ภาพเก่าเล่าตำนาน การเคลื่อนย้ายครั้งใหญ่ของมนุษย์ คือ ตรุษจีน โดย : พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

สื่อมวลชนระดับโลกเรียกเทศกาลวันหยุดยาวของชาวจีนนี้ว่า “การเคลื่อนย้ายประชากรครั้งใหญ่ที่สุดในโลก”

คาดการณ์กันว่าในปี พ.ศ.2562 ชาวจีนจะเดินทางไปมาหาสู่กัน เยี่ยมบรรพบุรุษ ท่องเที่ยวในช่วงตรุษจีนราว 3 พันล้านคน

เมื่อผู้นำของจีน นำพาประเทศจีนให้ยิ่งใหญ่ เกรียงไกร พญามังกรจีนผงาดขึ้นมายืนแถวหน้าของสังคมโลกในทุกมิติ นักท่องเที่ยวจีนทะลักทลาย ออกตระเวนใช้เงินมหาศาล หว่านซื้อข้าวของ กิน เที่ยว เล่น หาความสำราญไปตามเมืองต่างๆ ของโลก อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของโลกกลับคึกคัก กระชุ่มกระชวย เงินทองไหลมาเทมา

ชนชาติจีนที่อยู่รวมกันเป็น ไชน่าทาวน์ในมหานครทั่วโลก รวมทั้งชาวไทยเชื้อสายจีนที่ “เยาวราช” เป็นปลื้มยิ่งนัก จัดงานเฉลิมฉลองตรุษจีน ตามประเพณีของตนอย่างเอิกเกริกตามไปด้วยทุกปี

Advertisement

กำหนดการของตรุษจีน วันตรุษจีน 2562 หรือตรุษจีน 2019 ตรงกับวันอังคารที่ 5 กุมภาพันธ์ วันไหว้ตรุษจีน วันเที่ยวตรุษจีน และวันจ่าย 2562 ถูกกำหนดเรียบร้อยแล้ว

เกือบทุกชนเผ่าในโลกนี้ ต่างก็มีวิถีชีวิตเป็นของตัวเอง มนุษย์หลายพันปีมาแล้ว สังเกตดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดิน น้ำ ลม ไฟ พยายามหาหมุดหมาย วันสำคัญต่างๆ อันเป็นความหวังที่จะอยู่ดี มีสุข มีกิน มีใช้

วันไหนคือวันที่จะผ่านพ้นความทุกข์ยาก

Advertisement

ชาวจีนแผ่นดินใหญ่ ทุกข์แสนสาหัสที่สุดในช่วงหน้าหนาว ที่ต้องหยุดการเพาะปลูก เก็บเกี่ยว สัตว์เลี้ยงต้องกินอาหารที่กักตุนไว้

หิมะ ปกคลุมพื้นที่ทำกินนานนับเดือน เมื่อพระอาทิตย์เริ่มปรากฏตัวบนท้องฟ้า สาดแสงลงสู่พื้นดินรำไร พืชไร่เริ่มผงกหัวชูชัน หิมะละลาย…

มันคือ ความปีติที่ต้องเฉลิมฉลอง

ตรุษจีน เป็นเทศกาลที่สำคัญที่สุดของจีน เพราะชาวจีนถือว่า วันตรุษจีน คือวันขึ้นปีใหม่ตามปฏิทินจีน เช่นเดียวกับสงกรานต์ วันปีใหม่ของไทย ชาวจีน สำนึกและให้ความสำคัญกับเทศกาลนี้เป็นอย่างยิ่ง มีการเฉลิมฉลองทั่วโลกโดยเฉพาะชุมชนของคนเชื้อสายจีน

หลายภูมิภาคในโลก รวมทั้งประเทศไทย ไม่มีสภาพหนาวเย็นจัดดังกล่าว จึงอาจจะเฉยๆ ไม่รู้สึกแปลกและแตกต่าง โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาวในประเทศไทยในปี พ.ศ.2561 – พ.ศ.2562 เป็นเรื่องที่ “ไม่มีจริง” และเชื่อว่าคงจะไม่ปรากฏให้สัมผัสได้อีกนาน หน้าหนาวในประเทศไทยคงเป็นเพียงตำนานที่เคยเรียน ท่องบ่นว่าประเทศไทยมี 3 ฤดู ผมคิดว่า…น่าจะต้องทบทวนกันใหม่

ไม่หนาว ไม่เย็น แถมยังร้อนและอุดมสมบูรณ์ด้วยฝุ่นพิษ PM 2.5 อีกต่างหาก

ชาวจีนจะอารมณ์ดี เนื่องจากช่วงก่อนเทศกาลตรุษจีนนั้น แผ่นดินจีนปกคลุมไปด้วยหิมะ ไปไหนมาไหนแทบไม่ได้ ต้องกินอาหารที่หมักดองไว้ ชาวจีนจึงกำหนดให้วันแรกของฤดูใบไม้ผลิในแต่ละปีเป็นวันสำคัญที่เรียกว่า “วันตรุษจีน”

