อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กับความสัมพันธ์ทางด้านจิตใจของคนไทยทั้งชาติ โดย : พลโท ดร.ทวี แจ่มจำรัส

อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมินั้น ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการก่อสร้างอนุสาวรีย์แห่งชาติ และการจำลองพระพุทธรูปสำคัญ พ.ศ.2520 กำหนดให้อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จัดอยู่ในประเภท “อนุสาวรีย์บุคคลสำคัญ” คือสิ่งก่อสร้างที่เป็นเครื่องหมายน้อมนำให้ระลึกถึงวีรกรรม หรือคุณความดีของบุคคลที่ได้ประกอบกรณียกิจ เป็นคุณประโยชน์อย่างยิ่งใหญ่ไว้แก่บ้านเมืองไทย เพื่อเป็นที่รวมพลังใจ ศรัทธา และความนิยมนับถือของประชาชน และเป็นแบบฉบับแก่อนุชนไทย จึงขอย้อนรำลึกถึงเหตุการณ์ในอดีตพอสังเขปได้ว่า ต้นกำเนิดนั้นเกิดจากกรณีพิพาทระหว่างไทยกับอินโดจีน ฝรั่งเศส

ในยุคการล่าอาณานิคมของมหาอำนาจชาติตะวันตก ไทยได้เสียดินแดนให้แก่อังกฤษและฝรั่งเศสที่กำลังล่าอาณานิคมอยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายครั้ง ซึ่งการเจรจาทำสัญญาแต่ละครั้ง ไทยเป็นฝ่ายเสียเปรียบตลอดมานับตั้งแต่ปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 จนถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยไทยต้องยินยอมเสียดินแดนบางส่วนไป เพื่อรักษาเอกราชและดินแดนส่วนใหญ่ของชนชาติไทยไว้

ต่อมาในขณะที่สงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังดำเนินการรบติดพันอยู่ในทวีปยุโรป ไทยกับฝรั่งเศสได้มีการลงนามในสนธิสัญญาไม่รุกรานกัน เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ.2483 แต่สนธิสัญญาดังกล่าวยังไม่มีผลใช้บังคับเนื่องจากยังไม่ได้มีการแลกเปลี่ยนสัตยาบันซึ่งกันและกัน ต่อมาฝรั่งเศสได้ขอให้สนธิสัญญานี้มีผลใช้บังคับ โดยไม่ต้องมีการแลกเปลี่ยนสัตยาบัน เพื่อที่จะรักษาผลประโยชน์ของตนในอาณานิคมอินโดจีน เนื่องจากในทวีปยุโรป ฝรั่งเศสกำลังพ่ายแพ้เยอรมนี และในทวีปเอเชีย ดินแดนส่วนใหญ่กำลังถูกคุกคามจากญี่ปุ่น ซึ่งจะทำให้อาณานิคมอินโดจีนของฝรั่งเศสไม่ปลอดภัยไปด้วย

รัฐบาลไทยภายใต้การนำของ พลตรีหลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้ตอบฝรั่งเศสในการยินดีตกลงปฏิบัติตามสนธิสัญญาถ้าฝรั่งเศสยอมรับข้อเสนอของไทย 3 ประการ คือ

Advertisement

1.ขอให้มีการวางแผนเส้นเขตแดนตามลำน้ำโขง ให้เป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศโดยให้ถือร่องน้ำลึกเป็นเส้นเขตแดน

2.ขอให้ปรับปรุงเส้นเขตแดนให้เป็นไปตามธรรมชาติ คือถือแม่น้ำโขงเป็นเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับอินโดจีน ตั้งแต่ทิศเหนือจรดทิศใต้ จนถึงเขตกัมพูชา โดยให้ฝ่ายไทยได้รับดินแดนทางฝั่งแม่น้ำโขงตรงข้ามกับหลวงพระบาง และตรงข้ามกับปากเซคืนมา

