วสท.ลงพื้นที่วิเคราะห์เหตุเครนถล่ม เตือนระวังอาจเกิดเหตุซ้ำอีก

รศ.เอนก ศิริพานิชกร ประธานวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) เปิดเผยว่า เมื่อเย็นวันที่ 23 มกราคม ทีมวสท. มีรศ.เอนก รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ ที่ปรึกษา คุณหฤษฏ์ ศรีนุกูล คณะอนุกรรมการวิศวกรรมยกหิ้วและปั้นจั่นไทย และทีมวิศวกรอาสา ได้ลงพื้นที่เกิดเหตุเครนถล่มในไซต์ก่อสร้างคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่ง ย่านถนนพระราม 3 ซอย 45 แขวงบางโพงพาง เขตยานนาวา เพื่อตรวจสอบวิเคราะห์เหตุดังกล่าว โดยภายในพื้นที่เกิดเหตุพบทาวเวอร์เครนสูงประมาณ 40 เมตร ซึ่งเป็นปั่นจั่นหอสูงแบบคอห่าน (Goose Neck) มี 2 แขนต่อด้วยจุดหมุน ติดตั้งเสร็จแล้ว 12 เมตร ยังเหลือท่อนสุดท้าย โดยโครงการนี้เป็นการต่อเสาแบบยาก ปกติจะใช้ลักษณะซองดีดเป็นตัวประคอง โดยมีเสาเหล็กอยู่ด้านข้าง แต่กรณีนี้เป็นการสอดเสาจากด้านบนลงมา จึงอาจเป็นไปได้ของสาเหตุที่เกิดเหตุคือระหว่างการตอกยึดใช้แรงมากเกินไป ทำให้เครนเสียสมดุลจนแขนบูมกระดก 180 องศาไปกระแทกแขนบูมอีกอันหนึ่งหักลงมา

รศ.เอนก กล่าวว่า ปัจจุบันกฎหมายกำหนดให้ผู้ที่ทำงานร่วมกับเครนมีทั้งหมด 3 คน คือผู้ขับเครนซึ่งต้องผ่านการอบรมความรู้และทักษะความเชี่ยวชาญตามมาตรฐาน ผู้ให้สัญญาณ และผู้ผูกของ ควบคุม ซึ่งต้องมีใบอนุญาตตามวิชาชีพวิศวกร

รศ.เอนก กล่าวว่า ในการลดปัญหาเครนถล่ม มีคำแนะนำว่าควรเพิ่มความรู้ความเชี่ยวชาญในการติดตั้ง ปฏิบัติการเครน โดยอบรมอย่างเข้มข้นตามมาตรฐานที่ถูกต้อง โครงการอสังหาริมทรัพย์และงานก่อสร้างต่าง ๆ ควรให้ความสำคัญและเพิ่มมูลค่างบประมาณด้านความปลอดภัยอย่างมีคุณภาพให้มากขึ้น และเข้มงวดในการปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัย ขั้นตอน และการควบคุมตามกฎหมายด้วย

รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ ที่ปรึกษา วสท. กล่าวว่า จากการตรวจสอบของ วสท. สาเหตุเครนถล่ม มีความเป็นไปได้จากการติดตั้งด้วยความแรงเกินก่อนจะยึดสลัก เนื่องจากเครนชนิดนี้จะตั้งประมาณ 90 องศา ซึ่งมีโอกาสที่จะท้อยหลังได้เสมอ หากช่างหรือผู้ควบคุมไม่มีความชำนาญในการขับจะทำให้เกิด Shock load อย่างรุนแรง จนเครนเสียสมดุลเอียงไปด้านหลังและถล่มลงมาในที่สุด ส่วนด้านความแข็งแรงของเครนนั้น เครนถูกออกแบบมาให้อยู่ภายใต้เงื่อนไขความสมดุลและใช้หลักการทางกลศาสตร์เข้ามาช่วย

Advertisement

รศ.สิริวัฒน์ กล่าวว่า หลังจากนี้ควรมีการรื้อถอนทั้งเครนที่พังลงมาเสียหาย และเครนอีกตัวที่ได้รับผลกระทบซึ่งยังมี Counter Weight ถ่วงอยู่ หากร่วงลงมาซ้ำอีกอาจสร้างความเสียหายในบริเวณดังกล่าวได้อีก อย่างไรก็ตาม ทางเจ้าโครงการคอนโดฯยังไม่สามารถดำเนินการรื้อถอนเครนได้ทันที จึงขอให้แจ้งเตือนประชาชนใกล้เคียงรับทราบก่อน

หฤษฏ์ ศรีนุกูล คณะอนุกรรมการวิศวกรรมยกหิ้วและปั้นจั่นไทย วสท. กล่าวว่า ปั้นจั่นหรือเครนแยกได้เป็นหลายชนิด เช่น ปั้นจั่นหอสูง (Tower Crane) ปั้นจั่นชนิดเคลื่อนที่ (Mobile Crane) รวมถึงรถเครน ปั้นจั่นเหนือศีรษะ (Overhead Crane) ปั้นจั่นขาสูง (Gantry Crane) และรอกไฟฟ้า (Electric Hoist) ตามโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งตามกฎหมายกำหนดให้มีการตรวจสอบและทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของปั้นจั่นตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ แต่ไม่เกินกว่า 1 ปี ในต่างประเทศมีการพัฒนาเทคโนโลยีเครนก้าวหน้า แต่ในประเทศไทยเกินกว่าครึ่งหนึ่งของตลาดการใช้งานเป็นเครนเก่ามือสองมือสาม ดังนั้นการบำรุงรักษาในขั้นตอนก่อนการติดตั้งหรือขั้นตอนการติดตั้งต้องมีการตรวจสอบตามคู่มือที่ผู้ผลิตกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด ผู้บังคับเครนและผู้ยึดเกาะวัสดุอีกไม่น้อยที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจควรเข้าฝึกอบรมตามมาตรฐานในการใช้งาน รวมถึงผู้รับเหมาและผู้รับจ้างจำเป็นต้องใส่ใจเรื่องคุณภาพ ความพร้อมของเครนและความปลอดภัยในการใช้งาน และในอนาคตประเทศไทยจะมีการปรับปรุงข้อกฎหมายปั้นจั่นฉบับใหม่ เรียกว่า กฎกระทรวงการบริหารความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมเกี่ยวกับเครื่องจักรปั่นจั่น หม้อน้ำ พ.ศ. …” คาดว่าจะออกภายในกลางปีนี้ โดยจะมีการเพิ่มมาตรการของการวางแผน (ทำแผนการยกก่อนใช้งานจริง) ลงนามรับรองการใช้งานโดยวิศวกรผู้ควบคุมเครน บังคับใช้ในงานที่มีความเสี่ยงค่อนข้างสูง หรือในการยกที่อยู่ในภาวะวิกฤติ เช่น ยกของที่มีน้ำหนักมาก ๆ การยกของที่ใกล้เคียงกับพิกัดยก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image