ประเพณีและพิธีกรรมต่างๆ นั้นเชื่อมโยงกับอาหารไปจนถึงเสื้อผ้า ทุกสิ่งสรรพต้องเป็นมงคลกับชีวิต อาหารค่ำในช่วงตรุษจีน จะประกอบด้วยอาหารทะเล และอาหารนึ่ง เช่น ขนมจีบ ซึ่งแต่ละอย่างจะมีความหมาย กุ้งจะหมายถึงชีวิตที่รุ่งเรืองและความสุข เป๋าฮื้อแห้ง หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่ดี สลัดปลาสดจะนำมาซึ่งโชคดี จี้ไช่ คือ สาหร่ายดูคล้ายเส้นผม จะนำความร่ำรวยมาให้ และขนมต้ม (Jiaozi) หมายถึงบรรพชนอวยพรให้ลูกหลาน

ความกตัญญู รู้คุณ สำนึก รำลึกถึงบรรพบุรุษ คือ ความประเสริฐสุดของชาวจีนที่ไม่เคยแปรเปลี่ยน

การใส่เสื้อผ้าสีแดง ถือเป็นสีที่เป็นมงคล เป็นการไล่ปีศาจร้ายให้ออกไป สีดำ-ขาวเป็นสิ่งต้องห้าม ซึ่งสีเหล่านี้ถือว่าเป็นสีแห่งการไว้ทุกข์ วันตรุษจีน จะต้องไม่โกรธ ริษยา ต้องมีจิตใจเผื่อแผ่ ทำบุญสร้างกุศล ยิ้มทักทาย เพื่อเป็นสิริมงคลที่ดีสำหรับปีที่กำลังจะมาถึง

ในวันฉลองตรุษจีนจะเตรียมอาหารให้มากเป็นพิเศษ เพื่อญาติพี่น้องและเพื่อนฝูง เผื่อแผ่ไปถึงญาติโยมผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว ครอบครัวชาวจีนจะทานผักที่เรียกว่า ไช่ ผักต่างๆ มีความหมายที่เป็นมงคลในตัวของมัน

เม็ดบัว – มีความหมายถึง การมีลูกหลานที่เป็นชาย

เกาลัด – มีความหมายถึง เงิน

สาหร่ายดำ – คำของมันออกเสียงคล้าย ความร่ำรวย

เต้าหู้หมักที่ทำจากถั่วแห้ง – คำของมันออกเสียงคล้าย เต็มไปด้วยความร่ำรวย และความสุข

หน่อไม้ – การออกเสียงเรียกชื่อหน่อไม้ คล้ายกับคำอวยพรให้ทุกอย่างเต็มไปด้วยความสุข เต้าหู้ที่ทำจากถั่วสดนั้นจะไม่นำมารวมกับอาหารในวันนี้เนื่องจากสีขาวซึ่งเป็นสีไม่เป็นมงคล สำหรับปีใหม่และหมายถึงการไว้ทุกข์

ปลาทั้งตัว – เป็นตัวแทนแห่งการอยู่ร่วมกันและความอุดมสมบรูณ์

ไก่ – สำหรับความเจริญก้าวหน้า ซึ่งไก่นั้นจะต้องยังมีหัว หาง และเท้าอยู่ เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสมบูรณ์

เส้นหมี่ – ไม่ควรตัดเนื่องจากหมายถึงชีวิตที่ยืนยาว

ในทางตอนใต้ของจีน อาหารที่นิยมที่สุดและทานมากที่สุด ได้แก่ ข้าวเหนียวหวานนึ่ง บ๊ะจ่างหวาน ซึ่งถือเป็นอาหารอันโอชะ ส่วนทางเหนือ ได้แก่ หมั่นโถและติ่มซำ เป็นอาหารที่นิยม

ขนมเทียน ขนมเข่ง เป็นส่วนประกอบสำคัญของตรุษจีน

ในยุคกระโน้น…ชาวจีนมีความเชื่อว่า บรรดาเทพเจ้าที่คอยปกปักรักษามนุษย์บนโลก จะต้องขึ้นไปถวายรายงานความดี-ชั่วที่มนุษย์ทุกคนได้กระทำต่อ เง็กเซียนฮ่องเต้ บนสวรรค์

