เลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม เอื้อการประมูลซื้อเสียง โดย : ดร.โกวิทย์ พวงงาม

ผมเข้าใจว่า การเลือกตั้งทั้งการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในระบบแบ่งเขตเลือกตั้งและระบบบัญชีรายชื่อ โดยใช้รูปแบบระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมนั้น เป็นการยึดเอาคะแนนเสียงและ

ทำให้คะแนนเสียงของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคะแนนมีความหมาย เพื่อนำคะแนนเสียงที่ได้ทั้งประเทศมารวมกันและคิดคำนวณการได้มาซึ่งจำนวน ส.ส. ของแต่ละพรรคต่อไป

ทั้งนี้ เพราะบัตรเลือกตั้งเพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวได้ทั้ง ส.ส. ระบบแบ่งเขตเลือกตั้งและ ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ (Party List) ด้วย ก็จะยิ่งทำให้ผู้สมัครเป็น ส.ส. ในระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ต้องพยายามไปเก็บเกี่ยวคะแนนในแต่ละหน่วยเลือกตั้งให้ได้มาให้มากที่สุด แม้ว่าผู้สมัคร ส.ส.ในระบบแบ่งเขตคนนั้น จะไม่ได้มีความหวังว่าจะได้เป็น ส.ส. ในเขตเลือกตั้งนั้นๆ ก็ตาม

ทั้งนี้เพราะ การได้มาซึ่ง ส.ส. คิดคำนวณจากคะแนนผู้สมัคร ส.ส. ระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง

Advertisement

ทั่วประเทศ แล้วนำมาคิดคำนวณหาจำนวน ส.ส. ที่ควรจะได้ของพรรคการเมืองนั้นๆ ดังนั้นแม้ว่า พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งจะไม่มี ส.ส. ในระบบแบ่งเขตเลือกตั้งเลยสักคนเดียวก็ตาม แต่เมื่อคิดคำนวณคะแนนเสียงที่ได้รับจากการเลือกตั้งทั่วประเทศแล้ว ก็สามารถมีคะแนนเพื่อคำนวณในระบบบัญชีรายชื่อ

สมมุติว่าคำนวณได้ ส.ส. 3 คน และใน 3 คนนี้ก็จะได้ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ทั้ง 3 คนตามลำดับ

สําหรับการคิดคำนวณ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญ มีดังนี้

Advertisement

(1) นำคะแนนรวมทั้งประเทศที่พรรคการเมืองนั้นๆ ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง หารด้วยห้าร้อย อันเป็นจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎร

(2) นำผลลัพธ์ตาม (1) ไปหารจำนวนคะแนนรวมทั้งประเทศของพรรคการเมืองแต่ละพรรคที่ได้รับจากการเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งทุกเขต จำนวนที่ได้รับให้ถือเป็นจำนวน ส.ส. ที่พรรคการเมืองนั้นพึงจะมีได้

(3) นำจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองจะพึงมีได้ตาม (2) ลบด้วยจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งทั้งหมดที่พรรคการเมืองนั้นได้รับเลือกตั้งในทุกเขตเลือกตั้งผลลัพธ์ คือจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นจะได้รับ

(4) ถ้าพรรคการเมืองใดมีผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งเท่ากับหรือสูงกว่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตาม (2) ให้พรรคการเมืองนั้นมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามจำนวนที่ได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และไม่มีสิทธิได้รับการจัดสรรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และให้นำจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อทั้งหมดไปจัดสรรให้แก่พรรคการเมืองที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งต่ำกว่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อทั้งหมดไปจัดสรรให้แก่พรรคการเมืองที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งต่ำกว่าจำนวนสมาชิกสภาราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตาม (2) ตามอัตราส่วน แต่ต้องไม่มีผลให้พรรคการเมืองใดดังกล่าวมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกินจำนวนที่จะพึงมี

ได้ตาม (2)

(5) เมื่อได้จำนวนผู้ได้รับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองแล้ว ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งตามลำดับหมายเลขในบัญชีรายชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้นเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ผมจึงเข้าใจว่า ระบบและวิธีการเลือกตั้งในระบบสัดส่วนผสมนี้ พรรคการเมืองแต่ละพรรคย่อมรู้จุดแข็งจุดอ่อนของตนเองดี ทั้งการส่งรับสมัครในระบบแบ่งเขตเลือกตั้งและระบบบัญชีรายชื่อ จึงไม่แปลกใจโดยเฉพาะพรรคการเมืองใหญ่ อย่างพรรคเพื่อไทย เขาก็รู้ดีว่าพรรคเขาจะได้ ส.ส. ในระบบแบ่งเขตเลือกตั้งมาก และเมื่อได้คำนวณโอกาสที่จะได้จำนวน ส.ส. ที่พึงได้ทั้งประเทศอาจจะได้เท่ากับจำนวน ส.ส. ในระบบแบ่งเขตเลือกตั้งแล้ว เขาก็จะไม่มีสิทธิที่จะได้รับการจัดสรร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ

ดังนั้น เราจึงเห็นปรากฏการณ์ กลุ่มคนในพรรคเพื่อไทยจำนวนหนึ่งจึงได้คิดสูตรใหม่

สูตรนั้นคือ การแยกตัวไปตั้งพรรคการเมืองสาขาของพรรคเพื่อไทย เช่น พรรคไทยรักษาชาติ พรรคเพื่อชาติ เป็นต้น เพื่อหวังไปเก็บคะแนนในพื้นที่ต่างๆ ที่อาจจะไม่ได้คาดหวัง ส.ส. ในระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง แต่หวังเพียงการช้อนคะแนนเพื่อนำมารวมคะแนนเสียงทั้งประเทศของพรรคการเมืองสาขาหรือพรรคนอมินีแล้ว จะทำให้มีโอกาสได้ ส.ส. ในระบบบัญชีรายชื่อตามมา