3.ขอให้ฝรั่งเศสรับรองว่า ถ้าไม่ได้ปกครองอินโดจีนแล้ว ฝรั่งเศสจะคืนลาวกับกัมพูชาให้กับไทยเป็นผู้ริเริ่มก่อการวิวาทขึ้นก่อน โดยนำเครื่องบินมาทิ้งระเบิดที่จังหวัดนครพนม เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2483 ไทยจึงจำเป็นต้องป้องกันรักษาอธิปไตย ใช้กำลังทหารโดยจัดเป็นกองทัพบกสนาม กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และตำรวจสนาม เข้าต่อสู้ตามชายแดนด้านอินโดจีน ฝรั่งเศส ใน 5 มกราคม 2484 กองทัพสนามของไทย เริ่มเคลื่อนย้ายกำลังบุกเข้าไปในดินแดน ลาว และเขมร และประสบชัยชนะในเวลาต่อมา

โดยกองทัพบูรพายึดได้ ศรีโสภณ ไพลิน และพระตะบอง กองทัพอีสาน ยึดได้ จำปาศักดิ์ กองพลพายัพยึดได้ ปากลาย หงสา เชียงฮ่อน มีวีรกรรมการรบที่สำคัญที่ลำห้วยยาง ตำบลบ้านพร้าวในเขตเขมร และการรบของกองทัพเรือที่เกาะช้างและเมื่อ 31 มกราคม พ.ศ.2484 ไทยและฝรั่งเศสได้ลงนามในสัญญาพักรบ บนเรือรบนาโตริ ของญี่ปุ่นที่เมืองไซ่ง่อน โดยผลที่ประเทศไทยได้รับจากชัยชนะทำให้ไทยได้ดินแดนที่เสียไปตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กลับคืนมาบางส่วน คือดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงเนื้อที่ประมาณ 79,029 ตารางกิโลเมตร ทำให้เห็นถึงขีดความสามารถในเกียรติภูมิซึ่งประชาชนชาวไทยแสดงความชื่นชมยกย่อง ก่อให้เกิดความภูมิใจในความเป็นชาติไทย ทำให้ความรู้สึกชาตินิยมเกิดขึ้นในหมู่ประชาชน มีความเชื่อมั่นและไว้วางใจในกองทัพไทย ในการป้องกันประเทศและประชาชนให้อยู่รอดปลอดภัย

พลตรีหลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวแก่ทหารที่ไปปฏิบัติราชการรบเมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ.2484 ว่า “ขอจารึกเกียรติประวัติของท่านทั้งหลายลงเป็นอนุสรณ์อันถาวรตรึงตราพื้นแผ่นดินไทยไว้ว่า ท่านเหล่านี้คือผู้ได้กู้เกียรติศักดิ์อันสำคัญมาสู่ชาติไทย อันเป็นปิติภูมิอย่างไม่มีวันลบเลือนไปจากพื้นพิภพนี้”

และพิธีเปิดอนุสาวรีย์ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2485 มี จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับมอบหมาย จากคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล โดยมีพิธีสวนสนามของ ทหารบก เรือ อากาศ ตำรวจสนาม หน่วยโยธาธิการ ยุวชนพลอาสาสมัคร และยุวนารีด้วย

เป็นเวลากว่า 77 ปีแล้ว (พ.ศ.2485-พ.ศ.2562) ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร ตอนต้นของถนนพญาไท บรรจบกับถนนราชวิถี เป็นหลักกิโลเมตรที่ศูนย์ของถนนพหลโยธินที่ยาวที่สุดในประเทศ เป็นจุดนัดพบที่สำคัญของผู้คนที่เข้ามากรุงเทพฯในสมัยโน้น เป็นชุมทางที่สำคัญของรถเมล์โดยสารที่วิ่งวนเวียนผ่านจำนวนมากสาย ในอดีตเป็นที่รวมของก๋วยเตี๋ยวเรืออนุสาวรีย์ชื่อดังจำนวนมากที่อยู่ริมคลอง

