ทรู จับมือ คณะวิศวะ จุฬาฯ ปั้น “ทรู แล็บ แอด เอ็นจิเนียริ่ง: 5G แอนด์ อินโนเวทีฟ โซลูชั่นส์ เซ็นเตอร์”

นายวิเชาวน์ รักพงษ์ไพโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยในงานแถลงข่าวความร่วมมือระหว่าง กลุ่มทรู และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งศูนย์ทดสอบ 5G ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า กลุ่มทรู และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันจัดตั้งศูนย์ ทรู แล็บ แอด เอ็นจิเนียริ่ง: 5G แอนด์ อินโนเวทีฟ โซลูชั่นส์ เซ็นเตอร์ สำหรับการใช้ทดสอบระบบ 5G เพื่อพัฒนาให้เกิดองค์ความรู้ของประเทศเกี่ยวกับ 5G ตามแนวทางของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

นายวิเชาวน์ กล่าวว่า ศูนย์ ทรู แล็บ แอด เอ็นจิเนียริ่ง: 5G แอนด์ อินโนเวทีฟ โซลูชั่นส์ เซ็นเตอร์  นี้ จะเป็นพื้นที่หลักในการทดสอบและวิจัยเทคโนโลยี 5G ตลอดจนพัฒนาและสร้างสรรค์รูปแบบการใช้งานต่างๆ (ยูสเคส) ซึ่งจะเปิดให้นิสิต นักศึกษา หน่วยงาน และองค์กรธุรกิจต่างๆ ที่สนใจเข้าใช้งานได้ ทั้งนี้ ศูนย์ดังกล่าวมีพื้นที่กว่า 600 ตร.ม ตั้งอยู่ที่อาคาร 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เน้นการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยพัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรมด้วยเทคโนโลยี 5G ที่จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ ทั้งด้านการศึกษา การแพทย์ การขนส่ง ความปลอดภัย รวมถึงการใช้งานในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ  รวมถึง เป็นพื้นที่จัดแสดงผลงานการพัฒนาและสร้างสรรค์รูปแบบการใช้งานต่างๆ ที่เกิดจากความร่วมมือของจุฬาฯ และกลุ่มทรู

“นอกจากนี้ ศูนย์ ทรู แล็บ แอด เอ็นจิเนียริ่ง: 5G แอนด์ อินโนเวทีฟ โซลูชั่นส์ เซ็นเตอร์  ยังเป็นพื้นที่ในการคิดค้น แลกเปลี่ยน เรียนรู้ ฝึกอบรม และถ่ายทอดประสบการณ์ต่างๆ ในรูปแบบการคิดค้นแนวคิดด้านนวัตกรรมแบบเปิด ซึ่งกลุ่มทรู จะสนับสนุนทั้งทางด้านเทคโนโลยี อุปกรณ์เครื่องมือ และความเชี่ยวชาญของบุคลากร รวมทั้งการสนับสนุนทุนวิจัยให้แก่นักวิจัย และนักศึกษาอีกด้วย” นายวิเชาวน์ กล่าว

นายสุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า 5G จะเข้ามามีบทบาทสำคัญทั้งภาคเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต ฉะนั้น คณะวิศวกรรมศาสตร์ จึงต้องเตรียมความพร้อม ทั้งในด้านบุคลากร และการสร้างงานวิจัยพัฒนาที่เกี่ยวช้องกับการให้บริการ 5G เพื่อสามารถรับประโยชน์จากการใช้งานได้อย่างแท้จริง

Advertisement

“ความร่วมมือกับกลุ่มทรูครั้งนี้ ถือเป็นก้าวที่สำคัญ สำหรับภาคการศึกษา ที่เชื่อว่า จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อคณาจารย์ นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงนิสิตนักศึกษา ที่จะได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง และถือได้ว่า เป็นการพัฒนาต่อยอดความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยอีกด้วย” นายสุพจน์ กล่าว

น.พ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ภารกิจของ กสทช. ในการผลักดันประเทศ ให้มีความพร้อมก้าวเข้าสู่ยุค 5G เทียบเท่ากับสากลนั้น ต้องร่วมมือกับทุกภาคส่วน ซึ่งการจัดตั้งศูนย์ทดสอบ และการสร้างการรับรู้ถึงประโยชน์จากการใช้ 5G เกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน เช่น อุปกรณ์เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (ไอโอที), ระบบการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลบิ๊กดาต้า, ระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะ, ระบบสาธารณสุขทางไกล เป็นต้น ซึ่ง กสทช. เชื่อว่า การลงทุนจัดตั้งศูนย์ทดสอบนี้ จะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยขับเคลื่อน

“การวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยี 5G ของประเทศไทย ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว และนำพาให้ไทยเข้าสู่ 5G ได้ตามที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้คือ ภายในปี 2563 นี้ โดย กสทช. พยายามผลักดันให้เอกชนเกิดบริการที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ รวมถึง สร้างความรู้เรื่อง 5G ให้กับประชาชนเพื่อให้ได้รับประโยชน์จากการประยุกต์ใช้งานต่างๆ” น.พ.ประวิทย์ กล่าว

Advertisement

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image