กนง.นัดแรก’62 มติ 4:2 เสียง คงดอกเบี้ย 1.75%

เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธปท. ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ครั้งที่ 1/2561 ว่า กนง. มีมติ 4 ต่อ 2 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% ต่อปี โดยมีกรรมการ กนง. 1 ท่าน ลาประชุม โดย กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องตามแรงส่งของอุปสงค์ในประเทศ แม้อุปสงค์ต่างประเทศชะลอลง ตามการส่งออกสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอลงผลของมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ขณะที่การท่องเที่ยวมีแนวโน้มดีขึ้นโดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวจีนที่ฟื้นตัวเร็วกว่าคาด อัตราเงินเฟ้อทั่วไปได้รับแรงกดดันจากราคาพลังงานที่ลดลงและมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวตามรายได้ครัวเรือนทั้งในและนอกภาคเกษตรที่ปรับดีขึ้นและกระจายตัวมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ แต่ยังได้รับแรงกดดันจากหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวตามการย้ายฐานการผลิตมายังไทยและโครงการร่วมลงทุนของรัฐและเอกชนในโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทยอยปรับสูงขึ้นใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้

นายทิตนันทิ์  กล่าวว่า ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบันมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและสอดคล้องกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ สภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูง สถาบันการเงินทยอยปรับอัตราดอกเบี้ยตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายโดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ ส่วนกรรมการ 2 ท่านเห็นว่าเศรษฐกิจยังขยายตัวต่อเนื่องในระดับที่ใกล้เคียงกับศักยภาพ แม้อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับเพิ่มขึ้นอีก 0.25%ภาวะการเงินโดยรวมจะยังอยู่ในระดับผ่อนคลายและสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน และสะสมขีดความสามารถในการด่าเนินนโยบายการเงิน (โพลิซีสเปซ)

“การประชุมรอบนี้ กนง. แต่ละท่านให้น้ำหนักปัจจัยเสี่ยงด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจมากที่สุด เนื่องจากสถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่เคยอยู่ในระดับสูงและลดลงต่อเนื่องจนทรงตัว แต่พบว่าช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ที่ผ่านมา ระดับหนี้ครัวเรือนต่ออัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ(จีดีพี) ปรับสูงขึ้นที่ 77.8% จาก 77.7% ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2561 เป็นผลมาจากสินเชื่อรถยนต์เป็นหลัก ขณะที่ในระยะต่อไปภาระหนี้ครัวเรือนอาจจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหากพิจารณาจากสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ขยายตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามความคืบหน้าของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญและผลต่อเนื่องไปยังการลงทุนภาคเอกชน พัฒนาการของตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย การปรับตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ การขยายสินทรัพย์ของสหกรณ์ออมทรัพย์ การก่อหนี้ของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่อาจประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร และพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นในภาวะดอกเบี้ยต่ำ และสถานการณ์การเมืองและการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งติดตามความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน และแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งอาจส่งผลต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป” นายทิตนันทิ์ กล่าว

เกาะกระแสเศรษฐกิจกับ มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว กดเป็นเพื่อนกันได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image