เรียนรู้อาชีพ-สร้างโอกาสผู้พิการ ก้าวข้ามความบกพร่องสู่ชีวิตที่ดี

ปัจจุบันสังคมมองว่า “คนพิการ” เป็นภาระ เพราะคนทั่วไปไม่เข้าใจว่าคนพิการมี “ศักยภาพ” ที่ความจริงแล้ว “ความพิการ” เป็นเพียงแค่การบกพร่องอย่างหนึ่งเท่านั้น ยกตัวอย่างคนที่ไม่เก่งภาษาอังกฤษ ก็เป็นคนพิการภาษาอังกฤษ คนที่เก่งภาษาอังกฤษมาก แต่พิการตาบอด ทั้งๆ ที่สิ่งอื่นเหมือนกันหมด ความคิด ความรู้สึก เจ็บปวด รัก ฉะนั้น ควรมองคนพิการแบบเปิดกว้าง เปิดพื้นที่หรือที่เรียกว่า “โอกาส” ที่ไม่ใช่แค่โอกาสของคนพิการ แต่ยังเป็นโอกาสของคนปกติ ได้เรียนรู้ชีวิตคนพิการ ว่าเขาอยู่อย่างไร และมีชีวิตอย่างไร

การสร้างหรือฝึกอาชีพให้กับคนพิการอย่างเหมาะสม ถือเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการให้สามารถพึ่งพาตัวเองได้ และเปลี่ยนคนพิการที่ถูกมองว่าเป็นภาระให้กลายเป็นอีกหนึ่งพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ

ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์

Advertisement

จึงเป็นที่มาของ “ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน” เกิดจากแนวคิด “ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์” ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ มองเห็นแนวทางในการช่วยเหลือคนพิการทั่วประเทศ ที่ส่วนใหญ่อยู่ในชนบท มีฐานะยากจน และไม่มีอาชีพแน่นอน ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถก้าวพ้นความยากจน และเป็นอาชีพที่ทำได้จริงด้วยตนเอง ใช้พื้นที่น้อย ลงทุนต่ำ รายได้ดี ที่สำคัญต้องขายได้ มีรายได้เพียงพอกับการดูแลตนเองและครอบครัว โดยเป็นหลักสูตรที่ออกแบบมาเพื่อ “คนพิการ คนดูแลคนพิการ และครอบครัวคนพิการ” ใช้เวลาอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ 3 เดือน หรือ 100 วัน

ครอบครัวคนพิการต้องมาอาศัยและใช้ชีวิตกินนอนอยู่ภายในศูนย์แห่งนี้ เพื่อให้เกิดการปรับตัว เปลี่ยนวิธีคิด ควบคู่ไปกับการเรียนรู้งานในอาชีพต่างๆ อย่างเป็นระบบ ครบถ้วนทุกขั้นตอน ทั้งการเพาะปลูก การผลิต การบริหารต้นทุนรายรับ-รายจ่าย การแปรรูป การตลาด และการจัดจำหน่าย มุ่งเน้นอาชีพที่สามารถมีรายได้รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน โดยมีอาชีพ 3 ด้านหลักๆ คือการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีด เพาะเห็ดนางฟ้าภูฐาน และการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ซึ่งเป็นอาชีพที่มีรอบการผลิตต่ำ ใช้เวลาเพียง 45 วัน และมีความต้องการของตลาดสูง


“สมบูรณ์ อิ่นนวล” หัวหน้าศูนย์บริการอาชีพอิสระคนพิการและครอบครัวระดับพื้นที่ จ.เชียงใหม่ สายใต้ ซึ่งตั้งอยู่ที่ อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ เผยว่า ไปอบรมตอนนั้นแค่ 5 คน พอกลับมาทดลองทำก็ประสบความสำเร็จทั้งการเลี้ยงจิ้งหรีด ปลูกผัก และเพาะเห็ด จึงขยายผลออกไปเป็น 8 คนในพื้นที่ แต่ในตำบลมีคนพิการกว่า 200 คน ซึ่งคนพิการและผู้ดูแลไม่สะดวกจะเดินทางไปอบรม เพราะเดินทางลำบากและไกล จึงเกิดแนวคิดให้บ้านเป็นแหล่งเรียนรู้ และเป็นสถานที่ฝึกอบรมอาชีพในระดับพื้นที่ โดยได้ตั้งศูนย์แห่งนี้มาประมาณ 6 เดือน เปิดอบรมไปแล้ว 1 รุ่น รองรับผู้พิการได้ครั้งละ 10 คน ทั้งที่มีคนอยากมาอบรมเยอะมาก แต่ศูนย์แห่งนี้มีพื้นที่รับผิดชอบครอบคลุมถึง 6 อำเภอ ที่มีผู้พิการในพื้นที่กว่า 4,000 คน จะเห็นได้ว่ายังมีผู้พิการ ผู้ดูแล และครอบครัวของผู้พิการ รอคอยที่จะได้รับโอกาสในการพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของตนเองอยู่อีกเป็นจำนวนมาก