และในที่สุดทั้งพรรคการเมืองแม่และพรรคการเมืองสาขา ก็จะได้ ส.ส. ทั้งสองระบบอย่างเป็นกอบเป็นกำ

ส่วนพรรคการเมืองขนาดเล็กกลางและขนาดเล็ก เห็นว่าในระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมนี้มีโอกาสที่จะทำให้พรรคแม้ไม่มีโอกาสจะชนะการเลือกตั้งในระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ก็สามารถจะเก็บคะแนนเพื่อหวัง ส.ส. ในระบบบัญชีรายชื่อเป็นหลัก

ที่สำคัญเมื่อพรรคการเมืองทั้งหลายได้บวกลบคูณหารแล้วว่าระบบการเลือกตั้งเป็นวิธีการหาคะแนนเสียง เพื่อเป็นฐานการคำนวณความเป็น ส.ส. อย่างไร ก็จะหาวิธีการทุกวิถีทาง เพื่อให้แน่นอนว่าจะได้คะแนนมาอย่างไร

เช่น มีกลุ่มเป้าหมายของพรรคชัดเจน และแน่นอนว่า “การซื้อเสียงโดยวิธีการประมูลคะแนนจะเป็นวิธีการที่แยบยลแนบเนียนก็จะเกิดขึ้นทันที” เพราะพรรคการเมืองแต่ละพรรคสามารถประมาณการล่วงหน้าได้ทันทีว่า พรรคของตนเองจะได้คะแนนเท่าใด หรือ รู้ว่า ส.ส. หนึ่งคนควรมีคะแนนเท่าใด และจะต้อง “จ่าย” เท่าไหร่ จึงจะได้คะแนนเสียงเมื่อรวมทั่วประเทศจะได้กี่คน โดยไม่จำเป็นต้องหวัง ส.ส. ในระบบแบ่งเขตเลือกตั้งก็ได้

เมื่อพรรคการเมืองคำนวณรู้ว่า คะแนนเสียงที่จะได้ ส.ส. 1 คน จะต้องทำคะแนนเท่าไหร่ และต้องจ่ายเท่าไหร่ สมมุติว่าหากคาดหวังให้ได้คะแนนเสียงจากครัวเรือนหรือจากชาวบ้านผู้มีสิทธิเลือกตั้ง อาจจะจ่ายหัวละ 500 บาท เพื่อให้ได้คะแนนเสียงสัก 350,000 คะแนน ก็ต้องจ่ายเงินประมาณ 175,000,000 บาท และเมื่อนำคะแนนนี้ไปคำนวณก็จะได้ ส.ส. ในระบบบัญชีรายชื่อประมาณ 4-5 คน ก็ถือว่าคุ้มค่า

และถือว่าใช้เงินน้อยมากสำหรับพรรค การเมืองแบบเจ้าบุญทุ่ม มีเงินหนา เงินมาก หรืออาจจะจ่ายเงินเพิ่มขึ้นไปเป็นลำดับ เพื่อให้ได้คะแนน ส.ส. มากขึ้นก็ย่อมทำได้

ผมเห็นว่า ระบบการเลือกตั้งกับการเมืองไทย ยังคงเป็นธุรกิจการเมืองที่มีเรื่องเงินซื้อเสียงเข้ามาเกี่ยวข้องโดยเฉพาะระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม และเห็นว่าในขณะที่ไม่มีพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเลือกตั้ง จะพบว่ามีการเคลื่อนไหวจากว่าที่ผู้สมัครและ ส.ส. พรรคการเมืองของแต่ละพรรคเพื่อดำเนินการ “ประมูลคะแนนชาวบ้าน” ไว้ล่วงหน้าแล้ว มัดจำหรือจ่ายขาดล่วงหน้า ปล่อยเงินไปยังหัวคะแนน หรือ “ผู้รับประมูลคะแนน” จากชาวบ้านไว้แล้ว

ผมเข้าใจว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะต้องหาวิธีการป้องกัน หรือส่งเสริมให้ชาวบ้านเกิด

การเรียนรู้วิชามารของนักการเมืองประเภทธุรกิจการเมืองว่าจะทำอย่างไร และที่สำคัญจะต้องรู้เท่าทันพรรคการเมืองประเภทเจ้าบุญทุ่ม เงินหนา ซึ่งที่จะทำให้ กกต. อาจจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน

นี่คือโจทย์ของ กกต. อีกบทบาทหนึ่งที่จะพิสูจน์การจัดการเลือกตั้งว่าจะยังมีความบริสุทธิ์ ยุติธรรม โปร่งใส และเห็นว่าจะไปกล่าวโทษ กกต.

ฝ่ายเดียวคงลำบาก

เพราะต้นตอที่มาถือว่าเป็นผลผลิตของรัฐธรรมนูญ ต่อระบบการเลือกตั้ง เป็นปัจจัย

ส่วนหนึ่งที่เป็นต้นทางเอื้อต่อการทุจริตการเลือกตั้งในครั้งนี้

ดร.โกวิทย์ พวงงาม
คณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image