ก่อนที่จะถึงวันตรุษจีนประมาณ 4 วัน บรรดามนุษย์ที่รู้ว่าตนเองประกอบแต่กรรมชั่ว ผู้คนสาปแช่ง จึงคิดทำขนมเข่ง หรือที่ชาวจีนแต้จิ๋วเรียกว่า ขนมเหนียนเกา (แปลว่า ขนมที่ทำมาจากแป้และน้ำตาลทราย) บรรดาเศษมนุษย์เหล่านี้ ก็จะนำขนมเข่งที่ทำขึ้น ไปถวายให้บรรดาเทพเจ้าจีน เพื่อหวังให้ขนมแป้งเหนียวๆ ช่วยปิดปากเทพเจ้าทั้งหลาย จนไม่สามารถอ้าปากรายงานความชั่วของตัวเองให้องค์เง็กเซียนฮ่องเต้ฟัง และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เจ้าขนมเข่งก็กลายเป็นขนมไหว้เจ้าของชาวจีนไปโดยปริยาย…

แต่ประวัติศาสตร์อีกสำนัก 1 แย้งว่า ขนมเข่ง มีความสำคัญในพิธีตรุษจีน ก็เพราะสืบเนื่องมาจากในยุคที่ชาวจีนหมดหนทางทำมาหากินในดินแดนของตัวเอง จนต้องอพยพหนีความยากลำบาก มาทำมาหากินในสยาม ชาวจีนเหล่านี้ต้องการเสบียงที่มีอายุเก็บรักษาได้นาน เอาไว้ประทังชีวิตระหว่างเดินทางแรมเดือนโดยเรือสำเภา และขนมเข่งที่เป็นแป้งกวนกับน้ำตาล ก็ตอบโจทย์ความต้องการนี้ได้ เลยได้กลายมาเป็นอาหารสำคัญสำหรับชาวจีนในยุคแร้นแค้น ต้องอพยพหนีความยากลำบากนั่นเอง

ในช่วงต่อมาที่ชาวจีนในสยาม มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และถึงวันไหว้เจ้า คนจีนเลยถือเอาขนมเข่งที่เคยเป็นเสบียงสำคัญในช่วงยากลำบาก มาเซ่นไหว้เทพเจ้า เพื่อเป็นที่ระลึกถึงวันที่ต้องปากกัดตีนถีบนั่นเอง อีกทั้งขนมเข่งยังมีความหมายสื่อถึงความหวานชื่น ราบรื่น และความอุดมสมบูรณ์อีกด้วย

ตำนาน – เรื่องราวของ ขนมเข่ง จากสำนักนี้ น่ารับฟังนะครับ

ส่วน ขนมเทียน นั้น ก็ถือเป็นขนมไหว้เจ้าอีกชนิดหนึ่ง ก็มีต้นกำเนิดมาจากการดัดแปลงขนมเข่งเช่นกัน โดยใช้แป้งข้าวเหนียวมา
กวน และใส่ไส้ถั่ วบด ผสมกับเครื่องปรุง กลายเป็นไส้เค็ม จากนั้นห่อด้วยใบตองเป็นรูปสามเหลี่ยมเล็กๆ คล้ายทรงเจดีย์ แล้วนำไปนึ่งจนสุก

ทั้งขนมเทียนและขนมเข่ง ต่างก็มีความหมายเป็นมงคล สื่อถึงความหวานชื่น ความราบรื่น และความอุดมสมบูรณ์นั่นเอง

ความหวังอันสูงสุด คือ อั่งเปา

ซองอั่งเปาสีแดง คือ ของขวัญที่ลูก หลาน ลูกน้อง ผู้ใต้บังคับบัญชา เฮฮาสุขใจ เมื่อได้รับ โดยมีธรรมเนียมคือ ผู้ใหญ่ที่มีครอบครัว มีหลักมีฐานแล้ว ทำงานมีรายได้จะมอบซองสีแดง (ที่มีเงินจำนวนหนึ่ง) ให้กับเด็กๆ หรือลูกหลานที่ยังไม่ได้ทำงาน พร้อมกล่าวสวัสดีปีใหม่ ซึ่งสีแดงของอั่งเปานั้นมีความหมายถึงโชคดี และเงินที่ใส่ในซองอั่งเปานั้น มักจะมีจำนวนเป็นเลขนำโชคของจีนนั่นคือเลข 8

ไชน่าทาวน์ 11 ทั่วโลกที่พร้อมใจกันจัดเทศกาลตรุษจีนอย่างเอิกเกริกเสมอมา คือ

1.เมืองฮาวาน่า ประเทศคิวบา เป็นชาวจีนกวางตุ้ง 2.เมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดีย 3.เยาวราช กรุงเทพฯ 4.ไชน่าทาวน์ สิงคโปร์ 5.เมืองอินชอน เกาหลีใต้ 6.เมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา 7.ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา 8.กรุงลอนดอน อังกฤษ 9.ฝรั่งเศส 10.ออสเตรเลีย 11.นิวยอร์ก อเมริกา

“ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้” หมายความว่า “สวัสดีปีใหม่ ขอให้เจริญรุ่งเรือง”…

พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image