“สมบูรณ์” บอกด้วยว่า ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการย่อย ไม่ได้มีบทบาทเพียงแค่จัดฝึกอบรม แต่หลักใหญ่ใจความสำคัญของการสร้างศูนย์ย่อยคือการกระจายโอกาสเข้าไปในชุมชน และสร้างให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง สร้างให้คนพิการในพื้นที่สามารถลุกขึ้นมาร่วมกลุ่มกันแล้วพัฒนาตัวเอง โดยมีมูลนิธิเป็นแค่พี่เลี้ยง คอยกำกับดูแลอยู่ห่างๆ ซึ่งสิ่งที่ผู้อบรมจะได้คือ “ความยั่งยืน” ที่จะเกิดขึ้นในชุมชน คาดหวังว่าอยากเห็นชุมชนแต่ละชุมชนเติบโตในบริบทของตัวเอง ความท้าทายของการทำงานของมูลนิธิคือ “จะทำยังไงให้ทุกๆ ชุมชน ทุกๆ บริบทที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเติบโตได้ แล้วมีแนวทางที่ชัดเจน”

 

ด้าน “นิพล กาสา” หรือตาต้า ผู้พิการทางการเคลื่อนไหว ในวัย 32 ปี ฝึกอบรมมาตรา 35 ที่ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการ ต.เมืองนาย อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ บอกว่า ชีวิตก่อนหน้านี้ลำบากมาก เป็นคนพิการไม่มีรายได้ ถูกคนล้อเลียน เป็นภาระของครอบครัวมาโดยตลอด พ่อเสียชีวิต แม่ทำงานไม่ได้เพราะมีโรครุมเร้า ทั้งโรคกระดูกทับเส้น โรคเบาหวาน ความดัน พอมีมูลนิธิเข้ามาจากการชักชวนของ “พิษณุพงศ์ ทรงคำ” ผู้จัดการศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการ อ.แม่ริม ได้เขิญชวนมาอบรมมาตรา 35 อบรม 100 วัน 600 ชั่วโมง โดยมี 3 หลักสูตร คือเพาะเลี้ยงจิ้งหรีด เพาะเห็ดนางฟ้าภูฐาน ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ รวมถึงสอนทางด้านการตลาด อย่างการขายออนไลน์ ทำบัญชีครัวเรือน และอาหารแปรรูป

“เมื่อผ่านการฝึกอบรม ทางมูลนิธิได้สนับสนุนอุปกรณ์และเงินทุน เพื่อให้กลับไปทำที่บ้านเป็นอาชีพ รวมถึงเป็นแนวทางให้คนในหมู่บ้านได้เรียนรู้ จากที่ผมไปอบรมจริง มีความรู้จริง ทำได้จริง ซึ่งที่บ้านมีฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีด โรงเพาะเห็ด ตอนนี้กำลังรองบขยายพื้นที่ต่อ เนื่องจากสถานที่ยังไม่เพียงพอ ปัจจุบันผมประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งทำให้มีรายได้ ดูแลแม่ได้ ผมส่งเงินให้แม่ใช้ทุกๆ เดือน ทำให้ครอบครัวไม่ลำบากเหมือนเดิมอีก ต้องขอขอบคุณทางมูลนิธิที่นำความรู้มาให้ ถ้าไม่ได้มาตรงนี้ผมก็ไม่รู้ว่าชีวิตผมจะเป็นอย่างไร ที่สำคัญต้องขอบคุณศาสตราจารย์วิริยะที่ได้เมตตาคนพิการทุกคนทั้งประเทศ ทำให้ชีวิตคนพิการอย่างผมดีขึ้น มีเงินเก็บ และเงินส่งให้แม่ใช้ทุกดือน ผมคิดอย่างเดียวว่าชีวิตผมจะดีขึ้น และคิดว่าผมต้องทำให้ได้อย่างคนปกติ ที่เขาทำได้ คือผมจะไม่มองตัวเองว่าเป็นคนพิการ” นิพลตบท้าย

ก่อนหน้านี้สังคมมองคนพิการเป็นภาระ กดความเวทนาและน่าสงสารไว้มากเกินไป คนพิการบางรายจะติดกับคำว่า “ก็พิการ” พิการแล้วจะขอ ขอบริจาค ขอนั่น ขอนี่ คุณต้องให้ฉันสิ “ก็ฉันพิการ” ทำให้คนพิการไม่มั่นใจในตัวเอง ไม่สามารถก้าวข้ามความพิการไปได้
ทั้งที่คนพิการเป็นอะไรก็ได้ เป็นครู เป็นแม่ค้า เป็นคนทำอาหารแปรรูป…

เป็นอะไรได้มากกว่า “คนพิการ”

——————————————————————

‘ยิ้มสู้’ผลิตภัณฑ์ฝีมือ’คนพิการ’

