“นักวิชาการ” ชี้ “กสทช.” เร่งประมูลคลื่นรับ 5G ผิดปกติ หวั่นเกิดความไม่แน่นอน-แข่งขันไม่เต็มที่

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยในงานเอ็นบีทีซี พับบลิค ฟอรัม: ย้ายคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ ใครได้ใครเสียและมีผลกระทบอย่างไรต่อผู้บริโภค ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ณ อาคารหอประชุม กสทช. ว่า กรณีที่ กสทช. จะดำเนินการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ จากกิจการทีวีดิจิทัล เพื่อนำมาจัดสรรให้กับกิจการโทรคมนาคม ในการรองรับ 5G และจะนำเงินที่ได้รับจากการประมูลไปชดเชยให้กับกิจการทีวีดิจิทัล เพื่อให้สามารถอยู่รอดต่อไปได้ ทั้งนี้ ยังมองว่า เป็นเรื่องปกติ และรับได้ หาก กสทช. ต้องการนำคลื่นความถี่ที่ใช้งานไม่เต็มประสิทธิภาพ หรือใช้งานแล้วพบว่า ไม่เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ที่คุ้มค่า อย่างปัจจุบันที่กิจการทีวีดิจิทัลดำเนินอยู่ และขาดทุน นำไปจัดสรรสำหรับกิจการโทรคมนาคม ซึ่งมีผลตอบแทนในเชิงพาณิชย์สูงกว่า

นายสมเกียรติ กล่าวว่า ขณะที่ โดยส่วนตัวเกิดการตั้งข้อสังเกตว่า มีบางเรื่องซึ่งไม่แน่ใจว่า หากดำเนินการตามกระบวนการนั้นแล้ว จะเกิดความถูกต้อง และเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งประเด็นที่มีความสำคัญที่สุดประเด็นหนึ่ง คือ ความพยายามเร่งรัด หรือเร่งดำเนินการโดยเร็ว อย่างที่เคยระบุไว้เมื่อประมาณปลายปี 2561 ว่า จะมีการจัดการประมูลคลื่นความถี่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งจนขณะนี้ก็ทราบชัดแล้วว่า ไม่สามารถดำเนินการได้ แต่อย่างน้อยก็ได้เห็นถึงความพยายามของ กสทช. ที่จะดำเนินการโดยเร็วอย่างยิ่ง และโดยเร็วที่ไม่ใช่ลักษณะปกติ เร็วจนมีความผิดปกติไปหรือไม่ อีกทั้ง เป็นช่วงโค้งสุดท้ายของรัฐบาล และเหมือนว่า จะเป็นช่วงโค้งสุดท้ายของ กสทช. ด้วยหรือไม่ จึงต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วขนาดนี้

นอกจากความรวดเร็วที่มีความผิดปกติแล้ว ยังมีความเร็วเกินไปสำหรับกิจการทีวีดิจิทัล และผู้รับชม ของอย่างนี้ ที่แม้จะดำเนินการในทันที ก็คงไม่สามารถเกิดขึ้นได้โดยเร็ว ต้องอาศัยระยะเวลาในการปรับตัวอย่างน้อย 1-2 ปี หรือแบบหยาบๆ ก็ประมาณ 20 เดือน ทั้งนี้ ในด้านกิจการโทรคมนาคม ซึ่งถูกอ้างว่า จะนำคลื่นความถี่ไปใช้เพื่อรองรับ 5G นั้น น่าจะเร็วไปอย่างมาก อย่างบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ได้มีการระบุไว้อย่างชัดเจนว่า มีความเร็วเกินไป ซึ่งโดยส่วนตัวเห็นด้วยอย่างยิ่ง

สำหรับ 5G นั้น แม้ทางเทคโนโลยีจะทราบว่า มีจุดเด่นหลายข้อ แต่จนแล้วจนรอดก็เป็นที่ทราบว่า ในวงการโทรคมนาคมเอง ก็ยังไม่เจอการประยุกต์ใช้ 5G เพื่อนำไปใช้ประโยชน์แล้วว่ามีผลตอบรับที่ดี หรือที่เรียกกันในวงการว่า ยังไม่มีรูปแบบการใช้งาน (ยูสเคส) ที่ชัดเจน โดยอยู่ระหว่างการพยายามค้นหา ทั้งจากผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคม (เวนเดอร์) และผู้ที่เกี่ยวข้อง ขณะที่ ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) ยังมีความลังเลว่า ควรจะลงทุนใน 5G หรือไม่ หรือพูดง่ายๆ ก็คือ เร็วมากหากจะให้ลงทุนในตอนนี้

