พบอหิวาต์แอฟริการะบาดในหมูเพิ่มอีกประเทศ กรมปศุสัตว์ยกระดับเฝ้าระวัง

น.สพ.สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีรายงานจากองค์การสุขภาพสัตว์โลกว่าพบการระบาดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรที่ประเทศมองโกเลีย ทำให้ขณะนี้ในเอเชียพบการระบาดเพิ่มขึ้นเป็น 2 ประเทศ คือ สาธารณรัฐประชาชนจีนและประเทศมองโกเลีย ดังนั้นทุกประเทศในภูมิภาคเอเชียต้องเพิ่มการคุมเข้มมาตรการป้องกันและเฝ้าระวังโรคนี้ให้มากขึ้น

สำหรับประเทศไทยมีการป้องกันและเฝ้าระวังโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรอย่างต่อเนื่อง โดยการบูรณาการกับหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ ด่านของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ด่านอาหารและยา ด่านศุลกากร รวมทั้งหน่วยงานปกครองและหน่วยงานความมั่นคง เพื่อตรวจสอบเข้มงวดนักท่องเที่ยวหรือผู้โดยสารที่เดินทางจากประเทศที่มีการระบาดของโรคนี้ รวมทั้งการป้องกันลักลอบเคลื่อนย้ายสุกรและผลิตภัณฑ์สุกรที่ท่าอากาศยานและตามแนวชายแดน ทำให้ประเทศไทยสามารถตรวจจับผลิตภัณฑ์สุกรที่ลักลอบนำเข้ามาพร้อมนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากจีนอย่างต่อเนื่อง

น.สพ.สรวิศ กล่าวว่า กรมปศุสัตว์ โดยด่านกักกันสัตว์ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ได้ตรวจยึดซาลามี่และไส้กรอกจากนักท่องเที่ยวชาวจีนที่โดยสารเที่ยวบิน MU 573 จากเมืองเฉิงตู และผลิตภัณฑ์ที่ตรวจยึดได้ในครั้งนี้พบว่ามีการปนเปื้อนสารพันธุกรรมของเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในสุกร ทั้งนี้ประเทศไทยสามารถยึดผลิตภัณฑ์จากสุกรที่มีการปนเปื้อนฯ จากนักท่องเที่ยวรวม 3 ครั้ง จำนวน 9 ตัวอย่าง แต่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันโรคเข้าประเทศ กรมปศุสัตว์จึงเชิญสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) และสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวสัมพันธ์ไทย-จีน ซึ่งมีสมาชิกจำนวนมากกว่า 150 ราย เข้าร่วมประชุมสัปดาห์ที่ผ่านมา ขอความร่วมมือในการประชาสัมพันธ์แก่นักท่องเที่ยวชาวจีนทราบถึงมาตรการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรของประเทศไทย และขอความร่วมมือในการห้ามการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากสุกรเข้าในประเทศไทยโดยไม่ได้รับอนุญาต และให้สำแดงกรณีมีการนำเข้าเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์สุกรกับเจ้าหน้าที่ทุกครั้ง

“ขอให้เกษตรกรมั่นใจว่าการดำเนินงานที่เข้มงวดของปศุสัตว์จะสามารถการป้องกันโรคไม่ให้เข้ามาสร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมการผลิตสุกรของประเทศไทย และในส่วนเกษตรกรจะต้องมีการยกระดับการเลี้ยงสุกรให้มีระบบการป้องกันโรคเข้าสู่ฟาร์มตามมาตรฐานการผลิตที่ดี(จีเอพี) และหากเป็นรายย่อยให้ใช้มาตรฐานการป้องกันและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (จีเอฟเอ็ม) โดยเฉพาะการตรวจสอบแหล่งที่มาของสุกรก่อนเข้าฟาร์ม และงดเว้นการนำอาหารที่ไม่ผ่านการปรุงสุกที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส อย่างน้อย 30 นาทีมาเลี้ยงสุกร นอกจากนี้ให้สังเกตอาการสุกรอย่างใกล้ชิด หากพบสุกรแสดงอาการป่วย อาทิ มีไข้สูง เบื่ออาหาร เป็นต้น รวมทั้งพบภาวะแท้งในแม่สุกรและมีจำนวนสุกรตายผิดปกติให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที”

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image