เน้นคุณภาพสร้าง’รายได้’ยั่งยืน

—————————————————————–

หลังจากที่มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ได้ดำเนินการสร้างศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน เพื่อให้คนพิการสามารถประกอบอาชีพอิสระ มีรายได้ที่เพียงพอและยั่งยืน โดยผลจากการฝึกอบรมอาชีพคนพิการ ได้ต่อยอดพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์คนพิการ ภายใต้แบรนด์ “Yimsoo”(ยิ้มสู้) ปัจจุบันสินค้าวางจำหน่ายในห้างแม็คโคร เขตจังหวัดภาคเหนือ และวางแผนขยายไปทั่วประเทศ ซึ่งการสนับสนุนสินค้าภายใต้แบรนด์ “Yimsoo” เท่ากับว่าประชาชนคนไทยจะได้มีส่วนในการ “ช่วยเหลือคนพิการ”

 


     “พิษณุพงศ์ ทรงคำ” ผู้จัดการศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอำเภอแม่ริม เผยว่า ที่มาของผลิตภัณฑ์ “Yimsoo” เป็นผลจากการฝึกอบรม เป็นการต่อยอดของมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ เมื่อฝึกอบรมจึงเกิดแนวคิดว่าจะทำอย่างไรให้จัดฝึกอบรมได้อย่างครบวงจร ที่ไม่ได้ช่วยเหลือเพียงให้อาชีพ แต่ต้องดูถึงโอกาสต่อเนื่อง มูลนิธิจึงวางแผนสร้างสินค้าแบรนด์ “Yimsoo” เพื่อรับซื้อผลผลิตของคนพิการและติดต่อประสานงานร่วมกับภาคเอกชน อาทิ ห้างแม็คโคร เซเว่น-อีเลฟเว่น โดยสินค้าที่วางขาย ได้แก่ ไส้อั่วเห็ด ไส้อั่ว 3 สหาย ประกอบด้วย เห็ด หมู และจิ้งหรีด เป็นผลไม้อบแห้ง น้ำพริกจิ้งหรีด น้ำพริกเผาเห็ด แหนมเห็ด และผักไฮโดรโปนิกส์สด ซึ่งขณะนี้ได้นำผักไฮโดรโปนิกส์สดเข้าแม็คโคร สาขาแม่ริม จ.เชียงใหม่ และลำพูน สัปดาห์ละประมาณ 90 กิโลกรัม และวางแผนจะขยายสาขาอื่นๆ อีก


“ถ้าศูนย์ย่อยที่ จ.น่าน แข็งแรง เราจะติดต่อเชื่อมห้างแม็คโครน่านรับผักไฮโดรโปนิกส์จากศูนย์ย่อย เพื่อลดปัญหาโลจิติกส์ ซึ่งศูนย์ย่อยจะต้องทำให้ได้มาตรฐาน เพราะที่ห้างแม็คโครรับซื้อผลผลิตจากศูนย์ ไม่ใช่ว่าเป็นสินค้าคนพิการ แต่คุณภาพสินค้าต้องได้มาตรฐานตามที่กระทรวงสาธาณสุขกำหนดด้วย ตอนนี้ได้สร้างโรงเรือนเพื่อให้ได้มาตรฐาน อย. การที่จะขายสินค้าได้ต้องกระตุ้นให้ครบวงจร เป็นสิ่งที่มูลนิธิทำเพื่อให้ยั่งยืน”
ส่วนในเรื่องตลาดออนไลน์ “พิษณุพงศ์” บอกว่า เป็นตลาดใหญ่ที่ปฏิเสธไม่ได้ ซึ่งการเข้าสู่ตลาดออนไลน์ได้นั้น ไม่ใช่ว่าเพราะเป็นสินค้าคนพิการ ถ้าเราขายจากความสงสาร เราจะขายได้แค่ 1-2 ครั้ง แต่เราต้องมองไกล สินค้าต้องได้คุณภาพและมาตรฐาน รวมถึงต้องมีความแปลกใหม่ และการสร้างกลุ่มผู้บริโภค ซึ่งทางมูลนิธิได้ขอความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยศิลปากรในเรื่องการทำแพคเกจจิ้ง และทางไปรษณีย์ไทยได้ทำแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ให้ ซึ่งไปรษณีย์ได้คัดเลือกสินค้า “Yimsoo” เป็นสินค้าแรกๆ อยู่ในแพลตฟอร์มของเขา

หน้าที่ของศูนย์คือรับซื้อผลผลิตของคนพิการ กำหนดมาตรฐานให้กับลูกฟาร์ม และสร้างโรงงานแปรรูปทำอาหารให้อร่อยเก็บได้นาน ที่อาศัยมหาวิทยาลัยแม่โจ้ คณะวิศวกรรมอาหารมาช่วย ซึ่งคาดว่าภายในปีนี้จะเห็นหน้าตาสินค้าแบรน์ด “Yimsoo” ที่เป็นมาตรฐานระดับที่สามารถขายได้ทั่วประเทศ

มุกริน อ่อนชั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image