ในปัจจุบันมีทางเดินลอยฟ้าและรถไฟลอยฟ้าวิ่งเลียบผ่านทางด้านทิศตะวันออกของตัวอนุสาวรีย์ และสถานที่แห่งนี้ยังเป็น ชุมทางของโรงพยาบาลที่อยู่ไม่ไกลกัน เช่น โรงพยาบาลราชวิถี (โรงพยาบาลหญิงเดิม) โรงพยาบาลเด็ก โรงพยาบาลอายุรศาสตร์เขตร้อน สถาบันโรคผิวหนัง โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ที่ห่างออกไปไม่ไกลนักก็มีโรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลทหารผ่านศึก และโรงพยาบาลสงฆ์

นอกจากนี้ ที่นี่ยังเป็นที่ชุมนุมของตึกสูงที่สร้างขึ้นใหม่โดยมีป้ายอักษรตัววิ่งโฆษณาอยู่บนยอดตึกโดยรอบด้วย ทุกวันนี้มีประชาชนจำนวนมากที่ต้องเดินทางผ่านไปมาตลอดเวลา

ถ้าเปรียบเทียบอายุกับคนในวัย 77 ปี ก็น่าจะเป็นบั้นปลายของชีวิตแล้ว ที่ได้ดูแลรักษาสุขภาพอนามัยของตนเองมาเป็นอย่างดี จนกว่าจะล้มหายตายจากโลกนี้ไป แต่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไม่ใช่ จะต้องเป็นอนุสาวรีย์ที่อยู่คู่ฟ้าเมืองไทยตราบเท่าแผนดินสลาย ให้อนุชนรุ่นหลังได้ระลึกถึงวีรกรรมของอดีตนักรบไทย ที่เสียชีวิตในสมรภูมิ โดยประดับชื่อพร้อมเถ้าธุลีไว้เป็นช่องๆ ภายใต้ฐานอนุสาวรีย์นี้ และมีรายนามจารึกไว้ด้านนอก รวม 807 นาย ประกอบด้วยกรณีพิพาทอินโดจีน ฝรั่งเศส 171 นาย กรณีสงครามมหาเอเชียบูรพา จำนวน 103 นาย กรณีสงครามเกาหลี จำนวน 118 นาย และไม่ปรากฏข้อมูลว่าจากกรณีสงครามใด จำนวน 415 นาย ทั้งรูปทรงและภูมิทัศน์ภายนอกและภายใน ที่ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา จึงสมควรน่าจะถึงเวลาบูรณะ เพื่อปรับปรุงซ่อมแซมขนาดใหญ่เพื่อให้มีความสวยงามสง่า ภูมิฐาน เหมือนกับตอนสร้างเสร็จใหม่ๆ ได้แล้ว

ท่านผู้อ่านคงไม่ทราบว่า อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิและอีกหลายอนุสาวรีย์สำคัญๆ ที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร ความรับผิดชอบในการบูรณะซ่อมแซมขนาดใหญ่ จะอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานใดระหว่างองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.) กรุงเทพมหานคร หรือกรมศิลปากร หน่วยงานใดจะเป็นเจ้าภาพหลักในการดำเนินการ จากที่ผู้เขียนได้ติดตามข่าวทางสื่อมวลชน สิ่งพิมพ์ และสื่อออนไลน์ เป็นข่าวดีที่รัฐบาลชุดนี้ได้ให้ความสนใจ ซึ่งปรากฏในเนื้อข่าว ดังนี้ เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ.2561 ที่กระทรวงกลาโหม พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมาประชุมร่วมกันว่าจะมอบหมายพื้นที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิให้ใครดูแล จะพิจารณาทุกอนุสาวรีย์ไม่ใช่เฉพาะแต่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเท่านั้น เมื่อถามว่าอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไม่ได้อยู่ในความดูแลขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก กระทรวงกลาโหมหรืออย่างไร พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่ใช่ของ อผศ. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมาประชุมร่วมกันก่อน

เมื่อถามว่าเป็นเพราะเรื่องงบประมาณหรือไม่ จึงไม่มีใครรับผิดชอบ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า คิดว่าคงไม่เกี่ยวกับเรื่องงบประมาณ เพราะอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ก็สร้างมานานแล้ว ส่วนงบประมาณบูรณะซ่อมแซมมาจากรัฐบาลทั้งหมด แต่ยังไม่ทราบว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบดูแล เช่น กทม. อผศ. กระทรวงกลาโหม หรือกระทรวงวัฒนธรรม เนื่องจากมีหลายหน่วยงานเกี่ยวข้อง

