลุ่มซีพีไม่สามารถตกลงกันได้ ทางภาครัฐอาจจะมีการเจรจากับกลุ่มบีเอสอาร์ที ซึ่งเป็นผู้ยื่นประมูลอีกกลุ่มก็ได้ ซึ่งโครงการจะรับรองผลการประมูลเมื่อมีการเซ็นสัญญาแล้ว” นายสุเมธ กล่าว

นายดิสพล ผดุงกุล นายกสมาคมวิศวกรรมระบบขนส่งทางรางไทย กล่าวว่า อยากจะเห็นโครงการนี้เพราะนอกจากจะเป็นโครงการที่กระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนแล้ว ถือว่าเป็นโครงการรถไฟความเร็วสูงโครงการแรกของประเทศไทยที่จะเกิดขึ้นซึ่งการดำเนินโครงการในพื้นที่ภาคตะวันออกถือว่ามีความเหมาะสม อย่างไรก็ตาม การเจรจาสัญญาที่จะเกิดขึ้นมองว่ามีโอกาสที่จะยืดเยื้อ ต้องติดตามรายละเอียดข้อเสนอที่ทางกลุ่มซีพีเสนอให้กับทางรัฐบาลว่าเป็นอย่างไรซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการเปิดดเผยรายละเอียดออกมา โดยทางกลุ่มซีพีมีการของบอุดหนุนที่ต่ำ ดังนั้น อาจจะมีเงื่อนไขที่ต้องการจากทางรัฐบาล โดยเงื่อนไขและข้อเสนอบางข้อเสนอที่กลุ่มซีพีเสนออาจจะอยู่นอกเหนืออำนาจของคณะกรรมการคัดเลือกฯ และต้องการผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ

“เชื่อว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยากให้โครงการนี้เกิดขึ้นในรัฐบาลนี้เพราะจะได้เป็นผลงานของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม โอกาสที่จะไม่ทันลงนามสัญญาก็มีอยู่ เพราะขึ้นอยู่กับการเจรจาและข้อเสนอที่กลุ่มซีพีเสนอมาว่าทางรัฐบาลรับได้หรือไม่ หรือจะมีเงื่อนไขทดแทนอะไรได้บ้าง ทั้งนี้ มองว่าหากกลุ่มซีพีอยากจะลดลดต้นทุนการก่อสร้างสามารถทำได้ตามหลักการวิศวกรรมโดยลดความเร็วจาก 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็น 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพราะเปรียบเทียบระยะเวลาเดินทางไม่ต่างกันมากนัก ส่วนการลงทุนในพื้นที่มักกะสัน ทางภาครัฐก็จะต้องเข้าไปควบคุมให้เอกชนดำเนินการตามแผนเพราะเป็นผลประโยชน์ของชาติที่ต้องแลกกับการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง” นายดิสพล กล่าว

Advertisement

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image