Advertisement

“หากจัดการประมูลคลื่นความถี่ในอีก 1-2 เดือนข้างหน้านี้ หรือกลางปีนี้ ตามทิศทางที่ กสทช. ที่ต้องการ คำตอบก็คือ ความไม่แน่นอนจะสูงมาก ที่โอเปอเรเตอร์ที่เข้าเคาะประมูลไม่รู้ว่า บริการนี้จะนำไปทำอะไร แล้วติดตลาด รวมถึงจะมีผู้ใช้งานมากหรือไม่ ซึ่งสิ่งที่ตามมาก็คือ เกิดการแข่งขันกันอย่างไม่เต็มที่” นายสมเกียรติ กล่าว

นายสมเกียรติ กล่าวว่า จากความเดือดร้อนของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ได้รับการช่วยเหลือมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็น่าจะบรรเทาความเดือดร้อนได้มากพอสมควรแล้ว และหากมีการนำคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ มาประมูล และนำเงินไปชดเชยให้อีก คงต้องตั้งคำถามว่า มีความจำเป็น สมควร และมีความเหมาะสมที่ต้องทำขนาดนั้นหรือไม่ ทั้งนี้ จากสภาพตลาดทีวีดิจิทัล ที่มีผู้ประกอบการมากเกินไป จากการประมูลใบอนุญาตเมื่อปี 2556 ซึ่งเป็นปีที่กำไรของช่องโทรทัศน์ และช่องสื่อต่างๆ ในประเทศไทยสูงที่สุด ประมาณ 10,000 ล้านบาท/ปี แต่หลังจากนั้น กำไรก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง และสาเหตุที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากการประมูลเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากการถูกดิจิทัลดิสรัปชั่นด้วย ขณะที่ เมื่อเร็วๆ นี้ กฎหมาย กสทช. เรื่องการอนุญาตให้เปลี่ยนมือใบอนุญาตได้ ผ่านสภานิติบัญญัติแล้ว จึงเชื่อว่า จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนลงได้

งานเอ็นบีทีซี พับบลิค ฟอรัม: ย้ายคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ ใครได้ใครเสียและมีผลกระทบอย่างไรต่อผู้บริโภค

สิ่งที่ กสทช. ควรดำเนินการ คือ 1.จัดทำแผนโรดแมปของ 5G ทั้งหมด ไม่ใช่ทำเป็นส่วนๆ และไม่ใช่ทำแบบเฉพาะกิจเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งการรองรับ 5G นั้น จำเป็นต้องใช้งานทั้งในย่านความถี่ต่ำ ย่านความถี่กลาง และย่านความถี่สูง ทั้งนี้ หาก กสทช. ไม่จัดทำแผนอย่างชัดเจน ในอนาคตการเลือกใช้งานคลื่นความถี่อาจเกิดความขัดแย้งตามมาได้ รวมถึง มีการกำหนดราคาเริ่มต้นการประมูล ทั้งในรอบนี้ และรอบต่อๆ ไป ซึ่งครอบคลุมคลื่นความถี่ทั้งระบบด้วย 2.เตรียมแผนการโยกย้ายคลื่นความถี่ 3.ควรอนุญาตให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่ไม่อยากทำธุรกิจต่อ สามารถออกจากอุตสาหกรรมได้ ซึ่งผู้ประกอบการต้องมีแผนการยุติที่ชัดเจน โดยคาดว่า ขั้นตอนเหล่านี้ใช้เวลาประมาณ 2 ปี น่าจะเสร็จสิ้นได้ และเมื่อถึงปี 2564 น่าจะเป็นเวลาที่เหมาะสมในการจัดการประมูลคลื่นความถี่สำหรับ 5G ซึ่งเชื่อว่า ขณะนั้นคงมีความชัดเจนแล้วว่า จะมีการนำ 5G ไปใช้งานอย่างไร

ประเทศไทย มีการประมูลคลื่นความถี่สำหรับ 3G ล่าช้าเหลือเกิน ส่วน 5G ก็จะเอาไวเหลือเกินจนไม่มีเหตุไม่มีผล ไม่มีตรรกะ เหมือนกับเป็นผลประโยชน์ของใคร อยากจะให้เร็วก็เร็วได้ อยากจะให้ช้าก็ช้าได้ ของอย่างนี้ต้องดูความเหมาะสมของประเทศด้วย 3G แน่นอนว่า ช้าเกินไป ส่วน 5G นั้น ทำตอนนี้เร็วเกินไป ประเทศที่เริ่มประมูลคลื่นความถี่ขณะนี้ คือประเทศที่ผลิตอุปกรณ์ 5G เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และจีน เป็นต้น ซึ่งประเทศไทย ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับอุปกรณ์ต่างๆ เหล่านี้แต่อย่างใด ฉะนั้น รอจนกว่าเห็นยูสเคสที่ชัดเจนก่อน แล้วจึงจัดการประมูล