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง) และประธานสภากรุงเทพมหานคร (ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ) ได้จริงจังกับเรื่องนี้ โดยสั่งจัดประชุมหลายครั้งเพื่อหารือแนวทางการปรับปรุงและพัฒนาอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และอนุสาวรีย์ทหารอาสาสงครามโลก ครั้งที่ 1 (อยู่ทิศเหนือสนามหลวง) ครั้งที่ 3/2561 เมื่อ 10 ตุลาคม 2561 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุม 2 ชั้น 13 อาคารธานีนพรัตน์ เขตดินแดน กทม. โดยมีนายสมพงษ์ เวียงแก้ว รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธาน มีผู้แทนจาก อผศ. และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม โดยสำนักผังเมืองของ กทม.ได้ตรวจสอบพบว่ามีมติคณะรัฐมนตรี เรื่องเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบและดูแลอนุสาวรีย์ต่างๆ ลงวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ.2488 ซึ่งคณะรัฐมนตรีในสมัยนั้นได้มีมติไว้ดังนี้ “การดูแลรักษาความปลอดภัยให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยและตำรวจ ในส่วนความสะอาดและความสวยงามในเขตเทศบาล ได้มอบให้เป็นหน้าที่ของเทศบาล นอกเขตเทศบาลให้เป็นหน้าที่คณะกรรมการจังหวัด สำหรับพิธีเป็นงานของหน่วยงานใด ให้หน่วยราชการนั้นเป็นผู้จัดงานเอง”

ดังนั้น รองปลัด กทม.จึงมอบหมายให้สำนักผังเมืองของ กทม. เป็นหน่วยงานที่ดูแลและบำรุงรักษาอนุสาวรีย์ในกรุงเทพมหานคร เนื่องจากสำนักผังเมืองได้รับมอบภารกิจ ในการบำรุงรักษาและดูแลโบราณสถาน 19 แห่ง จากกรมศิลปากร ตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 รวมทั้งการดำเนินการปรับปรุงอนุสาวรีย์ ในส่วนของการเตรียมการเพื่อรองรับการจัดกิจกรรมวันทหารผ่านศึก ให้หน่วยงานดำเนินการตามหน้าที่ที่รับผิดชอบ ดังนี้ 1)สำนักการโยธา ดูแลเรื่องการตกแต่ง การจัดไฟให้มีความสวยงาม 2)สำนักงานสิ่งแวดล้อม ดูแลเรื่องภูมิทัศน์ การตกแต่งต้นไม้ 3)สำนักงานเขตราชเทวี ดูแลเรื่องการรักษาความสะอาดโดยรอบบริเวณ

ทั้งนี้ การดำเนินการปรับปรุงอนุสาวรีย์ มอบหมายสำนักผังเมือง ให้ดำเนินการออกแบบปรับปรุงพื้นที่และเพิ่มบรรยากาศ โดยสอบถาม อผศ.และกรมศิลปากร เกี่ยวกับรายละเอียดต่างๆ ในการปรับปรุง สำนักผังเมืองจะต้องเป็นผู้ดูแลระยะยาว รวมทั้งนัดหมาย อผศ. และกรมศิลปากร (ช่างสิบหมู่) ให้ทำการลงพื้นที่และสำรวจประเภทวัสดุ เพื่อเป็นข้อมูลในการดำเนินการปรับปรุง ซึ่งการตั้งงบประมาณในการดูแล เป็นงบประมาณที่จัดสรร ให้ดูแลภาพรวมอนุสาวรีย์ทั้งหมดของกรุงเทพมหานคร

การปรับปรุงและบูรณะอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิและอนุสาวรีย์อื่นๆ เป็นงานการบริหารการพัฒนาทางด้านสังคม ที่ริเริ่มในรัฐบาลชุดนี้ ตรงกับ พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560 ใน 2 ด้าน คือ 1.ด้านความมั่นคงในการพัฒนาและเสริมสร้างความจงรักภักดีต่อสถาบันหลักของชาติ เพื่อให้คนในชาติมีจิตสำนึกรักและหวงแหนมุ่งจงรักภักดี พร้อมธำรงรักษาไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ไว้เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวและศูนย์รวมจิตใจหนึ่งเดียวของคนทั้งชาติ ปลูกฝังและสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของสถาบันหลักของชาติ รณรงค์เสริมสร้างความรักและภาคภูมิใจในความเป็นคนไทยและชาติไทย ผ่านทางกลไกต่างๆ รวมถึงการศึกษาประวัติศาสตร์ในเชิงสร้างสรรค์ และ 2.ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ด้วยการสร้างความหลากหลายด้านการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม ในการบริหารจัดการสถานที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์

ในต่างประเทศที่ได้พบเห็น เช่น ประเทศเวียดนามและเกาหลีใต้ รัฐบาลจะส่งเสริมให้นำเด็ก เยาวชน นักศึกษาและประชาชนได้เข้าเยี่ยมชมในสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะวันหยุด หรือปิดภาคการศึกษาอย่างเนืองแน่น เข้าแถวกันยาวมาก เพื่อปลูกฝังและสร้างจิตสำนึกความรักชาติบ้านเมืองของตนเอง ในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่สุสานทหารอาร์ลิงตัน จะมีเปลวไฟลุกจุดติดอยู่ตลอดเวลาที่บริเวณด้านหน้า และตกแต่งสถานที่อย่างสวยงาม มีประชาชนเข้าไปเยี่ยมชมเป็นจำนวนมาก

ในส่วนของอนุสาวรีย์ชัยสมัยภูมิ ได้มีการซ่อมย่อยเมื่อ พ.ศ.2551 โดยสำนักการโยธา กทม. ได้ตกลงว่าจ้างบริษัทเอกชนทำการซ่อมแซม ด้วยวงเงินประมาณ 1.6 ล้านบาท และเมื่อ พ.ศ.2558 ก็ได้ตกลงว่าจ้างบริษัทเอกชนทำการซ่อมแซมด้วย วงเงิน 2.1 ล้านบาท ส่วนในปี พ.ศ.2562 หรือปีต่อไป ก็คงจะได้รับการซ่อมปรับปรุงใหญ่จาก กทม.ซึ่งเป็นเจ้าภาพหลักในอนาคตอย่างแน่นอน และถ้าเป็นไปได้ การสร้างทางลอดเป็นอุโมงค์ใต้ดินให้ประชาชนเข้าเยี่ยมชมได้สะดวก ที่ได้เคยมีการศึกษาไว้บ้างแล้ว ถึงแม้จะต้องลงทุนสูงและมีปัญหาการจราจรติดขัดบ้าง ก็น่าจะได้รับการพิจารณาดำเนินการด้วยความรอบคอบต่อไปเช่นกัน

ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ของทุกปี ซึ่งเป็นวันทหารผ่านศึก องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.) ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยพลเอก ศิริพงษ์ วงศ์ขันติ ผอ.อผศ.ได้จัดงานอย่างสมเกียรติ โดยในช่วงเช้าจัดให้มีพิธีวางพวงมาลาที่อนุสาวรีย์ ในช่วงบ่ายมีพิธีสวนสนามที่ ร.11 รอ.บางเขน เพื่อคารวะดวงวิญญาณและเชิดชูเกียรตินักรบผู้กล้า โดยเชิญผู้แทนส่วนราชการ หน่วยงานภาคเอกชน และทหารผ่านศึกทุกสมรภูมิมาร่วมกันรำลึกถึงคุณงามความดีที่เหล่าบรรพชนได้ต่อสู้เพื่อชาติบ้านเมือง จนกระทั่งต้องพลีชีพเพื่อชาติด้วยความกล้าหาญและด้วยความเสียสละ ทำให้อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์ทางด้านจิตใจของคนไทยทั้งชาติมาตราบเท่าปัจจุบัน

พลโท ดร.ทวี แจ่มจำรัส
ข้าราชการบำนาญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image