“หากต้องการให้มีผู้เข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ สำหรับ 5G อย่างที่บอก คือ รอให้เวลามีความชัดเจน เห็นยูสเคสที่ชัดเจน การประมูลก็จะเกิดราคาตามความเหมาะสม กสทช. ไม่ต้องไปวิตกกังวล วิตกจริตเยอะ จนต้องไปทำตัวเป็นธนาคาร ที่มีการปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับผู้ที่จะเข้าร่วมประมูล ขอเพียง กสทช. ทำหน้าที่ของผู้กำกับดูแลที่ควรจะทำอย่างดี เช่น การลดต้นทุนด้านกฎระเบียบต่างๆ มีโรดแมปการประมูลคลื่นความถี่ที่ชัดเจน และทำโครงสร้างพื้นฐานใช้ร่วมกันให้เกิดขึ้นเป็นวงกว้าง ซึ่งหากดำเนินการดังกล่าวได้ กสทช. จะเป็นผู้กำกับดูแลที่ดี และสามารถแก้ไขปัญหาได้ ทั้งนี้ กสทช. ไม่ต้องทำตัวเป็นผู้ถือหุ้นของค่ายมือถือ หรือทีวีดิจิทัล แค่ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีก็วิเศษที่สุดแล้ว ทำหน้าที่พื้นฐานให้ได้ก่อน ไม่ต้องไปทำหน้าที่อื่นที่ไม่ใช่หน้าที่ตัวเอง ไม่ต้องไปยืดการจ่ายค่าใบอนุญาต 4G เมื่อการประมูลผ่านไปแล้ว เจ้าสัวที่ประมูลได้เขามีปัญญาใช้ แต่พอเวลาผ่านไปงอแงหน่อย ก็อย่าไปยอม นอกจากนี้ กสทช. ไม่ควรนำเรื่องไปชงให้ คสช. จะพาให้ คสช. ซวยไปด้วย ฉะนั้น คสช. อย่าไปบ้าจี้ตาม กสทช. ขณะเดียวกัน คสช. ควรจะจัดการ กสทช. ได้แล้ว ชุดนี้อยู่เกินอายุมานานแล้ว ขอพูดชัดๆ อีกครั้งว่า หาก คสช. ไม่ยกเลิก มาตรา 44 ที่ยืดอายุ กสทช. โดยไม่มีกำหนด จะเป็นตราบาปที่ คสช. สร้างไว้ ซึ่งจะเสียหายแก่ประเทศอย่างยิ่ง” นายสมเกียรติ กล่าว

งานเอ็นบีทีซี พับบลิค ฟอรัม: ย้ายคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ ใครได้ใครเสียและมีผลกระทบอย่างไรต่อผู้บริโภค

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ประธานคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และอดีตกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า งานในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อนำเรื่องที่เป็นนโยบายของสาธารณะของ กสทช. เปิดเวทีให้กับภาคส่วนต่างๆ ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมถึงมีข้อเสนอแนะ ต่อหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ มาตรการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทน และหลักเกณฑ์ วิธีการอนุญาต แผนความถี่ ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ สำหรับกิจการโทรคมนาคม ที่อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น ตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2562 – 4 มีนาคม 2562 เป็นหนึ่งในกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ซึ่งก่อนหน้านี้ กสทช. ได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชนไปแล้ว

นางสาวสุภิญญา กล่าวว่า สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) ได้กำหนดให้คลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ นำไปใช้ในกิจการโทรคมนาคม ในปี 2565 เนื่องจากก่อนการนำคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ ไปใช้งาน จำเป็นต้องดำเนินการทางด้านเทคนิคหลายประการ ทั้งนี้ จากกระแสข่าวที่ระบุว่า จะมีการจัดการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ขณะที่บางกระแสข่าวระบุว่า จะมีการจัดการประมูลคลื่นความถี่ในช่วงปลายปีนี้

“หากดูด้านความพร้อมในการนำคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ ไปใช้งาน คาดว่า คงต้องใช้ระยะเวลาอีกประมาณ 2-3 ปี กว่าทั่วโลกจะมีความสอดคล้องด้านการเลือกใช้งานคลื่นความถี่ร่วมกัน นอกจากนี้ ในกรณีคลื่นความถี่ดังกล่าว ยังสร้างความไม่เข้าใจว่า เมื่อนำออกมาประมูลแล้ว จะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคอย่างไรบ้าง เช่น ทีวีจอจะดับหรือไม่, จะต้องมีการปรับจูนคลื่นใหม่หรือไม่, จะเกิดความวุ่นวายเหมือนตอนแจกคูปองดิจิทัลทีวีหรือไม่ รวมถึง การรับชมช่องทีวีต่างๆ ยังจะสามารถรับชมได้เหมือนเดิมหรือไม่ อย่างไรก็ตาม การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในครั้งนี้ จะนำไปสู่การพิจารณาในเชิงนโยบายต่อไป” นางสาวสุภิญญา กล่าว

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image